นักวิจัยเอ็มเทคร่วมกับเอกชน พัฒนาเครื่องสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กระดับชุมชน ขนาดเล็ก เคลื่อนที่ง่าย ใช้งานสะดวก ได้น้ำมันปาล์มเกรดเอ ช่วยเกษตรกรเพิ่มมูลค่าผลผลิตปาล์มน้ำมัน และไม่ทำให้เกิดน้ำเสียจากกระบวนการหีบน้ำมัน เพราะไม่ต้องใช้ไอน้ำเข้าช่วย เตรียมพัฒนาต่อให้มีระบบแยกผลปาล์มก่อนอบ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมการสาธิตเครื่องต้นแบบระบบสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำระดับชุมชน ณ โรงงานสาธิตการผลิตไบโอดีเซลสำหรับชุมชนแบบครบวงจร ต.หนองหมู อ.วิหารแดง จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 20 ม.ค.52 ที่ผ่านมา
ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ นักวิจัยเอ็มเทค หนึ่งในผู้พัฒนาระบบสกัดน้ำมันปาล์มดังกล่าว เผยกับทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ว่า ปกติเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม จะต้องขนส่งทลายปาล์มไปยังโรงงานหีบน้ำมันปาล์ม ซึ่งใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ แต่หากทำให้ระบบสกัดน้ำมันปาล์มมีขนาดเล็กลงได้ ก็สามารถช่วยให้เกษตรกรหีบน้ำมันปาล์มได้ที่สวนเลย โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งทลายปาล์มเป็นระยะทางไกล และหากขนส่งผลผลิตในรูปน้ำมันปาล์ม จะมีมูลค่ามากกว่าผลปาล์มสดอีกด้วย
เอ็มเทคจึงได้ร่วมกับกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท เกรทอะโกร จำกัด เพื่อพัฒนาระบบสกัดน้ำมันปาล์ม แบบไม่ใช้ไอน้ำระดับชุมชน ซึ่งประกอบด้วยเครื่องจักรขนาดเล็ก บรรจุอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้สะดวกในการเคลื่อนที่ และสามารถสกัดน้ำมันปาล์มได้โดยไม่ต้องใช้ไอน้ำเหมือนระบบที่ใช้อยู่ทั่วไปในโรงงานขนาดใหญ่
ในการสกัดน้ำมันปาล์มโดยทั่วไป จะต้องใช้ไอน้ำเพื่อช่วยแยกเนื้อปาล์มออกจากกะลาปาล์มได้ง่ายขึ้น และเมื่อสกัดน้ำมันออกจากเนื้อปาล์มแล้วยังต้องมาผ่านกระบวนการไล่ความชื้นออกจากน้ำมันด้วย ซึ่งเกิดจากการที่ต้องใช้ไอน้ำในตอนแรก จึงทำให้มีน้ำเสียเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม และยังใช้พลังงานมากด้วย
"ระบบที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ไม่ต้องใช้ไอน้ำ แต่ใช้วิธีการอบผลปาล์มก่อนสกัดน้ำมันแทนเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงที่อุณหภูมิประมาณ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นการช่วยไล่ความชื้นออกจากผลปาล์ม ทำให้เนื้อปาล์มหลุดออกจากกะลาได้ง่ายขึ้น และยังช่วยยับยั้งเอนไซม์ไลเปส จึงทำให้ได้น้ำมันปาล์มคุณภาพดีในระดับเกรดเอ มีความชื้นและกรดไขมันอิสระต่ำ ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายก็ไม่ต้องไล่ความชื้นออกจากน้ำมันอีก จึงช่วยประหยัดพลังงาน และเมื่อไม่ได้ใช้น้ำในกระบวนการผลิต จึงไม่ก่อให้เกิดน้ำเสียออกมาอีก" ดร.เอกรัตน์ อธิบาย
นักวิจัยอธิบายต่อว่า ภายหลังจากอบผลปาล์ม ระบบจะลำเลียงผลปาล์มที่อบแล้วเข้าสู่เครื่องแยกเนื้อปาล์มออกจากกะลา แล้วลำเลียงเนื้อปาล์มเข้าสู่เครื่องสกัดน้ำมัน น้ำมันปาล์มที่ได้จะผ่านเครื่องกรองหยาบและกรองละเอียดขนาด 1 ไมครอน เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งสามารถสกัดได้ประมาณ 1 ตันผลปาล์มต่อชั่วโมง ส่วนกากปาล์มที่สกัดน้ำมันออกไปแล้วสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ระบบสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำดังกล่าวรองรับผลปาล์มร่วงเท่านั้น ซึ่ง ดร.เอกรัตน์ บอกว่ามีแนวทางจะพัฒนาต่อเพื่อให้สามารถรองรับได้ทั้งทลายปาล์มโดยที่มีการแยกผลปาล์มออกจากทลายภายในระบบก่อนเข้าเครื่องอบ และทลายปาล์มที่เหลือก็จะได้นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับระบบแทนก๊าซแอลพีจีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ นักวิจัยได้จดสิทธิบัตรเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว ซึ่งระบบต้นแบบมีต้นทุนประมาณ 3-4 ล้านบาท แต่หากมีการผลิตในเชิงพาณิชย์คาดว่าจะทำให้ต้นทุนต่ำลงได้อีก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเผยแพร่และเฟ้นหาบริษัทเอกชนมารับถ่ายทอดเทคโนโยลีเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไปนอกเหนือจากบริษัท เกรทอะโกร จำกัด ซึ่งได้รับสิทธิในการผลิตแล้วเป็นรายแรก.