xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ลงพัทยาเก็บ 1 พันตัวอย่างส่งกรมวิทย์หาเชื้อหวัด 2009 ยันป้องกันไม่ให้ลามท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
สธ.เก็บตัวอย่างเชื้อหวัดทั้งจังหวัดชลบุรี วันเดียว 1,000 ตัวอย่าง ส่งกรมวิทย์ตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 วอน ยันไม่กระทบท่องเที่ยวหากไม่ปิดโรงแรม-จับกุมคนป่วย ด้าน "นพ.มล.สมชาย" เร่งประสานผู้ว่าฯ ตั้งศูนย์ฯ ทุกจังหวัด

วันที่ 10 มิถุนายน นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันพบนักศึกษาไต้หวันป่วยจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยระบุว่าติดเชื้อจากพัทยา จ.ชลบุรี ประเทศไทย ภายหลังจากเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า จากการที่กรมควบคุมโรคลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ได้เก็บตัวอย่างเชื้อจากประชาชนในพื้นที่ที่ทางการไต้หวันรายงานว่าเป็นบริเวณที่นักศึกษาเดินทางไปท่องเที่ยว จำนวน 1,000 ตัวอย่าง ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นำมาตรวจสอบหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบระยะหนึ่งเนื่องจากตัวอย่างมีจำนวนมาก แต่ขอยืนยันว่าจะไม่มีการปิดบังข้อมูลอย่างแน่นอน

นายวิทยากล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจะยังไม่ทำหนังสือชี้แจงไปยังทางการไต้หวัน จนกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการแพร่ระบาดเชื้อในพื้นที่ดังกล่าวจริงหรือไม่ และหากพบว่าเป็นไปตามที่ไต้หวันกล่าวอ้างก็จะดำเนินการควบคุมโรคให้ดีที่สุด ขณะนี้ได้ประสานกับรองปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครที่อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิมากที่สุด เตรียมความพร้อมหากมีการแพร่ระบาดของโรคนี้เป็นจำนวนมากในประเทศไทย อีกทั้ง ประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการในการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคแก่นักเรียนทั่วประเทศด้วย

“คนไทยไม่ต้องตื่นกลัวกับโรคนี้แม้จะมีการแพร่ระบาดในประเทศไทย เพราะโรคนี้ไม่รุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ตามฤดูกาลในประเทศไทย สามารถรักษาหายได้ สธ.เตรียมยาไว้ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับการรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก และยังไม่ถือว่าประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของเชื้อนี้ภายในประเทศ เนื่องจากขณะนี้ ตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศเพียง 1 ราย คือติดจากแม่มายังลูกชายวัย 19 ปีเท่านั้น และขอย้ำอีกครั้งว่าเครื่องเทอร์โมสแกนเนอร์ไม่ใช่เครื่องวิเศษที่จะกันได้ 100% ยังคงมีคนที่ลักลอบแอบเข้ามาทั้งที่มีอาการป่วยเป็นไข้ โดยไม่แจ้ง สธ. ซึ่งหากเป็นเช่นนี้โดยประชาชนไม่ให้ความร่วมมือในการแจ้งผู้ป่วย สธ.ก็ไม่สามารถควบคุมโรคได้ทั้งหมด”นายวิทยากล่าว

นายวิทยากล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ตนได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้ให้ครม.รับทราบแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายืนยันว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่กระทบการท่องเที่ยว ตราบที่ไทยยังไม่ได้ใช้มาตรการการควบคุมโรคที่เข้มงวดเกินไป เช่น การปิดโรงแรมหรือการเข้าจับกุมผู้ป่วย และทวีปเอเชียมีมาตรการที่คุมเข้มโรคที่ดีที่สุด เพราะมีประสบการณ์จากการควบคุมโรคซาร์สและไข้หวัดนก ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาลดระดับมาตรการการเฝ้าระวังโรคนี้ลงแล้ว ไม่มีเครื่องเทอร์โมสแกนเนอร์ที่สนามบินก็ไม่กระทบการท่องเที่ยว

ด้าน นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมกระทรวงมหาดไทยว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 ไม่ให้เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 เป็นต้นมาได้ผลระดับหนึ่ง โดยใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคหลายมาตรการโดยเฉพาะการเฝ้าระวังโรค ณ ด่านป้องกันควบคุมโรคทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2552 สธ.ได้ประกาศพบการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เป็นรายแรกในประเทศไทยโดยผู้ป่วยติดจากผู้ปกครองที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศและเป็นผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้แล้ว นับเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเกิดการแพร่ระบาดในประเทศในวงกว้างถ้าไม่มีการป้องกันควบคุมอย่างเข้มแข็งในแต่ละจังหวัด

นพ.มล.สมชาย กล่าวต่อว่า ดังนั้น ในการประชุมกระทรวงมหาดไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกระทรวงด้วย ซึ่งเป็นการประชุมด้วยระบบวีดีโอ คอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) เพื่อชี้แจงแนวทาง มาตรการการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรค และแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 และโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ โดยมีมาตรการสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคในแต่ละจังหวัดที่สำคัญ คือ เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ ในแต่ละจังหวัดเพื่อการประสาน สั่งการ เตรียมความพร้อมรับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกัน และควบคุมโรค แต่ละจังหวัดให้เน้นป้องกันควบคุมโรคในโรงเรียน โรงงาน และในชุมชน โดยเฉพาะชุมชนในเขตเมือง นอกจากนี้ควรมีการป้องกันการแพร่เชื้อในสถานที่สาธารณะที่แออัดเช่น สถานีขนส่ง โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า และให้ความรู้แก่ประชาชน ได้แก่ผู้ป่วยเป็นไข้หวัดต้องป้องกันโรคไม่ให้ไปติดผู้อื่นโดยใช้หน้ากากอนามัย ประชาชนทั่วไปเน้นกินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน และล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนรับประทานอาหาร และสัมผัสสิ่งของสาธารณะเช่น ราวรถเมล์ เป็นต้น

"ส่วนโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลายนั้น ขณะนี้เริ่มมีผู้ป่วยกระจายไปยังภาคอื่น ๆ นอกจาก 14 จังหวัดภาคใต้ ดังนั้นมาตรการสำคัญในการป้องกันโรคนี้ คือ การสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กำจัดยุงตัวแก่ ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค ในช่วงหน้าฝนนี้ควรจัดกิจกรรมรณรงค์ทำความสะอาดใหญ่ (Big Cleaning Day) สัปดาห์ละครั้งต่อเนื่อง 3 เดือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติท้องถิ่น เพื่อการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชนได้ สำหรับประชาชนควรดูแลสิ่งแวดล้อมโดยทำความสะอาดทั้งในบ้าน และรอบ ๆ บ้านเป็นประจำทุก 7 วัน เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและป้องกันตนเอง โดยนอนในมุ้ง ใสเสื้อผ้าให้มิดชิดเวลาออกทำงานในสวน หรือใช้ยาทากันยุงกัด หากป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แนะนำไม่ให้เดินทางไปที่อื่นในช่วง 5 วันแรกที่ป่วย และทายากันยุงกัดเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้าง"อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น