ที่โรงแรมชุมพรการ์เด้นท์ ถ.ท่าตะเภา ต.ท่าตะเภา อ.เมือง จ.ชุมพร นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผวจ.ชุมพร พร้อมด้วย นายสุธรรม ลิมธนกุลชัย หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค นายศักดิ์อนันต์ รัตนสาครชัย เภสัชกรงานคุ้มครองผู้บริโภค สนง.สาธารณสุข จ.ชุมพร ในฐานะผู้แทน อย.จังหวัดฯ และคณะฯ ได้ร่วมกันสรุปผลการพิสูจน์อาหารเสริมนม จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สุราษฎร์ธานี กรณีตัวอย่างนมโรงเรียน ของโรงเรียนบ้านปากเลข ม.5 ต.พะโต๊ะ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร จำนวน 24 ถุง เพื่อรายงานนำเสนอให้ อธิบดีกรมการปกครอง และ กระทรวงมหาดไทย ทราบ โดยการประชุมเพื่อรวบรวมคำสรุปผลดังกล่าว เป็นไปอย่างเคร่งเครียดนานกว่า 2 ชั่วโมง
จากนั้น นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผวจ.ชุมพร ได้นำผลการพิสูจน์จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สุราษฎร์ธานี แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า จากการที่ได้นำนมตัวอย่างส่งไปตรวจวิเคราะห์เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2552 ที่ผ่านมา ผลการตรวจวิเคราะห์ทางเคมีปรากฏว่า ปริมาณเนยหรือไขมันผ่านเกณฑ์มาตรฐาน แต่ปริมาณเนื้อนมไม่รวมไขมันและปริมาณโปรตีนนมต่ำกว่ามาตรฐานเล็กน้อย (มาตรฐานเนื้อนม ไม่น้อยกว่า 8.25 ตรวจพบในตัวอย่าง 7.55 โปรตีนนม ค่ามาตรฐานไม่น้อยกว่า 2.8 ตรวจพบในตัวอย่าง 2.6) และผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างนมที่โรงงานผลิตนม นำศรีชล เครื่องดื่ม อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร อีกจำนวน 35 ถุง ซึ่งส่งไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2552 พบว่าปริมาณมันเนยหรือไขมันผ่านมาตรฐาน แต่ปริมาณเนื้อนมไม่รวมไขมันและปริมาณโปรตีนนมต่ำกว่ามาตรฐาน (มาตรฐานเนื้อนมไม่น้อยกว่า 8.25 ตรวจพบในตัวอย่าง 7.99 โปรตีนนมค่ามาตรฐานอยู่ที่ 2.8 ตรวจพบในตัวอย่าง 2.7)
นายการัณย์กล่าวต่อว่า จากผลการวิเคราะห์นมโรงเรียนซึ่งไม่ได้มาตรฐาน ได้แก่ เนื้อนมไม่รวมไขมันและโปรตีนนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ อาจเกิดจากคุณภาพของน้ำนมดิบ นมที่มาจากฟาร์มของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ในเรื่องนี้ตนได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดไปตรวจสอบแหล่งที่มาแล้ว คือที่สหกรณ์โคนมอ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่ามีการเลี้ยงและการบริหารจัดการได้มาตรฐานหรือไม่ ส่วนอีกปัญหาหนึ่งก็คือเกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงาน ซึ่งขณะนี้ได้ให้ทาง สนง.สาธารณสุขจังหวัดไปพิจารณาว่าจะดำเนินคดีในข้อหาผลิตอาหารผิดมาตรฐาน ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ซึ่งมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ได้หรือไม่
นายการัณย์กล่าวต่อว่า ในเรื่องนี้ทาง สนง.สาธารณสุขจังหวัดได้แจ้งให้ทราบว่า ได้ดำเนินงานตามแผนเฝ้าระวังคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร ของโรงงานดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2549 ได้ตรวจสอบโรงงานผลิตนม นำศรีชล เครื่องดื่ม อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร พบว่า คุณภาพนมไม่ได้มาตรฐานจุลินทรีย์ จึงถูกสั่งงดผลิต เป็นเวลา 30 ไปแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2551 หลังโรงงานเปิดดำเนินการต่อก็ได้ตรวจพบว่าจุลินทรีย์เกินมาตรฐานอีก จึงถูกเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 5 พันบาท และล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.พ.52 มีการเก็บตัวอย่างอีกครั้ง พบว่ากระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงได้สั่งการให้ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น และจะครบกำหนดเข้าตรวจสอบในวันที่ 4 มี.ค.2552 ที่จะถึงนี้ แต่ก็มาเกิดเรื่องเป็นข่าว และขณะนี้ตนได้สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ได้ทำสัญญากับบริษัทผลิตนมโรงเรียนดังกล่าวให้พิจารณารายละเอียดของสัญญาว่าได้ดำเนินการผิดตามสัญญาหรือไม่ หากพบว่าผิดขอให้พิจารณายกเลิกสัญญาอย่างเร่งด่วน เพราะไม่ต้องการให้เด็กนักเรียนต้องรับกรรม
อย่างไรก็ตาม นายการัณย์กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบสัญญาซื้อขายดังกล่าวปรากกว่า สามารถยกเลิกตามเงื่อนไขของสัญญาการส่งมอบอาหารเสริม (นม) ได้เพียง 2 กรณี คือ 1.กรณีการส่งมอบไม่ตรงตามวันเวลาที่กำหนด และ 2.กรณีไม่ถูกต้องหรือส่งไม่ครบตามจำนวน ส่วนกรณีการส่งมอบนมไม่มีคุณภาพกลับไม่ได้ระบุไว้ในเขื่อนไขสัญญาแต่อย่างใด และเมื่อตนตรวจสอบไปยัง นายก อบต.ที่รับนมจากบริษัทดังกล่าวก็ได้รับแจ้งว่าทางบริษัทฯ ยังไม่เคยทำผิดเขื่อนไขตามสัญญาการส่งมอบที่ระบุไว้ดังกล่าว จึงยังไม่แน่ชัดว่าจะสามารถยกเลิกสัญญาการซื้อขายนมดังกล่าวได้หรือไม่ จึงต้องรอความชัดเจนเรื่องนี้อีกครั้ง
“เรื่องนี้ถือว่าเป็นบทเรียนที่ครั้งต่อไปการจัดซื้อจัดจ้างหรือการซื้อขายอาหารเสริมต่างๆ ให้กับนักเรียนนั้นจะต้องคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าเป็นหลักด้วย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนซึ่งถือเป็นอนาคตของชาตินั้น ดังนั้น ในเขื่อนไขของสัญญาจะต้องระบุไปด้วยเลยว่าจะต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ หากไม่มีคุณภาพ สามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที ไม่ใช่ระบุไว้เพียงการส่งมอบไม่ครบจำนวน หรือไม่ตรงตามเวลาเท่านั้น” ผวจ.ชุมพร กล่าว
นายการัณย์กล่าวอีกว่า ในส่วนโรงงานผลิตนมของบริษัท นำศรีชล เครื่องดื่ม จำกัด ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าใช้บ้านจัดสรรซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยมาดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตนม ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่น่าจะถูกต้องนั้น ขณะนี้ตนได้สั่งการให้ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชุมพร เข้าไปดำเนินการตรวจสอบ และรายงานผลให้ทราบอย่างเร่งด่วนแล้ว