xs
xsm
sm
md
lg

นักศึกษาตีกัน อำนาจนิยมแก้ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


กรณีนักเรียนนักศึกษาใช้กำลังอาวุธเข้าทำร้ายกันระหว่างสถาบัน เป็นปัญหาหนักอกหนักหนักใจของคนสังคมไทยมานาน

ล่าสุด หลังเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้หลายเหตุการณ์ในเวลาไล่เลี่ยกัน มีความรุนแรงเข้มข้น ถึงขนาดใช้อาวุธปืน มีดดาบ ฆ่ากันตายกลางที่สาธารณะ หลายฝ่ายก็แสดงท่าทีว่าจะเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหานี้ขึ้นมาทันที

1. ฝ่ายตำรวจ นำโดย พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. ถึงกับนัดหมายให้อาจารย์ และตัวแทนนักศึกษาจากวิทยาเขตอุเทนถวาย และเทคโนโลยีปทุมวัน เข้ามาจัดแถลงข่าว มอบดอกไม้ให้กัน จับมือยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างสถาบัน (ดังภาพประกอบ)

ตำรวจคงคิดว่า การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการสร้างภาพออกไปสู่สาธารณะชนในทำนองว่า “เรารักกันนะ” ฯลฯ อาจจะช่วยยุติการตีกันได้ชั่วคราว

แต่ลองพิจารณาดูเถิด ในการแสดงออกครั้งนี้ คนที่ดูจะมีรอยยิ้มว่าชื่นอกชื่นใจที่สุด เห็นจะเป็นนายตำรวจใหญ่สองคนที่ยืนยิ้มเป็นผู้กำกับการแสดงแถลงข่าว ในขณะนี้ น้องๆ นักเรียนนักศึกษาตัวแทนคู่กรณีเขาแทบจะไม่มีอารมณ์ร่วมด้วยเอาเสียเลย

จับมือกันแบบขอไปที... มอบดอกไม้แบบเสร็จๆ ไปเสียที... ดูเหมือนทั้งสองฝ่ายจะไม่ได้เปิดใจพูดคุยกันเลย เพราะแค่มองหน้ากัน ก็แทบจะไม่ได้สบตาอย่างมิตรภาพ

2. สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) นำโดยนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานการประชุมหารือแนวทางเพื่อหามาตรการในการแก้ปัญหานักเรียนนักศึกษาทำร้ายกัน ระบุว่า มีแนวทางในการแก้ไขปัญหา 8 ข้อ ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยจะต้องนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันหรืออุเทนถวายเท่านั้น โดยจะนำเสนอมาตรการเหล่านี้ พิจารณาเป็นนโยบายระดับชาติต่อไป

ประกอบด้วย “1.มหาวิทยาลัยต้องให้ความร่วมมือรักษากฎระเบียบของสถาบันอย่างเข้มงวด รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด 2.มหาวิทยาลัยต้องมีระบบติดตามดูแลความประพฤตินักศึกษาอย่างเข้มงวดและจริงจังกว่าเดิม 3.มหาวิทยาลัยต้องระดมความร่วมมือกับศิษย์เก่า ผู้ปกครอง และนักศึกษาปัจจุบัน เพื่อปรับเปลี่ยนระบบโซตัส หรือการรับน้อง เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ 4.มหาวิทยาลัยต้องให้ความร่วมมือแก่ตำรวจในการเข้าไปตรวจเยี่ยม พฤติกรรมของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย 5.มหาวิทยาลัยต้องตรวจสอบรถทุกชนิดที่เข้าออกสถาบันการศึกษาอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่เหมาะสม เข้ามาได้ 6.มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาปรับปรุงระบบกล้องวงจรปิดภายในสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย 7.มหาวิทยาลัยต้องพยายามเฝ้าติดตามบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยคอยดูแลพฤติกรรม และ 8. ให้ทุกมหาวิทยาลัยทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความสามัคคี ละลายพฤติกรรมความขัดแย้งต่างๆ”

3. พิจารณาจากแนวทางของตำรวจและข้อเสนอทั้ง 8 ข้อข้างต้น จะเห็นว่า บางข้อเป็นแนวทางที่น่าจะเกิดประโยชน์ หรือเรียกว่า “มาถูกทาง” คือ การให้ตัวนักศึกษา ผู้ปกครอง รวมทั้งศิษย์เก่า เข้ามามีส่วนร่วมในทางสร้างสรรค์ แต่ส่วนใหญ่ ยังมุ่งไปแนวทางของการใช้ “อำนาจ” เข้าไป “ควบคุม” – “บังคับ” – “ข่มขู่” – “กดดัน” โดยหวังว่า เมื่อใช้อำนาจในลักษณะนี้มากๆ แล้ว นักศึกษาจะ “ไม่กล้า” ใช้ความรุนแรงแบบนี้อีก

