xs
xsm
sm
md
lg

“วิชาญ” ลงพื้นที่ปราบยุงลายที่มีนบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิชาญ” ลงพื้นที่ปราบยุงลายที่มีนบุรี หลังมีเด็กสาววัย 17 ปี เสียชีวิตจากไข้เลือดออก เผยพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก 598 ราย ย้ำเตือนประชาชน หากมีไข้ ไม่ไอ ให้สงสัยเป็นไข้เลือดออก และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล


วันที่ 4 ส.ค. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ที่มัสยิดอัตตั๊กวา ซอยร่มเกล้า 6 เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมโรค หลังมีรายงานมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิต 1 รายเมื่อเช้ามืดวันที่ 3 สิงหาคม 2551 เป็นหญิงสาว อายุ 17 ปี อยู่ในชุมชนอัตตั๊กวาพัฒนา ซอยร่มเกล้า 6 เขตมีนบุรี โดยเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคได้สอบสวนควบคุมโรคไข้เลือดออกที่บ้านผู้เสียชีวิต ซึ่งมีสมาชิก 4 คน และบ้านที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ซึ่งมีประมาณ 184 หลังคาเรือน 150 ครอบครัว จำนวน 874 คน สภาพชุมชนพบมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมาก มีแหล่งน้ำขังที่ทำให้ยุงลายมาวางไข่ โดยเก็บตัวอย่างเลือดประชาชนในพื้นที่ พ่นหมอกควันกำจัดยุงลายตัวแก่ในบ้านและบริเวณรอบบ้าน แจกทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย และคำแนะนำการป้องกันไข้เลือดออกแก่ประชาชน 500 เล่ม ให้ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้านและนอกบ้านทุก 7 วัน เพื่อไม่ให้ยุงลายเพิ่มจำนวน

จากการตรวจสอบโรคพบว่า หญิงสาวเริ่มมีอาการไข้ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ได้ไปพบแพทย์ที่คลินิก แพทย์ได้ให้ยามากิน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น จนวัน 2 สิงหาคม 2551 อาการทรุดลง อ่อนเพลีย มีอาการช็อค ญาติได้พาไปคลินิกอีก แต่ทางคลินิกเห็นว่าอาการหนักได้ส่งต่อให้โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจและส่งเข้ารักษาในห้องไอซียู แต่อาการไม่ดีขึ้น และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา จากการตรวจของแพทย์พบเลือดออกในช่องปอดเป็นจำนวนมาก ได้เจาะเลือดเพื่อส่งตรวจยืนยันการเสียชีวิต คาดว่าจะทราบผลในสัปดาห์นี้ว่าเสียชีวิตจากไข้เลือดออกหรือไม่ โดยขณะนี้ในชุมชนแห่งนี้ยังพบผู้ป่วยไข้เลือดออกอีก 1 ราย เป็นหญิงอายุ 22 ปี เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรามคำแหง ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2551

นายวิชาญ กล่าวว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกในขณะนี้ยังน่าเป็นห่วง รายงานจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มีผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 - 26 กรกฎาคม 2551 จำนวน 41,307 ราย เสียชีวิต 48 ราย ในเดือนมิถุนายนมีผู้ป่วยสูงที่สุด 12,008 ราย เดือนกรกฎาคมลดลงเหลือ 6,233 ราย ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 50 อยู่ในเขตภาคกลาง สำหรับในเขตกรุงเทพฯ 50 เขต พบไข้เลือดออก 3,763 ราย เสียชีวิต 5 ราย พบมากที่สุดที่เขตประเวศ 159 ราย รองลงมาคือเขตบางกอกน้อย 145 ราย เขตจตุจักร 129 ราย ส่วนที่เขตมีนบุรีพบป่วย 63 ราย ซึ่งในช่วงพฤษภาคมถึงสิงหาคมจะเป็นช่วงโรคระบาดสูงทุกปี กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้ทุกจังหวัดรณรงค์ป้องกันโรคอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครเนื่องจากมีชุมชนหนาแน่น การระบาดมีโอกาสเกิดได้ง่าย ทางกระทรวงสาธารณสุขจะประสานให้ความช่วยเหลือป้องกันควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด

นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกขณะนี้เกิดขึ้นกับคนทุกวัย ในปีนี้พบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อค 598 ราย หรือประมาณร้อยละ 2 ของผู้ป่วย พบในอายุ 10-14 ปี มากที่สุด ตามปกติเมื่อเป็นไข้ทั่วๆ ไข้มักจะสูงในช่วง 2-3 วันแรก จากนั้นไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะมีอาการแจ่มใสขึ้น จึงไม่ไปพบแพทย์ แต่หากป่วยเป็นไข้เลือดออก ซึ่งไข้จะสูงในช่วง 2-3 วันแรก ในระยะที่ไข้ลดลงจะเป็นช่วงที่อันตรายมาก ขอให้ประชาชนสังเกตว่า หากไข้ลดลง ตัวไม่ร้อน แต่ผู้ป่วยยังมีอาการซึม อ่อนเพลีย ปวดท้อง แม้จะรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ ต้องพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากไม่ไปพบแพทย์ภายใน 10-12 ชั่วโมง อาจเกิดอาการช็อค มีเลือดออกในอวัยวะภายใน ตับวาย ไตวาย จนเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ อาการของโรคไข้เลือดออกจะเริ่มด้วยการมีไข้สูง ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หากใครมีอาการเหล่านี้ ขอให้นึกถึงโรคไขเลือดอกไว้ก่อน ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษาอย่างทันท่วงที ปัญหาที่น่าห่วงอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะชาวบ้านที่มีไข้ อ่อนเพลีย กินอาหารไม่ค่อยได้ มักจะขอให้แพทย์ให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด ซึ่งจะเป็นอันตรายได้ เพราะหากได้น้ำมากเกินไป อาจมีภาวะน้ำท่วมปอด ท่วมหัวใจ เป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น ขอให้ผู้ป่วยพยายามกินอาหารเอง หากกินได้น้อยไม่ถึงครึ่งของที่กินตามปกติ ให้กินนม น้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดเกลือแร่ ไม่ให้ดื่มน้ำเปล่า เพราะอาจทำให้ชักจากภาวะแร่ธาตุในร่างกายไม่สมดุลได้
กำลังโหลดความคิดเห็น