xs
xsm
sm
md
lg

แค่ 2 เดือน “ชิคุนกุนยา” ทำคนป่วยกว่า 9 พัน กรมควบคุมโรคยันแนวโน้มลดลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กรมควบคุมโรค เผยแนวโน้มโรคชิคุนกุนยาระบาดลดลง มั่นใจคุมอยู่ ระบาดในวงแคบเฉพาะ 4 จังหวัด ภาคใต้ตอนล่าง 2 เดือนแรก ป่วยแล้วกว่า 9 พันคน ระบุยังไม่มีผู้เสียชีวิต รับมือสร้างแนวกันชนป้องการระบาดจากฝั่งอ่าวไทยจดชายแดนไทย-มาเลเซีย พร้อมร่วมมือกับประเทศมาเลเซียในการป้องกันโรคข้ามชายแดน


วันที่ 9 มีนาคม ที่ศูนย์ปฏิบัติตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรมควบคุมโรค นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคชิคุนกุนยา หรือชื่อภาษาไทยว่า โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือที่ชาวบ้านทางภาคใต้เรียกว่า โรคญี่ปุ่นบ้าง, โรคคุนย่าบ้างตามแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ โรคชิคุนกุนยา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดข้อ ที่พบบ่อยคือ ข้อมือ ข้อนิ้ว และข้อเท้า มีผื่นตามบริเวณตัว และตามแขนขา บริเวณแผ่นหลังจะเห็นชัดเจนที่สุด ส่วนใหญ่ไข้ และผื่นจะหายภายใน 3 วัน แต่อาการปวดข้อยังคงอยู่นานหลายสัปดาห์ การป้องกันที่ดีที่สุดคือไม่ให้ยุงกัด และการกำจัดยุง และลูกน้ำยุงลาย

นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคชิคุนกุนยา ใน พ.ศ.2551 ตั้งแต่ วันที่ 8 สิงหาคม-31 ธันวาคม พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 2,233 ราย เป็นผู้ป่วยในจังหวัดนราธิวาส สงขลา ปัตตานี และยะลา รวม 2,231 ราย และนนทบุรี 2 ราย ปี พ.ศ. 2552 ส่วนวันที่ 1 มกราคม-3 มีนาคม พบผู้ป่วย 9,236 ราย กระจายในทุกกลุ่มอายุ โดยต่ำสุดอายุ 1 เดือน และสูงสุดอายุ 103 ปี เฉลี่ยอายุ 37 ปี ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กระจายใน 11 จังหวัดดังนี้ จังหวัดนราธิวาส 3,146 ราย สงขลา 2,709 ราย ปัตตานี 1,179 ราย ยะลา 231 ราย กทม. 2 ราย นนทบุรี 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ศรีสะเกษ 1 ราย กระบี่ 1 ราย ตรัง 1 ราย และจังหวัดนครศรีธรรมราช 6 ราย พบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนมากราคม และ เดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีผู้ป่วยลดลง สถานการณ์โดยรวมมีแนวโน้มลดลง

“โรคชิคุนกุนยาได้หมดไปจากประเทศไทยนานเกือบ 15 ปีแล้ว แต่ได้หวนกลับมาระบาดอีกครั้งเมื่อปลายปี 2551 ซึ่งขณะนี้ สธ.ได้ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการเร่งรัดป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ไม่ให้โรคแพร่กระจายออกนอกพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยมีมาตรการหลักคือ การจัดยุงตัวเต็มวัย ลูกน้ำ และ การให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ในการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด และไปรับการรักษาเมื่อเริ่มมีอาการ ได้แก่ เป็นไข้ ปวดข้อ มีผื่น โดยเน้นให้อาสาสมัครสาธารณสุขเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนดังกล่าว”อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้สนับสนุนงบประมาณเบื้องต้น 5 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสารเคมี ทรายกำจัดลูกน้ำ และยาทากันยุง และได้เน้นการทำแนวกันชนในพื้นที่อำเภอประชิดกับพื้นที่ระบาด จากฝั่งอ่าวไทยจดชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยระดมทีมงานและเครื่องพ่นสารเคมีจากหน่วยงานทั่วประเทศมาช่วยดำเนินการร่วมกับชุมชนในการเฝ้าระวัง และควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และยุงพาหะอย่างจริงจัง นอกจากนี้ได้มีความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียในการควบคุมป้องกันโรคข้ามชายแดนไทย-มาเลเซียด้วย