วิธีการตามแนวทางนี้ เรียกได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบ “อำนาจนิยม”

เป็นการกำหนดวิธีการออกมาจากตัวของผู้มีอำนาจ เพื่อใช้อำนาจนั้นไปกำหนด ควบคุม ข่มขู่ หรือกดดันกลุ่มเป้าหมายที่ตนเองต้องการจะบังคับให้เขามีพฤติกรรมอย่างที่ผู้มีอำนาจต้องการ

การแก้ปัญหาตามแนวคิดแบบอำนาจนิยมเช่นนี้ น่าสงสัยว่า อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

จะลืมอะไรก็ลืมได้ แต่อย่าลืมว่า นักศึกษาเหล่านั้นล้วนแต่เป็น “มนุษย์” ซึ่งเต็มไปด้วย “อารมณ์ความรู้สึก” โดยที่แต่ละคน “มีสภาพจิตแตกต่างกันไป” ตามแต่ปูมหลัง สภาพปัญหา ประสบการณ์ชีวิต ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกับต่อแนวทาง “อำนาจนิยม” ในลักษณะนี้ก็ได้ เช่น ฝ่าฝืน ท้าทาย หรือแม้แต่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ในรูปแบบต่างๆ

แน่นอน... การใช้แนวทางข้างต้นอาจมีความจำเป็นบ้างในบางระดับ แต่ต้องไม่ใช่ว่าจะใช้เฉพาะแนวทางอำนาจนิยมเท่านั้น โดยไม่มีแนวทางอื่นๆ เข้ามาประกอบหรือเข้ามาดำเนินการก่อนเพื่อเป็นพื้นฐาน ทำให้เกิดการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนในเชิงลึกของตัวนักศึกษากลุ่มเป้าหมายเองเสียก่อน จากนั้น มาตรการในเชิงกฎระเบียบข้อบังคับเหล่านั้นจึงค่อยเข้ามาเสริมในภายหลัง


4. ข้อเสนอแนะ

4.1 ควรจะมีการไปศึกษาอย่างมีกุศโลบาย โดยไปเรียนรู้จากตัวนักศึกษาเหล่านั้นว่า ทำไมเขาถึงตีกัน

การดำเนินการนี้ ทีมศึกษาจะต้องทำให้นักศึกษาไว้เนื้อเชื่อใจ พร้อมที่จะพูดคุยเปิดใจ และเข้าไปเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิด เหตุและผลในมุมของนักศึกษาว่า คิดอย่างไร และทำไม่ถึงคิดอย่างนั้น

ในระหว่างทำการศึกษา จำเป็นต้องมีวิธีการถามที่ดี และมีคำถามที่ดี เพราะจะทำให้ตัวนักศึกษาที่ถูกถามได้คิดตาม คิดทบทวนถึงเหตุผล และอารมณ์ความรู้สึกของตนเองว่า ทำไมถึงไปทำอย่างนั้น เรื่อยไปจนถึงกระทั่งว่า “เขาอาจคิดได้เอง” ว่า เมื่อทำอย่างนั้นแล้ว มันช่วยแก้ปัญหา หรือให้ผลตรงกับความต้องการของตนเองอย่างแท้จริงและยั่งยืนจริงๆ หรือไม่ เช่น

ถ้านักศึกษาคิดว่า การตีกันจะช่วยให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อน ? การตั้งคำถามต่อไปก็ต้องมีกุศโลบายที่จะเอื้ออำนวยให้นักศึกษา “คิดได้เอง” ต่อไปด้วยว่า จะได้รับการยอมรับในหมู่เพื่อนจริงๆ ไหม ? อย่างไร ? ยาวนานแค่ไหน? แฟนว่าอย่างไร ? พ่อแม่-ผู้ปกครอง คิดอย่างไร ? จะมีผลกระทบในระยะยาวอย่างไร ? อาชีพการงาน ? ต่อไป ถ้าตนเองจะแต่งงานมีครอบครัวจะมีความเสี่ยงหรือมีผลอย่างไร?

การตีกันจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร? มีความรุนแรงที่ไหนแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนถาวรบ้าง ?

