xs
xsm
sm
md
lg

แก๊สโซฮอล์ อี85 ลูกผีลูกคน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดประเด็นแก็สโซฮอล์ อี85 หลังมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา อนุมัติให้การสนับสนุนมาตรการภาษี ยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนให้ผู้ผลิตรถยนต์ ไปจนถึงลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันอี85 พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันให้เกิดการใช้โดยเร็ว

แต่ถึงกระนั้นยังมีเรื่องที่สร้างความแคลงใจให้กับหลายฝ่าย เพราะถึงแม่มติคณะรัฐมนตรีจะชัด แต่ก็ยังไม่ออกมาเป็นกฎกระทรวง และกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ภายหลัง หากรัฐบาลเปลี่ยนขั้ว รัฐมนตรีเปลี่ยนหน้า ที่สำคัญค่ายผู้ผลิตรถยนต์จะเอาด้วยไหม จะมีรถทำตลาดหรือเปล่า รวมถึงความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค และวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนผสมหลักอย่างเอทานอลจะมีเพียงพอหรือไม่ ทั้งหมดเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ

ภาคเอกชนโดยชมรม "พลังงานไทยทำไทยใช้" ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ จากภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน จัดงานเสวนาในหัวข้อ “E85 อนาคตพลังงานชาติ ทางเลือก ทางรอดของไทย”เพื่อไขข้อข้องใจในประเด็นต่างๆ...นี่คือส่วนหนึ่งของความคิดเห็น

ธิบดี หาญประเสริฐ รองประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทดแทน เอทานอล-ไบโอดีเซล แห่งประเทศไทย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าแก๊สโซฮอล์นั้นมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันมากกว่าเบนซินธรรมดาอยู่จริง ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดเครื่องยนต์ และพฤติกรรมการขับด้วย อย่าง อี10 จะกินมากกว่า 2-3% อี20 อยู่ที่ 6% ส่วน อี85 ประมาณ 26% ดังนั้นโครงสร้างราคาขายปลีกที่เหมาะสมสำหรับแก๊สโซฮอล์ อี10 อี20 และ อี85 จะต้องถูกกว่าเบนซิน95 (เทียบราคา 40 บาท) 4 บาท 6 บาท และ 15 บาทตามลำดับ

“แก๊สโซฮอล์ให้อัตราการสิ้นเปลืองมากกว่าจริง แต่สิ่งที่คนไม่พูดถึงคือ ประสิทธิภาพของเชื้อเพลิง โดยเฉพาะ อี85 นั้น จะให้แรงดันลูกสูบมากกว่า หรือแรงบิดมีกำลังสูงกว่าเบนซินธรรมดาประมาณ 3% ที่สำคัญเรายังได้เรื่องสิ่งแวดล้อม มลพิษไอเสีย ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ (C02)และ ไนโตรเจนออกไซด์(NOX) ลดลง 5-10%”

ส่วนประเด็นว่า ถ้าค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ไม่เอาด้วย อี85 จะเกิดหรือไม่ ด้วยความเห็นส่วนตัวและมีโอกาสได้คลุกคลีกับแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องบอกว่า เขา(ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่)เอาด้วยแน่นอน แต่อาจจะขอเวลาหน่อยเพราะความพร้อมแต่ละค่ายไม่เท่ากัน และเพื่อไม่ให้เป็นการได้เปรียบเสียเปรียบ รัฐบาลต้องกำหนดกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

โดยออกกฎหมายหรือพระราชบัญญัติ ระบุให้ชัดเจนไปเลยว่าเริ่มเมื่อไหร่ ซึ่งกลุ่มยานยนต์เองจะได้เตรียมความพร้อม ด้านเกษตรกรและโรงงานผลิตเอทานอลจะได้กล้าปลูกกล้าลงทุน จากนั้นต้องบริหารให้ความต้องการซื้อและความต้องการขายมีพอๆกัน เพื่อจะได้ไม่เกิดภาวะวัตถุดิบ(อ้อย มันสำปะหลัง เอทานอล)ล้นตลาด

สิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย

ข้อสงสัยว่า เราจะมีเอทานอลเพียงพอต่อการผลิต อี85 หรือเปล่า ในส่วนของผู้ผลิตเอทานอล ถ้าขึ้นผลิตครบทุกโรงงานต้องบอกว่าพอ (อนาคตจะเพิ่มเป็น 49 โรงงาน) และเหลือด้วย ซึ่งตอนนี้ 11 โรงงานถ้าผลิตเต็มกำลังจะอยู่ที่ 1.575 ล้านลิตรต่อวัน ทั้งๆที่ความต้องการในประเทศยังแค่ 7 แสนลิตรต่อวันเท่านั้นเอง

“ต้องบอกว่าการเลือกส่งเสริม อี85 นั้นมาถูกทางแล้ว แต่ปัญหาคือกฎหมายยังกำหนดให้เอทานอล ต้องขายให้โรงกลั่นน้ำมันอยู่ ดังนั้นเราต้องเปิดเสรีการขาย ภาพการผสมน้ำมันกับเอทานอลต้องเปลี่ยน เราอาจจะตั้งโรงงานผสมที่หัวเมือง ให้ใกล้โรงเอทานอล หรือเปิดให้ผู้ค้าเอทานอลสามารถ เป็นผู้ค้าน้ำมัน ได้ ไม่อย่างนั้นการขนส่งเอทานอล 85% ไปให้ผู้ผลิตน้ำมัน ค่าขนส่งต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน ส่วนมติคณะรัฐมนตรีที่ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก็สโซฮอล์ อี85 เหลือ 2.5795 บาทต่อลิตรนั้นยังไม่จูงใจผู้ค้าน้ำมัน ดังนั้นจึงอยากให้ลดลงมาอยู่ระดับ 0.55 บาท”

