xs
xsm
sm
md
lg

รับมือหวัดใหญ่ 2009-ชิคุนฯ สธ.เร่งแจงผู้ว่าฯ เปิดศูนย์ทุกจังหวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์
สธ.ร่วมประชุมมหาดไทย ชี้แจงแนวทางมาตรการการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009 และโรคชิคุนกุนยา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ พร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการ ทุกจังหวัด ประสาน สั่งการ เตรียมความรับมือ หวังป้องกันไม่ให้โรคระบาดในวงกว้าง

วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมกระทรวงมหาดไทย นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมกระทรวงมหาดไทยว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ไม่ให้เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 เป็นต้นมาได้ผลระดับหนึ่ง โดยใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคหลายมาตรการโดยเฉพาะการเฝ้าระวังโรค ณ ด่านป้องกันควบคุมโรคทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2552 สธ.ได้ประกาศพบการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 เป็นรายแรกในประเทศไทยโดยผู้ป่วยติดจากผู้ปกครองที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศและเป็นผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้แล้ว นับเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเกิดการแพร่ระบาดในประเทศในวงกว้างถ้าไม่มีการป้องกันควบคุมอย่างเข้มแข็งในแต่ละจังหวัด

นพ.มล.สมชาย กล่าวต่อว่า ดังนั้น ในการประชุมกระทรวงมหาดไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกระทรวงด้วย ซึ่งเป็นการประชุมด้วยระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) เพื่อชี้แจงแนวทาง มาตรการการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรค และแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 และโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ โดยมีมาตรการสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคในแต่ละจังหวัดที่สำคัญ คือ เปิดศูนย์ปฏิบัติการในแต่ละจังหวัดเพื่อการประสาน สั่งการ เตรียมความพร้อมรับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกัน และควบคุมโรค แต่ละจังหวัดให้เน้นป้องกันควบคุมโรคในโรงเรียน โรงงาน และในชุมชน โดยเฉพาะชุมชนในเขตเมือง นอกจากนี้ ควรมีการป้องกันการแพร่เชื้อในสถานที่สาธารณะที่แออัดเช่น สถานีขนส่ง โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า และให้ความรู้แก่ประชาชน ได้แก่ผู้ป่วยเป็นไข้หวัดต้องป้องกันโรคไม่ให้ไปติดผู้อื่นโดยใช้หน้ากากอนามัย ประชาชนทั่วไปเน้นกินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน และล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนรับประทานอาหาร และสัมผัสสิ่งของสาธารณะ เช่น ราวรถเมล์ เป็นต้น

“ส่วนโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลายนั้น ขณะนี้เริ่มมีผู้ป่วยกระจายไปยังภาคอื่นๆ นอกจาก 14 จังหวัดภาคใต้ ดังนั้น มาตรการสำคัญในการป้องกันโรคนี้ คือ การสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กำจัดยุงตัวแก่ ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค ในช่วงหน้าฝนนี้ควรจัดกิจกรรมรณรงค์ทำความสะอาดใหญ่ (Big Cleaning Day) สัปดาห์ละครั้งต่อเนื่อง 3 เดือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติท้องถิ่น เพื่อการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชนได้ สำหรับประชาชนควรดูแลสิ่งแวดล้อมโดยทำความสะอาดทั้งในบ้าน และรอบ ๆ บ้านเป็นประจำทุก 7 วัน เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและป้องกันตนเอง โดยนอนในมุ้ง ใสเสื้อผ้าให้มิดชิดเวลาออกทำงานในสวน หรือใช้ยาทากันยุงกัด หากป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แนะนำไม่ให้เดินทางไปที่อื่นในช่วง 5 วันแรกที่ป่วย และทายากันยุงกัดเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้าง” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น