คิดอย่างไรที่เห็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการมหาดไทย ชอบเล่นพรรคเล่นพวก ? ถ้าเราได้รับผลกระทบหรือถูกเบียดเบียนจากการเล่นพวกแบบนี้ เรารู้สึกอย่างไร ? แล้วทำไมเราจะเล่นพวก เล่นสถาบัน โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของคนอื่นๆ ? ฯลฯ

การศึกษาเรียนรู้จากตัวนักศึกษากลุ่มเป้าหมายเช่นนี้ เคยมีการทำในสหรัฐอเมริกา ที่นิวยอร์ค โดยให้นักมานุษยวิทยาเข้าไปทำการศึกษา สอบถาม เรียนรู้กับคนผิวดำที่มีพฤติกรรมรวมตัวเป็นกลุ่มอันธพาล เกเร ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ปรากฏว่า หลังจากเข้าไปสอบถาม พูดคุยอย่างเข้าอกเข้าใจกัน พบว่า คนกลุ่มนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง จากการที่ได้คิดทบทวน เรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง

4.2 น่าสังเกตว่า นักศึกษาเหล่านี้ยึดค่านิยมแบบสถาบันนิยม รุ่นนิยม ซึ่งไม่ต่างจากตัวอย่างที่พบเห็นในสังคมไทย ที่ผู้ใหญ่ในสังคมทำให้เห็นอยู่เสมอ เช่น


ในวงการทหารหรือตำรวจ มีการยึดถือรุ่นต่างๆ เช่น จปร.รุ่น 5 รุ่น 7 หรือเตรียมทหารรุ่น 10 เป็นต้น, วงการมหาดไทย ก็มีการถือพวก สิงห์ดำ สิงห์แดง สิงห์ขาว เป็นต้น, วงการผู้บริหารในแวดวงราชการ ก็ยังพยายามเล่นพวกกันเป็น วปอ.รุ่นเดียวกัน หรือ วปรอ.รุ่นเดียวกัน หรือ เรียนพระปกเกล้ารุ่นเดียวกัน เป็นต้น

ปัจจุบัน ถึงขนาดว่า มีการพยายามเชื่อมต่อเพื่อเล่นพวก โดยย้อนกลับลงไปถึงระดับมัธยม เช่น สวนกุหลาบรุ่นเดียวกัน อำนวยศิลป์รุ่นเดียวกัน ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ เป็นแบบอย่างไม่ดี ที่ผู้ใหญ่ต้องแก้ไข

น่าสังเกตว่า เมื่อแรกที่เข้าเรียนในสถาบันนั้น เด็กที่เข้าไปเรียนยังไม่มีความรู้สึก “สถาบันนิยม” เข้มข้น แต่รุ่นพี่ปลูกฝัง ส่วนหนึ่งด้วยการรับน้อง ให้แสดงความสามารถโลดโผน ปลูกฝังการรักรุ่น รักพี่ คลั่งไคล้ในรุ่น ในสถาบัน ในพวกพ้อง หลังจากนั้น ในวิถีชีวิตของการเรียน ก็ยังมีกิจกรรมชีวิตที่ตอกย้ำ และปลูกฝังให้เอาพวกพ้อง สถาบันนิยม ในรูปแบบต่างๆ โดยที่บางกรณี ครูอาจารย์ก็มีส่วนในการปลูกถ่ายความรู้สึกนึกคิดเรื่องสถาบันนิยมโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

พึงพิจารณาว่า นักศึกษาสายอาชีวะส่วนใหญ่ ในความรู้สึกส่วนลึก รู้สึกว่าตนเองมีจุดด้อยด้านวิชาการ แข่งขันทางสติปัญญาก็คงสู้นักศึกษาสายวิชาวิชาการที่เรียนตามมหาวิทยาลัยไม่ได้ (ในความรู้สึก) จึงหันไปหาทาง “เด่น” ในด้านอื่นๆ เพื่อจะให้ตนเองเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม ของเพื่อน และของสังคม

เรียกว่า จะได้มี “อัตลักษณ์” หรือ มีจุดเด่น จุดแข็ง หรือจุดขายของตนเอง

การแสดงออกในกิจกรรมที่เชื่อว่าดูเหมือนเป็นความกล้าหาญ เช่น ตีรันฟันแทง เป็นทางหนึ่งที่เด่นได้ และสอดคล้องกับสันดานดิบของมนุษย์ในด้านความรุนแรง

การจะแก้ไขความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ จะต้องคำนึงว่า

(1) ให้เขาเห็นปัญหาด้วยตัวเขาเอง คิดได้เอง

(2) ให้ทางเลือกกับกิจกรรมที่ให้เขาเด่นได้อย่างสร้างสรรค์ แล้วให้เขาตัดสินใจเอง

(3) ถ้าให้เขารวมตัว ให้ข้อมูล พิจารณาตัวเองเป็นกลุ่ม ก็จะทำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเร็วขึ้น เพราะมีกลุ่มเพื่อนช่วยคิด

