หลังจากไดัพัฒนา "มินิบัสไฮบริดไฟฟ้า-โซลาร์เซลล์" เมื่อปลายปี 49 และเปิดตัว "รถเซลล์เชื้อเพลิงต้นแบบ" ขนาด 960 วัตต์คันแรกไปเมื่อปลายปี 50 ที่ผ่านมา ล่าสุด เจ้าของผลงานก็เปิดตัวนวัตกรรมใหม่อีกครั้งกับรถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 8-10 กิโลวัตต์
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้พาคณะสื่อมวลชนรวมถึงผู้จัดการวิทยาศาสตร์ร่วมงานเปิดตัวนวัตกรรม "รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิง" คันแรกของไทยขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ค.51 ณ บริษัท คลีนฟูเอล เอ็นเนอร์ยี เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด จ.ปทุมธานี หลังจากได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัย 14 ล้านบาทเป็นเวลาหนึ่งปี
พลอากาศโทมรกต ชาญสำรวจ ประธานกรรมการ บริษัท คลีนฟูเอล เอ็นเนอร์ยี เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด เผยว่า รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงคันนี้เป็นการต่อยอดรถเซลล์เชื้อเพลิงต้นแบบชนิดเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน (PEMFC) ที่ได้พัฒนามาก่อนหน้า โดยเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจาก 960 วัตต์เป็น 8-10 กิโลวัตต์เป็นผลสำเร็จ ทำให้รถดังกล่าวแล่นได้ด้วยความเร็วสูงสุด 130 กม.ต่อชั่วโมง ด้วยราคาต้นแบบวิจัย 6 ล้านบาท ทว่าหากมีการผลิตจำนวนมากจะทำให้ภายในหนึ่งปี รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงจะมีราคาคันละ 2 ล้านบาทเศษ
"ไฟฟ้าที่เซลล์เชื้อเพลิงผลิตได้ราว 5-7 กิโลวัตต์จะถูกนำไปใช้กับมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ ส่วนที่เหลือเรายังนำไปใช้กับระบบเครื่องเสียง หรือแม้แต่ระบบทำความเย็นได้" พลอากาศโทมรกตกล่าว โดยรถดังกล่าวมีข้อดีคือทำงานได้ในอุณหภูมิ 40-80 องศาเซลเซียส ใกล้เคียงกับเครื่องยนต์สันดาปในปัจจุบัน และปรับสมดุลในระบบได้เร็ว มีอายุการขณะใช้งานรวมกันกว่า 1 หมื่นชั่วโมง
ทั้งนี้ รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงจะทำงานโดยใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เพื่อผลิตกระแสไฟขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า 5.5 แรงม้า ซึ่งทีมวิจัยได้ประกอบตัวถังรถขึ้นเอง และนำเข้าเฉพาะถังเก็บไฮโดรเจนขนาด 900 ลิตรจากประเทศสหรัฐอเมริกาติดตั้งจำนวน 1 ถัง เพียงพอที่จะแล่นได้นาน 20 นาที ได้ระยะทาง 30-40 กม.
ทั้งนี้ รถเก๋งคันดังกล่าวมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนาทีละ 54 ลิตร โดยสามารถติดตั้งถังไฮโดรเจนเพิ่มเติมอีก 4-5 ถังจะทำให้รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงแล่นได้ยาวนานขึ้น
"เราได้ทดลองวิ่งระยะทางไม่ไกลนานประมาณครึ่งเดือนพบว่า รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงใช้งานได้ดี ไม่ต้องใช้น้ำมัน ไม่มีไอเสียที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม" นักวิจัยกล่าว
พลอากาศโทมรกตกล่าวอีกว่า รถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นรถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงคันแรกของไทย และเป็นที่ 2 ของเอเชีย นอกเหนือจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์ฮอนด้าของญี่ปุ่น เพิ่งมีการลองตลาดรถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิง 100 คันแรก ขณะที่ค่ายรถยนต์จากเยอรมนี อย่างบีเอ็มดับเบิลยูและเดมเลอร์ไครสเลอร์ได้พัฒนารถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงแล้วเช่นกัน
ด้าน ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า หลังการเปิดตัวดังกล่าว วช.จะเร่งทำหนังสือถึงนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีถึงความก้าวหน้าทางการวิจัยดังกล่าว เพื่อให้เกิดการขยายผลกับกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป
สำหรับการวิจัยพัฒนาข้างหน้า ร.ท.ภราดร แสงสุวรรณ ผู้ช่วยนักวิจัย กล่าวว่า จะหาแนวทางความร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) วิจัยพัฒนาถังเก็บไฮโดรเจนที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยต่อไป เพื่อให้การผลิตรถเก๋งเซลล์เชื้อเพลิงของคนไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างครบวงจรยิ่งขึ้น.