xs
xsm
sm
md
lg

แวะพิพิธภัณฑ์ภูเวียง ชมแหล่งพบไดโนเสาร์แห่งแรกของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน้าพิพิธภัณฑ์ภูเวียงที่มีหัวไดโนเสาร์จำลอง ดึงสายตาของผู้เข้าชมและย้ำการเป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์
มีใครทราบบ้างว่า เราขุดพบ "ไดโนเสาร์" ในเมืองไทยครั้งแรกมานานกว่า 30 ปีแล้ว และหุบเขาใน "ภูเวียง" แห่งเมืองขอนแก่น ก็คือสถานที่แรกที่ยืนยันว่า ในอดีตการแผ่นดินอีสานแห่งนี้เคยเป็นสถานที่โลดแล่นของสัตว์เลื้อยคลายยักษ์ยุคดึกดำบรรพ์

ระหว่างเดินทางไปเยี่ยมชมธุรกิจนวัตกรรมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เมื่อต้นเดือน ก.พ.52 ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์มีโอกาสแวะไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเวียงเก่า จ.ขอนแก่น ทีมงานจึงได้เก็บภาพและข้อมูลมาฝาก

ภาพแรกที่น่าจะดึงดูดสายตานักท่องเที่ยวเมื่อไปถึงพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นภาพของหัวไดโนเสาร์ที่ติดอยู่เหนือป้ายชื่อพิพิธภัณฑ์ เมื่อเดินตามรอยเท้าไดโนเสาร์สู่พิพิธภัณฑ์จะพบกระบะทรายขนาดใหญ่สำหรับให้ผู้เข้าชมได้ทดลองรับบทบาทเป็นนักธรณีผู้ขุดพบไดโนเสาร์ คาดว่ามุมนี้จะดึงความสนใจจากเด็กๆ และเยาวชนได้มาก
เลี้ยวซ้ายสู่ภูเวียง แหล่งค้นพบไดโนเสาร์แห่งแรกของไทย
นิทรรศการของภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ทั้งหมด 8 โซน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวกำเนิดเอกภพ ระบบสุริยะและโลกของเรา หินแร่และซากดึกดำบรรพ์ที่จะไขปริศนาประวัติความเป็นมาของโลก โครงกระดูกไดโนเสาร์ ภาพประวัติการค้นพบและเรื่องราวการวิจัยทางด้านบรรพชีวินวิทยาในเมืองไทย

เอกสารที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้รับจากเจ้าหน้าที่ดูและพิพิธภัณฑ์ระบุว่า กรมทรัพยากรธรณีได้ค้นพบกระดูกขนาดใหญ่ที่กลายเป็นหินครั้งแรกเมื่อปี 2519 บริเวณภูประตูตีหมาทางทิศตะวันของหุบเขาภูเวียงใน จ.ขอนแก่น ระหว่างการสำรวจแร่ยูเรเนียม ซึ่งเป็นการค้นพบที่นำไปสู่การวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยาของไทย โดยกระดูกดังกล่าวเป็นส่วนปลายกระดูกต้นขาของไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่
กระบะทรายสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองสวมบทนักบรรพชีวินวิทยา
ในยุคไดโนเสาร์เมื่อประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว ภูเวียงเป็นที่ราบกว้าง มีสายน้ำไหลผ่าน และมีสิ่งชีวิตจำพวก ปลา หอย เต่าและไดโนเสาร์อาศัยอยู่ สำหรับไดโนเสาร์ที่ค้นพบบริเวณภูเวียงนั้นมีทั้งชนิดกินพืชและกินสัตว์ โดยมีการคนพบ คอมพ์ซอกเนธัส ไดโนเสาร์ขนาดเล็กตัวเท่าแม่ไก่ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดความยาว 15 เมตร ที่ได้รับพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย "สิรินธร" เป็นชื่อไดโนเสาร์

นอกจากนี้ยังมีการค้นพบไดโนเสาร์อื่นๆ อีก ได้แก่ สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส  ซึ่งจัดเป็นบรรพบุรุษของไดโนเสาร์กินเนื้ออย่าง ไทแรนนอซอรัสเร็กซ์ หรือ ทีเร็กซ์ ไดโนเสาร์ที่มีฟันคล้ายจระเข้ สยามโมซอรัส สุธีธรนิ และไดโนเสาร์กินเนื้อ กินรีมิมัส ที่มีความยาว 1-2 เมตร และมีรูปร่างคล้ายนกกระจอกเทศ
ตามรอยเท้าไดโนเสาร์เข้าสู่พิพิธภัณฑ์
เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า พิพิธภัณฑ์ที่ภูเวียงนี้มีความสำคัญในแง่ที่เป็นแหล่งค้นพบโครงกระดูกไดโนสาร์เป็นครั้งแรกในเมืองไทย แต่เมื่อเทียบกับพิพิธภัณฑ์สิรินธรหรือพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุมข้าวที่ จ.กาฬสินธุ์แล้ว พิพิธภัณฑ์ที่ภูเวียงมีประมาณการค้นพบไดโนเสาร์น้อยกว่า และพิพิธภัณฑ์ที่กาฬสินธุ์ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ส่วนที่ภูเวียงได้ทดลองเปิดมาตั้งแต่ปี 2544 และคาดน่าจะได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลังการเปิดตัวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี

สำหรับกลุ่มผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่คือกลุ่มนักเรียนที่เข้าเยี่ยมชมกันเป็นหมู่คณะ ไม่แตกต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้อื่นๆ ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าชมตลอดทั้งปีประมาณ 100,000 คน โดยในจำนวนนั้นเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมเองบ้างในจำนวนประปราย ทั้งนี้สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยพิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 8.30-17.00 น. และหยุดให้บริการทุกวันจันทร์
นิทรรศการแสดงการกำเนิดเอกภพ ระบบสุริยะและโลก
นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับธรณีวิทยา แหล่งเก็บรักษาซากสัตว์ดึดำบรรพ์
ฟอสซิลหอยชนิดต่างๆ ในยุคไดโนเสาร์
อัญมณีเลอค่าล้วนกำเนิดจากชั้นดิน
โครงกระดูกไดโนเสาร์จำลองที่ตั้งตระหง่านในพิพิธภัณฑ์
กระดูกส่วนสะโพกด้านซ้ายติดกับกระดูกเชิงกรานของไดโนเสาร์ สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของ ทแรนนอซอรัสเร็กซ์ หรือ ทีเร็กซ์
กระดูกของไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ ส่วนขาหน้าบนซ้าย-ขวา สะบัก นิ้ว ซี่โครง กระดูกไดโนเสาร์และฟัน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด
แผนที่แสดงการค้นพบไดโนเสาร์ในบริเวณต่างๆ ของภูเวียง
รอยเท้าไดโนเสาร์
ซากไดโนเสาร์กินพืชภูเวียงที่สมบูรณ์ที่สุด คาดว่าถูกฝังกลบอย่างรวดเร็ว
ภาพเปรียบเทียบภาพจินตนาการไดโนเสาร์กินพืชถุกฝังกลบอย่างรวดเร็วกับภาพโครงกระดูกที่พบจริงจัดแสดงข้างๆ โครงกระดูกของไดโนเสาร์ตัวดังกล่าว
โครงกระดูกของไดโนเสาร์กินพืชภูเวียงที่นำมาต่อเป็นโครงสร้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น