(4) อย่าทำเพียงรุ่นเดียว ต้องทำให้ครบทั้ง 4 รุ่น (ทุกชั้นปี) และยาวนาน 4 ปี เป็นอย่างน้อย จนรุ่นพี่รุ่นน้องเปลี่ยนพฤติกรรมเปลี่ยนค่านิยม และถ่ายทอดไปสู่น้องๆ รุ่นต่อไปด้วย

(5) ตำรวจไม่ควรเข้ามาเป็นตัวนำในการแก้ปัญหาเชิงลึกอย่างนี้ เพราะตำรวจคือแบบอย่างของความไม่ดีในปัญหาเหล่านี้แทบจะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เล่นพวก เล่นรุ่น สถาบันนิยม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา กรณี 7 ตุลาคม 2551 ที่ตำรวจเป็นผู้ใช้ความรุนแรงอย่างบ้าคลั่ง ป่าเถื่อน แล้วยังออกมาแก้ตัว ใส่ร้ายป้ายสีประชาชน ลอยหน้าลอยตาไม่แสดงความรับผิดชอบ เป็นต้น

(6) ให้มีการเรียนร่วมกันระหว่าง 2-3 สถาบัน โดยบางวิชา อาจเปิดสอนเฉพาะในบางสถาบัน แล้วใช้วิธีไปเรียนร่วมกัน คล้ายๆ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในอดีต เคยมีการตีกันระหว่างนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ แต่เมื่อมีการเรียนร่วมกันในชั้นปีที่หนึ่ง หลักสูตรวิชาศิลปะศาสตร์ ห้อง A1-A18 ห้อง B1-B18 โดยแต่ละห้องเรียนรวมกันระหว่างนักศึกษาแรกเข้าของรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหลังจากนั้น ก็ไม่มีการตีกันอีกเลย เพราะนักศึกษาเหล่านี้ได้มีชีวิตบางส่วนร่วมกัน

(7) สถาบันการศึกษาในระดับนานาชาติบางองค์กร เช่น องค์การสหสากลวิทยาลัย หรือ United World Colleges (UWC) ซึ่งมีสถาบันในเครือข่ายอยู่หลายแห่งทั่วโลก เช่น เมือง Duino ประเทศอิตาลี, เมือง Fjaler ประเทศนอร์เวย์, เมือง Victoria รัฐ British Columbia ประเทศแคนาดา, เมืองฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน, เมือง Montezuma รัฐ New Mexico ประเทศสหรัฐอเมริกา, เมือง St. Donats Castle ประเทศอังกฤษ เป็นต้น

UWC มีการใช้แนวคิดของการให้นักเรียนนักศึกษาเรียนร่วมกัน มีชีวิตบางด้านร่วมกัน โดยเอานักเรียนระดับ ม.4-ม.6 มาจากเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก ต่างแนวคิด ต่างค่านิยม ประเทศละ 1 คน นำมาเรียนร่วมกัน

บางประเทศที่มีความขัดแย้งกัน ก็มีนักเรียนมาเรียนร่วมกัน และอยู่ห้องนอนเดียวกัน ปรากฏว่า ได้ผลดีมาก

สรุป

การแก้ปัญหานักเรียนนักศึกษาทำร้ายกันนั้น เป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริง แต่จะต้องใช้เวลาและความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ของนักศึกษาเหล่านั้น

การมุ่งใช้แนวทางในเชิง “อำนาจนิยม” อย่างเดียว จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง และมีแนวโน้มว่าจะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

คงมีแต่ความเข้าใจความเป็นมนุษย์ของเขา และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้นักศึกษาเหล่านี้สามารถคิดได้เอง มองเห็นคุณค่าชีวิตความเป็นมนุษย์ของตนเอง และเห็นอกเห็นใจในความเป็นมนุษย์ของนักศึกษาคนอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่ในสถาบันการศึกษาอื่น และ มีที่ทาง มีโอกาส มีกิจกรรมที่ให้คนเหล่านี้ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสร้างคุณค่าชีวิตของตนเอง พร้อมๆ กับ เห็นอกเห็นใจกันและกัน

การตีกัน ทำร้ายกัน เป็นเพียงปลายเหตุของอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ปลดปล่อยความรุนแรงออกมาจากจิตใจส่วนลึก เพราะฉะนั้น การแก้ไขต้นเหตุ คือ “จิตใจ” จำเป็นต้องใช้เวลา และความต่อเนื่อง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
กำลังโหลดความคิดเห็น