xs
xsm
sm
md
lg

สงขลาคุมเข้มป้องกันการระบาด “ชิคุนกุนยา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เฝ้าระวังการระบาดของโรค “ชิคุนกุนยา” อย่างใกล้ชิด และได้ทำการฉีดพ่นสารเคมีตามบ้านเรือนประชาชน เพื่อกำจัดยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรค แต่จากการติดตามการแพร่ระบาด ยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ในจังหวัดสงขลา

นายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาได้แจ้งไปยังสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ทุกแห่งให้เฝ้าระวังการระบาดของโรค “ชิคุนกุนยา” อย่างใกล้ชิด และให้ทำการฉีดพ่นสารเคมีตามบ้านเรือนประชาชนเพื่อกำจัดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค “ชิคุนกุนยา”

รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านให้เข้าใจถึงวิธีการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อมิให้โรคชิคุนกุนยาเข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดสงขลา จากการติดตามการแพร่ระบาดของโรค “ชิคุนกุนยา” จังหวัดสงขลายังไม่พบผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้

สำหรับโรคชิคุนกุนยาเป็นโรคติดต่อที่มี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรคคล้ายกับโรคไข้เลือดออก โดยชื่อชิคุนกุนยาเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งคล้ายๆ กับเชื้อไวรัสเดงกี่ ต่างกันตรงที่อาการจะรุนแรงไม่มาก และไม่มีอาการช็อคเหมือนกับไข้เลือดออก

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 วัน หมายถึงว่าถ้าเราได้รับเชื้อ 2-3 วัน ถึงจะเกิดอาการของโรคขึ้นมา ยืนยันได้ว่าโรคชิคุนกุนยาไม่ได้มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตแน่นอน และตลอดหลายสิบปีที่ปรากฏโรคนี้ขึ้นก็ไม่เคยพบผู้ป่วยเสียชีวิตเลยแม้แต่รายเดียว

สำหรับอาการที่สำคัญของโรค จะมีไข้สูง ผื่นแดง ปวดตามข้อ อย่างไรก็ตาม โรคนี้เมื่อใครเป็นแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทาน ไม่เป็นซ้ำอีก ต่างจากโรคไข้เลือดออกที่เป็นแล้วอาจเป็นซ้ำได้ โรคชิคุนกุนยาส่วนใหญ่จะเป็นในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

ฉะนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ อาการปวดข้อในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยหลายคนมีอาการปวดข้อนานมาก แม้สุดท้ายจะหายไปเอง แต่ก็มีโอกาสปวดขึ้นมาอีก คล้ายๆ เป็นโรคเรื้อรัง โรคนี้จะพบมากในฤดูฝน เมื่อประชากรยุงเพิ่มขึ้นและมีการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น พบโรคนี้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น