xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมควบคุมโรคย้ำไม่เคยปกปิดข้อมูล “ชิคุนกุนยา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำ ไม่เคยปกปิดข้อมูลการระบาดโรคชิคุนกุนยา ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ แจงสาเหตุที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก เนื่องจากยังไม่สามารถควบคุมยุงป่าในพื้นที่ได้ พร้อมสั่งฉีดพ่นหมอกควันติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน เตรียมประชุมควบคุมการระบาดของโรคร่วมกับมาเลเซียปลายเดือนนี้ เตรียมแถลงผลการควบคุมโรคจันทร์นี้ (9 มี.ค.) และเสนอข้อมูลให้ รมว.สธ.ใช้ชี้แจงฝ่ายค้าน
นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้ (7มี.ค.) ได้ลงพื้นที่ควบคุมโรคชิคุนกุนยาในพื้นที่ 4 จังหวัดที่มีการระบาด อาทิ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู่ป่วย 510 คน ส่วนยอดจำนวนผู้ป่วยสะสมตั้งแต่เดือนกันยายน 2551-ปัจจุบัน มีประมาณ 9,000 คนแล้ว ยืนยันที่ผ่านไม่เคยปกปิดข้อมูลการป่วยของประชาชนในพื้นที่ และการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว ส่วนสาเหตุที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นบริเวณติดกับพื้นป่าทำให้มียุงจำนวนมาก ขณะนี้ได้สั่งให้มีการฉีดพ่นหมอกควันติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว และฉีดพ่นต่อเนื่องทุกๆ สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณยุงเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาและในสิ้นเดือนมีนาคมนี้เตรียมประชุมป้องกันการรระบาดของโรคร่วมกับมาเลเซีย เนื่องจากพบว่าพื้นที่การระบาดมีความเชื่อมโยงระหว่างพรมแดน

นพ.มล.สมชาย กล่าวว่า กรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมนำการระบาดของโรคชิคุนกุนยามาอภิปรายนั้น ตนได้เตรียมนำข้อมูลการดำเนินงานในพื้นที่มอบให้กับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงเรื่องการควบคุมโรคให้กับคณะกรรมาธิการสาธารณสุข 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ในขณะนั้นก็มี ส.ส.ภาคอีสานที่เป็นผู้ที่จะดำเนินการอภิปรายรับฟังอยู่ด้วย แต่มิได้มีการซักถามเหมือนเช่นคนอื่นๆ และยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว เนื่องจากไม่มีความรุนแรงเหมือนไข้เลือดออก มีเพียงอาการไข้ และปวดข้อ ซึ่งรักษาตามอาการ ร่างกายก็จะกลับสู่สภาวะปกติ และในวันที่ 9 มีนาคม เวลา 13.00 น.เตรียมแถลงข่าวชี้แจงการควบคุมโรคชิคุนกุนยาในพื้นที่ ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

“เรื่องดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการทำงานควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขหรือทำให้เจ้าหน้าที่ขาดขวัญกำลังใจทั้งที่ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากทุกคนได้ลงพื้นที่และทำงานมาโดยตลอด และต้องยอมรับว่าการกำจัดยุงในพื้นที่ติดชายป่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แม้แต่มาเลเซียก็มีปัญหาไม่แตกต่างกับไทย” นพ.มล.สมชาย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น