สำหรับโรคนี้เกิดขึ้นในทวีปอาฟริกา สำหรับประเทศไทยพบครั้งแรก และเป็นครั้งแรกของทวีปเอเชียด้วย เมื่อ พ.ศ. 2501 และมีการระบาดในประเทศไทย 6 ครั้ง ใน พ.ศ.2531 ที่จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ.2534 ที่จังหวัดขอนแก่น และ พ.ศ.2538 ที่จังหวัดปราจีนบุรี และมีการระบาดอีก 3 ครั้งที่จังหวัดเลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย จากนั้นไม่มีการระบาดอีกเลยเกือบ 15 ปี ต่อมาใน พ.ศ.2551 เดือนสิงหาคมพบผู้ป่วยที่จังหวัดนราธิวาส คาดว่าติดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และเริ่มมีการระบาดในเดือนตุลาคม 2551 โดยระบาดที่จังหวัดนราธิวาส และได้กระจายมายังจังหวัดปัตตานี ยะลา และรุกมาจังหวัดสงขลา ขณะนี้มีการแพร่ระบาดเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา

การดำเนินงานที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการดำเนินการเพื่อควบคุมการระบาดของโรคชิคุนกุนยา ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้อธิบดีกรมควบคุมโรคมาตรวจเยี่ยมร่วมวางแผน และมอบนโยบายในการควบคุมการระบาดของโรคชิคุนกุนยาในพื้นที่ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส, ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน, สาธารณสุขอำเภอ, สถานีอนามัยในพื้นที่ร่วมการวางแผนการควบคุมการระบาดของโรคชิคุนกุนยา

2. วันที่ 9 ธันวาคม 2551 กรมควบคุมโรคจัดการประชุม และมอบนโยบายในการอบรมแพทย์ และทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรค (SRRT) ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ณ โรงแรมลีการ์เด้น พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

3. วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 กรมควบคุมโรค แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เป็นคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในการควบคุมโรค และตอบโต้โรคชิคุนกุนยาระดับประเทศ

4. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 กรมควบคุมโรคเชิญนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และสาธารณสุขอำเภอในพื้นที่ 70 คน ร่วมปรึกษาหารือ ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เพื่อหาแนวทางและวางมาตรการในการควบคุมการระบาดของโรคชิคุนกุนยาในพื้นที่

5. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 กรมควบคุมโรคจัดการประชุม และมอบนโยบายการควบคุมโรคชิคุนกุนยา พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในการประชุม “การควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง” ณ โรงแรมเจบี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นบุคลากรจากหน่วยงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล อาสาสมัครสาธารณสุข รวมทั้งสิ้น 290 คน

6. วันที่ 7 มีนาคม 2552 กรมควบคุมโรคร่วมกับจังหวัดสงขลา ดำเนินการควบคุมป้องกันการระบาดของโรคชิคุนกุนยาในพื้นที่แนวกันชน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ผู้เข้าร่วมดำเนินการประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ และสถานีอนามัยในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุข ประชาชนทั่วไป และผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 120 คน เป็นผู้ร่วมดำเนินการ

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้มีการรณรงค์เพื่อควบคุมโรคไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยา ในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยจะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นประธานพิธีเปิด และเป็นผู้ร่วมรณรงค์เร็วๆ นี้ และต้นเดือนเมษายน 2552 จะมีการหารือระหว่างประเทศไทย-มาเลเซียในการป้องกันและควบคุมโรคชิคุนกุนยาร่วมกัน ณ อำเภอเบตง จังหวัดนราธิวาส
กำลังโหลดความคิดเห็น