xs
xsm
sm
md
lg

“หมอประเวศ” แนะตั้งองค์กรอิสระ รับมือโรคระบาด หวั่นคนตายซ้ำรอยสมัย ร.6

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส
“หมอประเวศ” แนะตั้ง สนง.ประสานงานการควบคุมโรคอุบัติใหม่ เป็นองค์กรอิสระ วางแผนเฝ้ารับมือโรคระบาด ขณะที่ สธ.เผย สถานการณ์โรคชิคุนกุนยา มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ไม่ประมาทเร่งควบคุมยุงลายบ้าน ยุงลายสวนพาหะนำโรค

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ในการประชุมวิชาการ เรื่อง “ระบบการเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่พึงประสงค์ของประเทศไทย”ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ระบบการเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของประเทศไทย” ว่า หากเกิดโรคระบาดขึ้นในประเทศ อาจส่งผลให้กลายเป็นเมืองร้าง คนตายเป็น 10 ล้านคน สัตว์ตายเป็นล้านตัว เป็นภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาล 6 เกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ มีประชาชนตายเป็น 10 ล้านคน จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือการระบาดของโรค

“เสนอให้มีการดึงชุมชนที่มีกว่า 76,000 หมู่บ้าน เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังสัตว์ และคนป่วยร่วมกับ อสม.กว่า 8 แสนคน โดยจะต้องเพิ่มเติมความรู้เรื่องสัตว์ป่วยให้กับประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ การชันสูตรโรคจะต้องรวดเร็ว แม่นยำ ต้องระบุได้ว่าเชื้อที่ระบาดเป็นสายพันธุ์ไหน เพื่อนำมาสู่การควบคุมโรค” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า วิธีพัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรคระบาด ต้องเริ่มจากการก่อตัวอย่างอิสระของคณะผู้มีใจ ความรู้และอุทิศตัว เพื่อนำมาสู่การยกร่างแผนการควบคุมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่แล้ว จึงจัดประชุมโดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ร่วมรับฟังจนเข้าใจ เพราะจำเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายการเมืองต้องเข้ามาร่วมในการขับเคลื่อนแผนจะอาศัยเพียงความรู้และการเคลื่อนไหวของสังคมเท่านั้นไม่ได้ ที่สำคัญ ควรมีการตั้งสำนักงานประสานงานการควบคุมโรคอุบัติใหม่ ที่เป็นหน่วยงานอิสระไม่เป็นราชการ มีฐานะทางกฎหมายและมีงบประมาณของตนเองที่คล่องตัว แต่จะต้องเป็นองค์กรที่ไม่ใหญ่

“ส่วนผู้ที่จะเป็นผู้นำองค์กรต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ทางวิชาการในเรื่องนี้ มีความเข้าใจทั้งระบบ และเป็นนักสื่อสาร โดยหน่วยงานนี้ทำหน้าที่ทำแผนการบริหารงานให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่าใครทำอะไร ตรงไหน อย่างไร เพื่อส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งวิธีการนี้หากเกิดความผิดพลาดที่จุดใดจะสามารถตรวจสอบได้ว่าอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานไหนจะได้มีการแก้ไข” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

อนึ่ง นักวิชาการมีการคาดการณ์ว่า โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่มีแนวโน้มเป็นปัญหาสำคัญของประเทศและจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดมี 10 โรค ได้แก่ โรคซาร์ส โรคไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก โรคไข้สมองอักเสบ (Japanese B encephalitis) โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อนิปาห์ไวรัส (Nipah Virus) โรคฮันนาไวรัส (Hanta Virus) ซึ่งโรคติดต่อจากสัตว์ฟันแทะที่แพร่มาสู่มนุษย์โดยการสัมผัสโดยตรงกับปัสสาวะ อุจจาระหรือน้ำลาย หรืออาจติดโดยการหายใจเอาละอองสิ่งขับถ่าย โรคเวส ไนล์ ไวรัส (West Nile Virus) โรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคมือเท้า ปาก โรคบรูเซลโลซิส หรือโรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) โรคลิชมาเนียซิส (Leishmania) และโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออีโคไล

วันเดียวกัน ที่โรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการเรื่อง การควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุนกุนยา (Chikungunya) ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างว่า โรคชิคุนกุนยายังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน โดยต้องรักษาไปตามอาการ แต่สามารถหายได้เอง และหากเคยเป็นโรคนี้แล้วจะไม่ป่วยซ้ำอีก อาการสำคัญของโรค ได้แก่ มีไข้สูง มีผื่นแดง ปวดบวมตามข้อ พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก บางรายมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะนอนซม ปวดข้อมาก เดินไม่ได้

“โรคไข้ปวดข้อยุงลายนี้เปรียบเสมือน พายุกำลังก่อตัว ถ้าไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดไว้เฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างได้ โรคนี้จะขยายลุกลาม ไปทั่วประเทศ และมีโอกาสพบผู้ป่วยมาก เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออกที่มีพาหะเป็นยุงลายเหมือนกันแตกต่างกันที่โรคไข้เลือดออกเป็นยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรคเป็นส่วนใหญ่ ส่วนโรคชิคุนกุนยามียุงลายสวนเป็นพาหะนำโรคเป็นส่วนใหญ่ และมียุงลายบ้านร่วมเป็นพาหะนำโรคด้วย”นพ.ม.ล.สมชาย กล่าว

นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จากรายงานผู้ป่วย พบว่า โรคนี้ได้กระจายไปหลายอำเภอของจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง แต่ยังไม่มีรายงานโรคว่ากระจายไปยังเขตอื่นๆ ถ้าไม่มีการป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพจะยากแก่การหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคนี้ เนื่องจากยุงลายทั้ง 2 ชนิด ที่กล่าวข้างต้นมีชุกชุมทั่วประเทศไทย ดังนั้น การป้องกันจึงคล้ายกับโรคไข้เลือดออก คือ ต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำลายยุงตัวแก่ และสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมป้องกันโรคชิคุนกุนยา ขณะนี้การควบคุมยุงลายจึงเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันโรค โดยเฉพาะฤดูร้อนจะทำการควบคุมยังได้ดีกว่าฤดูอื่นๆ เพราะแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมีน้อย น้ำท่วมขังในธรรมชาติลดลง จึงสมควรที่จะควบคุมยุงพาหะในช่วงฤดูร้อนนี้

สำหรับสถานการณ์โรคชิคุนกุนยาตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 พบผู้ป่วยในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีผู้ป่วยรวม 5,534 ราย ไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิต มีผู้ปวยสูงสุดในสัปดาห์ที่ 4 (วันที่ 25-31 มกราคม 2552) จำนวน 1,275 ราย ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานสาธารณสุข หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างร่วมมือในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคอย่างเต็มที่ จนทำให้สถานการณ์การระบาดของโรคลดลงตามลำดับ โดยในสัปดาห์ที่ 5 (ระหว่างวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2552) มีผู้ป่วย 886 ราย และในสัปดาห์ที่ 6 (ระหว่างวันที่ 11-17 กุมภาพันธ์ 2552) พบผู้ป่วยเพียง 270 ราย และมีแนวโน้มการระบาดของโรคลดลงในทุกพื้นที่

นายแพทย์ หม่อมหลวง สมชาย กล่าวต่อว่า นอกจากการป้องกันโรคอย่างเข้มข้นในภาคใต้ตอนล่างแล้ว ยังขอให้ภาคอื่นๆ เตรียมตัวป้องกันโรคแต่เนิ่นๆ ถึงแม้จะไม่มีโรคระบาดโดยเร่งกำจัดยุงลายบ้าน และยุงลายสวนช่วงฤดูร้อนนี้ให้ลดน้อยลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันโรคที่ยังมาไม่ถึงและโรคไข้เลือดออก ซึ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น