xs
xsm
sm
md
lg

แนะสูตร "5P" ทำตลาดนวัตกรรมยุคเศรษฐกิจถดถอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางกุลธารินทร์ (ยุวดี) บุญครอง
นักธุรกิจหญิงผู้ก่อตั้ง มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ใช้หลักเปลี่ยนความคิดชีวิตเปลี่ยน พาธุรกิจรอดพ้นภาวะวิกฤติ พร้อมแนะนวัตกรรุ่นใหม่ใช้สูตร 5P พาสินค้านวัตกรรมฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ยกไวน์ฝรั่งเศสเป็นตัวอย่าง เสนอใช้นวัตกรรมผลักดันสินค้าเกษตรไทยพร้อมใส่เรื่องราวบอกเล่าความเป็นมาและคุณภาพที่เหนือกว่า

ในระหว่างการนำเสนอผลงานนวัตกรรม "เมธีส่งเสริมนวัตกรรมและเครือข่ายนวัตกร สนช. 2552" ที่จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 16-17 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมฮอร์สชู พอยท์ จ.ชลบุรี นางกุลธารินทร์ (ยุวดี) บุญครอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย เทเลวิชั่น แอนด์ มีเดีย จำกัด เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายเรื่อง "นวัตกรรม...กับแนวทางทำตลาดในวิกฤติเศรษฐกิจ" โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เข้าร่วมงานพร้อมกับสื่อมวลชนและผู้ประกอบการอีกมากมาย

นางกุลธารินทร์ เล่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ตั้งแต่ร่วมงานกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและแยกตัวออกมาตั้งบริษัทผลิตสื่อโทรทัศน์ในนาม มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ซึ่งเคยประสบกับภาวะวิกฤติหลายต่อหลายครั้งและสามารถแก้ไขได้ จนกระทั่งเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 ทำให้ต้องตัดสินใจขายหุ้นของบริษัทเพื่อให้องค์กรอยู่รอด และตนเองต้องเปลี่ยนสถานภาพจากเจ้าของธุรกิจที่สร้างมากับมือกลายเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายเล็กเท่านั้น

นางกุลธารินทร์ กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ใช่เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องคิดแบบนวัตกรรม คิดแบบใหม่ จึงจะพาธุรกิจฝ่าวิกฤติไปได้ พร้อมแนะนำมีหลัก 5P สำหรับการทำธุรกิจนวัตกรรมในยุคเศรษฐกิจถดถอย ได้แก่ Product, Potencial market, Point in time, Plan และ Promotion

1. Product : ผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญมากในการทำธุรกิจนวัตกรรม ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำกับของเดิมที่มีอยู่แล้ว และที่สำคัญคือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องให้เวลาและความสำคัญในการออกแบบสินค้าหรือบริการของตัวเอง ทำให้มีความโดดเด่นกว่าสินค้าอื่นเมื่อวางตลาดด้วยกัน รวมทั้งการตั้งชื่อของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและติดตลาดได้ไม่ยาก

2. Potencial market : โอกาสทางการตลาด ผู้ประกอบการต้องดูความเป็นไปได้ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุควิกฤติเศรษฐกิจ ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าสินค้านั้นจะสามารถทำส่วนแบ่งทางการตลาดที่คุ้มค่าหรือไม่

