ตรวจพบร่องรอยการดื่มกินช็อคโกแลตที่เก่าแก่ที่สุด ในเครื่องปั้นดินเผาที่นิวเม็กซิโก เชื่อชุมชนแถบอเมริกากลาง นิยมดื่มช็อคโกแลตจากเหยือกมานานร่วม 1,000 ปี มีเส้นทางสายช็อคโกแลตกว่าพันไมล์
\แพทริเซีย แอล คราวน์ (Patricia L. Crown) จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก (University of New Mexico) สหรัฐอเมริกา และ ดับเบิลยู เจฟฟรีย์ เฮิร์สต์ (W. Jeffrey Hurst) นักวิจัยของศูนย์สุขภาพและโภชนาการเฮอร์ชีย์ (Hershey Center for Health and Nutrition) ร่วมกันศึกษาประวัติศาสตร์ของช็อคโกแลตจนพบว่า เครื่องดื่มสีน้ำตาลเข้ม กลิ่นรสหอมหวานนี้เริ่มเป็นที่นิยมในแผ่นดินที่ปัจจุบันเป็นสหรัฐฯ เมื่อราว 1,000 ปีมาแล้ว
ทั้งนี้ สำนักข่าวเอพีระบุว่า ผลงานวิจัยดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.52
การดื่มช็อคโกแลต เกี่ยวข้องกับหลากหลายประเพณีและพิธีกรรมของกลุ่มชนที่อยู่ในทวีปอเมริกากลางในสมัยโบราณ เช่น ประเพณีการแต่งงาน
จากการศึกษาทำให้นักวิจัยพบว่า มีเส้นทางการแลกเปลี่ยนค้าขายช็อคโกแลตในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1000-1125 (พ.ศ.1543-1668) เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างชุมชนโบราณในชาโค แคนยอน (Chaco Canyon) มลรัฐนิวเม็กซิโก กับแหล่งปลูกโกโก้ในอเมริกากลาง
ทว่าไร่โกโก้ที่อยู่ใกล้กับชาโคแคนยอนมากที่สุด ก็อยู่ห่างออกไปมากกว่า 1,600 กิโลเมตร ฉะนั้นการนำเข้าช็อคโกแลตจากอเมริกากลางในสมัยนั้น คงจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอยู่มาก และยากลำบากพอกัน ดังนั้นจึงไม่น่าจะบริโภคช็อคโกแลตกันได้บ่อยนัก
อีกทั้งช็อคโกแลตในสมัยก่อน น่าจะมีรสขมมากกว่าที่เรารับประทานกันในปัจจุบัน
ทั้งนี้เพราะชาวอเมริกากลางไม่นิยมทำให้ช็อคโกแลตมีรสหวานขึ้น ซ้ำในบางครั้งยังมีการนำพริกไทยมาผสมในช็อคโกแลตอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่แน่ใจว่า ในสมัยนั้นมีการนำน้ำผึ้งมาใช้เป็นส่วนผสม เพิ่มรสชาติให้กับช็อคโกแลตด้วยหรือเปล่า
นอกจากนี้ข้อมูลจากเอเอ็นไอระบุว่าทีมวิจัยของคราวน์พบชิ้นส่วนเซรามิคเก่าแก่จากบริเวณแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีของชุมชนโบราณ พิวโบล โบนิโต (Pueblo Bonito) ในชาโค แคนยอน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนของภาชนะคล้ายเหยือก จากการตรวจวิเคราะห์ก็พบว่ามีธีโอโบรมีน (theobromine) ซึ่งพบได้ในช็อคโกแลต
อีกทั้ง จากข้อมูลที่มีอยู่เดิมก็บ่งบอกว่าชนเผ่ามายา (Maya) ในสมัยก่อนนิยมดื่มช็อคโกแลตจากเหยือก ฉะนั้นประชาชนในพิวโบล โบนิโต ก็น่าจะเช่นเดียวกัน
"กรณีนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความสำคัญของหลักฐานทางโบราณคดี เมื่อเราใช้เทคนิคสมัยใหม่ตรวจสอบย้อนกลับไปก็จะค้นพบเรื่องราวใหม่จากสิ่งเหล่านั้นได้ ซึ่งสิ่งประดิษฐ์จากฝีมือมนุษย์ทุกๆชิ้นย่อมมีเรื่องราวบอกเล่าถึงชนรุ่นหลัง" คราวน์ กล่าว
ทั้งนี้ ชุมชนโบราณในอเมริกากลางมีนำโกโก้มาทำเป็นเครื่องดื่มช็อคโกแลตและใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสตศักราช โดยแพร่หลายมาจากชนเผ่าแอซเทค (Aztec) และจากหลักฐานทางโบราณคดีที่นักวิจัยสำรวจพบในครั้งนี้ ยืนยันได้ว่าบนแผ่นดินของทวีปอเมริกา เริ่มมีการบริโภคช็อคโกแลตเมื่อราว 1,000 ปีที่แล้ว.