ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – สนช.จับมือสภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่ เผย ผลดำเนินงานเครือข่ายนวัตกรรมล้านนาปี 51 หนุนแล้ว 7 โครงการธุรกิจนวัตกรรมมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท และมีเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 23 ล้านบาท พร้อมคาดภายใน 1 ปีจะก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมูลค่าเงินกว่า 100 ล้านบาท
วันนี้ (15 ม.ค.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ แถลงผลการดำเนินงานโครงการเครือข่ายนวัตกรรมล้านนาปี 2551 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธของการสร้างหุ้นส่วนและเครือข่ายนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจในกลุ่ม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน
ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมล้านนานั้นนับเป็นหนึ่งกลุ่มที่มีศักยภาพสูงมาก
ในปี 2551 มีผู้เสนอโครงการนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจำนวน 7 โครงการ มูลค่าการสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 6,003,320 บาท และมีมูลค่าการลงทุนเบื้องต้นรวม 23,726,320 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีกจำนวนหนึ่ง
เครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมล้านนา คาดว่า การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นในระยะเวลา 1 ปี เป็นมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท โดยในปี 2552 สนช.จะยังคงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ในการร่วมรับความเสี่ยงของผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนธุรกิจด้วยนวัตกรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต่อไป ทั้งการสนับสนุนด้านวิชาการ ด้านเงินทุนในรูปแบบของเงินให้เปล่าไม่เกิน 5 ล้านบาท และในรูปแบบการจ่ายดอกเบี้ยแทนผู้ประกอบการในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
ทั้งนี้ ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ดร.ศุภชัย ระบุว่า เพื่อเร่งรัดให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและสร้างธุรกิจนวัตกรรมในภาคการผลิตอย่างเป็นระบบและยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายและภารกิจการดำเนินงานของ สนช.คือ การเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งการริเริ่มสร้างเครือข่ายการพัฒนาโครงการนวัตกรรม นับเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นการพัฒนาขีดความสามารถทางนวัตกรรมในธุรกิจอุตสาหกรรม อันเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาไปสู่การยกระดับนวัตกรรมของประเทศ
ขณะที่ นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากที่มีการตั้งรัฐบาลและมีนายกรัฐมนตรี ทำให้ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและลูกค้าทั้งในและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจมีทางออกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ต่างคาดหวังว่าบรรดามาตรการต่างๆ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องปรับตัวและช่วยเหลือตัวเอง ดังนั้น การพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทั้งทางด้านกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ และการบริการ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และผลิตสินค้าที่มีความแตกต่างจากในท้องตลาดทำให้เกิดตลาดใหม่
สำหรับโครงการนวัตกรรมจากเครือข่ายนวัตกรรมล้านนา ที่ได้รับการสนับสนุนในปี 2551 ที่ผ่านมา จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย โครงการยาเหน็บทวารและยาเม็ดสอดช่องคลอด ที่มีโพรพอลิส เป็นสารออกฤทธิ์ ของบริษัทบีโปรดักส์ จำกัด โครงการเครื่องดื่มฟังก์ชั่นจากสารสกัด longana A จากลำไยแห้ง ของบริษัทรวมดี จำกัด โครงการผลิตเสาวรสพันธุ์สีม่วงในระดับฟาร์มโดยใช้แม่พันธุ์ปลอดโรคไวรัส ของมูลนิธิโครงการหลวง
โครงการน้ำส้มสายชูหมักจากสับปะรดภูแล ของบริษัทภูแลโป่งพระบาท จำกัด โครงการวานิลลา ของมูลนิธิโครงการหลวง โครงการครีมบรรเทาอาการอักเสบจากข้อเสื่อม Longanoid ของบริษัท พรีม่าเฮิร์บ (ประเทศไทย) จำกัด และโครงการตู้อบลมร้อนจากพลังงานชีวมวล ของห้างหุ้นส่วนจำกัดพรหมกังวาน