3. Point in time : สินค้ามาถูกเวลา ถูกจังหวะ และตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในขณะนั้น โดยนางกุลธารินทร์ได้ยกตัวอย่างนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศขนาดเล็ก พกพาติดตัวไปได้สะดวกทุกที่ ออกแบบให้สำหรับคล้องคอ ของสหรัฐอเมริกาที่ใช้นวัตกรรมของนาซาในการทำอากาสให้บริสุทธิ์ ปราศจากเชื้อโรค ซึ่งผลิตออกมาเหมาะเจาะกับช่วงที่มีการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจพอดี และยังมีนวัตกรรมเครื่องซักผ้าแบบไม่ใช้ผงซักฟอก ที่ออกมารองรับวิธีการดำรงชีวิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทั้งนี้ นางกุลธารินทร์ ได้ยกตัวอย่างของประเทศไทยในการทำธุรกิจนวัตกรรม สร้างรายได้ให้กับประเทศ ควรเน้นที่สินค้าเกษตร อาหาร และสมุนไพร ซึ่งเป็นจุดเด่นของไทย แต่เพิ่มความเป็นนวัตกรรมเข้าไปและทำการตลาดให้สินค้านั้นมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะ หรือหากให้นึกถึงสินค้าเหล่านี้ก็ต้องนึกถึงที่ผลิตจากประเทศไทย ทำนองเดียวกับนึกถึงไวน์ ไวน์ที่ดีที่สุดในโลกต้องเป็นไวน์จากฝรั่งเศส

"ไวน์ฝรั่งเศสเขามีสตอรีเขียนบอกเล่าเรื่องราวว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร ไม่ว่าไวน์ที่ไหนก็สู้ที่ฝรั่งเศสไม่ได้ ทำไมเราไม่ยกข้าวของเราขึ้นมา แล้วเขียนบอกเล่าเรื่องราวว่าข้าวที่ดีที่สุด ที่แพงที่สุด ต้องข้าวที่ประเทศไทย เพราะว่าเรามีดินและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เราปลูกโดยกระบวนการที่ไม่ต้องใช้สารเคมี ถ้าเราทำได้ เราก็สามารถขายได้ราคาดี โดยไม่ต้องลดราคาเพื่อแข่งกับเวียดนาม" นางกุลธารินทร์ กล่าวพร้อมยกตัวอย่างว่าสินค้าของไทยจำพวกผลผลิตทางการเกษตร สมุนไพร น่าจะหยิบมาผลักดันโดยใส่นวัตกรรมเข้าไป แปรรูปให้เป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งจะทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้น และชูจุดขายโดยเขียนบอกเล่าเรื่องราวเพื่อสร้างความแตกต่างและน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค

4. Plan : การวางแผนธุรกิจ โดยนางกุลธารินทร์กล่าวว่า ถ้าคิดแบบนักธุรกิจ คือคิดว่ามีเงินแล้วต้องทำธุรกิจ แต่ถ้าคิดแบบนวัตกร ต้องคิดว่าไม่มีเงินแล้วต้องทำธุรกิจให้ได้ ดังนั้นต้องมีการวางแผนให้ดีทั้งด้านการเงินการบัญชี มีการหาแหล่งเงินทุน ประเมินและวิเคราะห์ทางการเงิน การบริหารจัดการระบบขององค์กร และการวางแผนการตลาด โดยมองหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การวางตำแหน่งของสินค้า และกลยุทธ์ทางการตลาด

5. Promotion การโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า หากผลิตสินค้าดีครบถ้วนทุกกระบวนการ แต่หากไม่มีการประชาสัมพันธ์ก็เข้าไม่ถึงกลุ่มลูกค้า ซึ่งปัจจุบันสามารถประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อได้หลายช่องทาง และที่เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุดก็คือสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะฟรีทีวี แต่ค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูงมาก ผู้ประกอบการอาจเลือกโฆษณาสินค้าผ่านทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีก็ได้ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า แต่ก็เข้าถึงลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

"ผู้ประกอบการที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนในการสร้างสินค้านวัตกรรมยังเอาเงินมาใช้ในด้านการตลาดน้อยมาก ถ้าไม่ลงทุนในด้านโฆษณาเพื่อทำการตลาดแล้ว สินค้าก็มีโอกาสเกิดยาก ในช่วงแรกค่าโฆษณาสินค้าอาจมากเป็น 2 เท่าของต้นทุนสินค้า แต่ถ้าโฆษณาแล้วสินค้าติดตลาดเลยก็คุ้มค่า เช่น กระดาษดับเบิลเอ เป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างแบรนด์สินค้า" นางกุลธารินทร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น