xs
xsm
sm
md
lg

เตือนไทยเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ "ไข้หวัดนก-ไข้หวัดใหญ่" น่าห่วงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.ผศ.นพ.ราม รังสินธุ์
แพทย์พระมงกุฎฯ เตือนระวังโรคอุบัติใหม่ระบาดซ้ำ "ไข้หวัดนก-ไข้หวัดใหญ่" มีโอกาสกลับมามากสุด เตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่อีกหลายโรค ที่แพร่จากสัตว์สู่คน แนะใช้ช่วยกันเฝ้าระวังทุกภาคส่วน เตรียมทำแผนงานเสนอเป็นแนวทางให้รัฐบาล ด้านหมอประเวศบอกทุกคนต้องตื่นตัว พร้อมแนะให้จัดตั้งหน่วยงานกลาง ที่ดูแลประสานงานการเฝ้าระวังทั้งระบบ

พ.อ.ผศ.นพ.ราม รังสินธุ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ทหารและชุมชน วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า นักวิจัยในโครงการระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ กล่าวกับสื่อมวลชนในงานประชุมวิชาการเรื่อง "ระบบการเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่พึงประสงค์ของคนไทย" ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อวันที่ 19 ก.พ.52 ที่ผ่านมาว่า มีแนวโน้มที่โรคอุบัติใหม่อย่างไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่อาจกลับมาอุบัติซ้ำขึ้นในประเทศไทยได้อีก

ท้งนี้ ระบบการเฝ้าระวังโรคของไทย ก็สามารถที่จะตรวจสอบและหยุดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่บางส่วนยังเป็นข้อจำกัด สำหรับโรคอุบัติใหม่ และยังมีอีกหลายโรคอุบัติใหม่ที่แม้ยังไม่ปรากฏในไทย แต่ก็ควรเฝ้าระวังไว้อย่างใกล้ชิด

"โรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส และมักแพร่จากสัตว์มาสู่คน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การเลี้ยงสัตว์ชนิดแปลก และการอพยพย้ายถิ่นฐานของสัตว์ในธรรมชาติ" พ.อ.นพ.ราม กล่าวกับทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์"

เขายังบอกว่าโรคอุบัติใหม่ ที่ไทยต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเคยระบาดในไทยแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ และมีโอกาสกลับมาอุบัติซ้ำได้อีก

นอกจากนี้ ยังมีโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อีกหลายโรค ที่ไทยควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน ซึ่งบางโรคอาจยังไม่เคยมีรายงานในประเทศไทยมาก่อน และบางโรคเป็นโรคที่เคยเกิดขึ้นนานมาแล้ว และกลับมาอุบัติใหม่อีกครั้ง เช่น โรคไข้สมองอักเสบ (Japanese B encephalitis) ในญี่ปุ่น, โรคนิปาห์ไวรัส (Nipa Virus) ในมาเลเซีย, โรคฮันตาไวรัส (Hanta Virus) ในสหรัฐฯ, โรคเวสต์ไนล์ไวรัส (West Nile Virus) ในสหรัฐฯ, โรคทางเดินหายใจอักเสบอย่างเฉียบพลันหรือซาร์ส, โรคไข้กาฬหลังแอ่น, โรคมือเท้าปาก, โรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis), โรคลีชมาเนีย (Leishmania) และโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อ อี. โคไล โอ157 (E. coli O157)

พ.อ.นพ.ราม บอกอีกว่า ขณะนี้โครงการระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ กำลังจัดทำแนวทางการเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการวางนโยบายต่อไป

"เพราะแม้ว่าปัจจุบันระบบการเฝ้าระวังโรคในประเทศไทย มีเครือข่ายและระบบการรายงานโรคตลอด 24 ชั่วโมง สามารถตรวจสอบและหยุดการระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการ ที่มีการทำงานแตกออกไปหลายส่วนและขาดการประสานงานเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง ทำให้ระบบเฝ้าระวังโรคอาจยังไม่รวดเร็วพอที่จะตรวจจับโรคอุบัติใหม่ได้ ซึ่งเรื่องโรคอุบัติใหม่เป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ปัญหาดังกล่าวอาจทำให้เกิดความล่าช้าได้" พ.อ.นพ.รามกล่าว

สำหรับการเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในเบื้องต้น พ.อ.นพ.ราม แนะว่า ต้องให้ความรู้กับประชาชน โรคส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในสัตว์ เมื่อพบว่าสัตว์ป่วยเป็นโรคหรือตายลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ประชาชนต้องรีบแจ้งกับหน่วยงานที่เฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ทันที หรือกรณีที่เกิดขึ้นในคนแล้วแพทย์ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไร แพทย์ก็ต้องมีการเก็บตัวอย่างและสิ่งส่งตรวจไปวิเคราะห์และรายงานหน่วยเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ด้าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรมีการจัดตั้งสำนักงานยุทธศาสตร์ ในการเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยตรง และขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้อยู่ภายใต้หน่วยงานใดๆ ทั้งสิ้น

อีกทั้ง ผู้ที่จะเข้ามาทำงานในส่วนนี้ จะต้องมีความรู้ความสามารถ บริหารงานได้อย่างคล่องตัว และสื่อสารกับสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานกับทุกหน่วยงาน ให้ข้อมูลประชาชนได้ และหากเกิดเหตุร้ายขึ้นก็สามารถหาผู้รับผิดชอบได้

"ปัญหาใหญ่คือการทำงานแยกส่วน แต่ในพื้นที่จริงประชาชนต้องการความเชื่อมโยงถึงกัน ประเทศไทยต้องตื่นตัว ชุมชนต้องตื่นตัวเมื่อมีคนหรือสัตว์เจ็บป่วย การตรวจชันสูตรโรคต้องรวดเร็ว แม่นยำ ต้องมีการสืบสวนทางระบาดวิทยา มีความรู้ในเรื่องอณูชีววิทยา ทุกจังหวัดควรมีนักระบาดวิทยาที่เก่ง และสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้หมด มีมาตรการควบคุม มีนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ" นพ.ประเวศ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ประเวศระบุอีกว่า ทุกขั้นตอนจำเป็นต้องดำเนินการ โดยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญ กับการสร้างคนมีความรู้ความสามารถให้มาก.
ศ.นพ.ประเวศ วะสี
กำลังโหลดความคิดเห็น