ทั้งนี้หากจะจริงจังกับ อี85 รัฐบาลต้องดูแลพื้นที่การปลูกพืชไร่ให้ดีๆ จัดการให้ทุกสิ่งทุกอย่างลงตัว และในสภาพความเป็นจริง โรงกลั่น ผู้ผลิตรถ ผู้ใช้รถ ก็ต้องไปพร้อมๆกัน อีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝากไว้คือ กฎหมายจัดการเอทานอลยังไม่มีชัดเจน เพราะเอทานอลยังถือว่าอยู่ในหมวดสุรา จึงมีกรมสรรพสามิตดูแล ถ้าเป็นไปได้ควรมีกฎหมายเกี่ยวกับเอทานอลโดยเฉพาะ

มานะ ฤทธิชัยสมาจาร นายกสมาคมชาวไร่อ้อยสี่แคว นครสวรรค์ และประธานสหกรณ์การเกษตรชาวไร่อ้อยสี่แคว

ในฐานะตัวแทนผู้ผลิตอ้อยคิดว่า แก็สโซฮอล์อี85 เป็นทางรอดแน่นอน คือรอดทั้งด้านพลังงานและการเกษตร ซึ่งจะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสทั้งการแก้ไขเรื่องพลังงาน แก้ไขปัญหาความยากจน และพืชผลทางการเกษตร

“อ้อยเป็นพืชพลังงานตัวจริง ไม่มีผลกระทบต่อเรื่องอาหารแน่นอน เราผลิตน้ำตาลในไทย 7.8 ล้านตัน บริโภคในประเทศ 2 ล้านตัน ที่เหลือส่งออก(ปริมาณส่งออกเป็นอันดับ3 ของโลก) แต่ตัวเกษตรกร ยังจน และมีหนี้รวม 24,000 ล้านบาท แต่ อี85 จะเป็นโอกาสที่ดีของเรา เป็นการบริหารอุปทานส่วนเกินที่มีอยู่ ทั้งนี้เราถือเป็นประเทศที่เริ่มใช้เอทานอลเป็นรายแรกๆในภูมิภาค ทำให้โอกาสชิงความได้เปรียบในการส่งออกก็มี โดยมีตลาดทั่วเอเชียรองรับ”

อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ควรมองมิติเดียวว่า ทำอย่างไรให้พลังงานราคาต่ำลง แต่ต้องมองภาคอื่นด้วยว่าจะอยู่ได้ไหม ดูตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้ง ประชาชน ผู้ผลิตเอทานอล ราคาต้นทุนวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน แล้วถ้ารัฐบาลบริหารได้สมดุล เชื่อว่า อี85 ไปรอดแน่นอน

มนูญ ศิริวรรณ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

หากมีแก็สโซฮอล์ อี85 เข้ามา ประเด็นเรื่องสถานีบริการน่าจะเป็นข้อจำกัด เพราะปั๊มต้องเปลี่ยนถังใหม่เลย ดังนั้นแต่ละปั๊มคงจะจำหน่ายครบทุกผลิตภัณฑ์ไม่ได้ ซึ่งต่อไปต้องเลือกว่าจะขายน้ำมันประเภทไหนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ส่วนอี85 ต้องดูอัตราการขยายด้วยว่าไปได้เร็วแค่ไหน ซึ่งน่าจะคล้ายๆแก็สโซฮอล์ อี20 ที่ขยายแบบค่อยเป็นค่อยไป

ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ 1.8 หมื่นสถานี และถ้ามีแก็สโซฮอล์ อี85 เข้ามาโครงสร้างพื้นฐานต้องเปลี่ยนหมด ดังนั้นถ้าผู้ค้าไม่อยากลงทุนเพิ่มคงต้องเลือกน้ำมันให้เหมาะสมกับลักษณะลูกค้าในพื้นที่ หรือถ้าอนาคตแก็สโซฮอล์ได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้ประกอบการมีความพร้อมลงทุน อาจจะไม่ต้องมีหลายหัวจ่ายคือมีเครื่องผสมอัตโนมัติ โดยลูกค้าสามารถเลือกกดได้ว่าจะเติม อี10 อี20 หรืออี85 ซึ่งกว่าจะถึงจุดนี้คงต้องใช้เวลาหลายปี

ขณะเดียวกันอยากให้กระทรวงพลังงานประกาศออกมาเนิ่นๆว่าจะให้ราคาขาย แก็สโซฮอล์ อี85 เป็นเท่าไหร่ ส่วนเรื่องที่พูดถึงกันมากคือ ค่าการตลาด ซึ่งปัจจุบัน ดีเซล เบนซิน จะอยู่ประมาณ 1 บาท หากเป็นอี85 คิดว่าน่าจะอยู่ที่ 1.50 บาท เพื่อจูงใจผู้ค้าน้ำมัน
กำลังโหลดความคิดเห็น