xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลจนปัญญาแก้น้ำมัน "อี 20" ไม่คืบดันทุรังเพิ่ม "อี 85"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลยอมหั่นภาษีทุกด้านทั้งลดภาษีชิ้นส่วนรถอี 85 เป็นการชั่วคราว 3 ปี และลดภาษีสรรพสามิต รถอี 85 เท่ากับอี 20 ฯลฯ หวังแจ้งเกิด ด้านรมว.พลังงานถกค่ายรถ-ปตท.และบางจากร่วมหารือความพร้อม 5 มิ.ย. ผู้ค้ามึนชี้อี 20 ยังมีปั๊มแค่ 40 กว่าแห่งไม่ทันไรเป็นอี 85 อีกแล้วขณะที่หัวจ่ายของปั๊มมีแค่ 4 หัวเท่านั้น ผู้ผลิตเอทานอลชี้นโยบายดีแต่การนำไปสู่ปฏิบัติที่ผ่านยังไม่ใช่รัฐต้องหารือ 5 ฝ่ายเพื่อมองให้รอบด้าน ขณะที่ค่ายรถญี่ปุ่นโล่งภาษีฯรับได้ ชี้อี 85 มาเร็วกว่าที่คิด แนะราคาอี 85 ต้องสูงต่ำกว่าเบนซิน 95 มากกว่า 10 บาทต่อลิตรจึงจะจูงใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้( 3มิ.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอล 85% (น้ำมัน E85) เเละรถยนต์นั่งที่สามารถใช้น้ำมัน E85 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ด้วยการยกเว้นโดยยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ E85 ที่มีลักษณะเฉพาะเเละเป็นอุปกรณ์หลักเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน E85 เเละไม่มีผลิตในประเทศเป็นการชั่วคราว 3 ปี (นับตั้งเเต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้) รวมทั้งลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ E 85 ลงเหลือ 25% 30% และ 35 %ตามขนาดเครื่องยนต์ คือ ไม่เกิน 2000 ซีซี มากกว่า 2000 - 2500 ซีซี และมากกว่า 2500 - 3000 ซีซี ตามลำดับ ซึ่งเท่ากับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ E20 ในปัจจุบัน และลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน E85 เหลือ 2.5795 บาทต่อลิตร จาก 3.6850 บาทต่อลิตร

5 มิ.ย.นัดค่ายรถ-บ.น้ำมันถก "อี 85"

พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงานกล่าวว่า วันที่ 5 มิ.ย. กระทรวงพลังงานจะหารือกับ บริษัท ปตท. และบางจากฯ ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันอี 85 และค่ายรถยนต์ยุโรป 3 ค่าย คือ วอลโว่ ฟอร์ด และจีเอ็ม ที่มีความพร้อมในการนำเข้ารถยนต์อี 85 รวมทั้งค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่สนใจผลิตรถยนต์อี 85 มาหารือถึงความเป็นไปได้และความพร้อมที่จะผลิตรถยนต์อี 85 เพื่อเป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันให้น้อยลงและหันมาใช้เอทานอลที่ผลิตได้จากคนไทยแทน

มึนนโยบายรัฐชี้ "อี 20" ยังมีแค่ 30 ปั๊ม

แหล่งข่าวจากค่ายน้ำมันรายหนึ่งกล่าวว่า คาดว่าระยะแรกคงมีเพียงปตท.และบางจากเท่านั้นที่จะจำหน่ายอี -85 เหมือนกับอี -20 ในปัจจุบันที่มีแค่ 40 กว่าแห่งขณะที่รถยนต์ที่ใช้อี 20 แม้จะมีจำนวนมากก็ตามเพราะเกิดจากผู้ค้าไม่สามารถจะปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพราะหัวจ่ายปั๊มใหญ่มีเพียง 4 หัวจ่ายเท่านั้นลำพังแก๊สโซฮอล์ 91 ล่าสุดยังมีขายไม่ทุกค่ายเพราะท้ายสุดต้องเลือกว่าจะขายอะไรเพราะน้ำมันมีเกินหัวจ่ายคือ เบนซิน 95 เบนซิน 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ 91 อี 20 ไบโอดีเซล ดีเซล และยังมีอี 85 เข้ามาเพิ่มอีก

ชี้นโยบายดีแต่การไปสู่ปฏิบัติยังไม่ใช่

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอล กล่าวว่า นโยบายอี 85 ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่สิ่งสำคัญคือการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างชัดเจนและสมบูรณ์เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมแต่ที่ทำอยู่ในขณะนี้ยังไม่ใช่เพราะการจะไปสู่อี 85 ได้ต้องหารือกัน 5 ฝ่ายคือ 1.ผู้ผลิตวัตถุดิบ 2. ผู้ผลิตเอทานอล 3. บริษัทน้ำมัน 4. ค่ายรถยนต์ 5. ผู้บริโภคหากส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดปัญหาก็ยากที่จะไปสู่เป้าหมายที่ดีได้ จำเป็นต้องหารือร่วมกันเพราะดูอย่างอี -20 ที่มีการส่งเสริมมานานแล้วแต่ยังมีปั๊มแค่ไม่กี่แห่งเท่านั้น

ชี้"อี-85"ควรต่ำกว่า"เบนซิน 95"กว่า 10 บ.

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน กล่าวว่า โอกาสที่จะเกิดคงไม่ง่ายนักเพราะดูได้จากอี 20 แล้วจะเห็นว่ายังมีปั๊มจำหน่ายไม่กี่แห่งคงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรและการจำหน่ายทางผู้ค้าที่มีหัวจ่ายจำกัดคงจะต้องเลือกขายเป็นปั๊มไป ดังนั้นรัฐจะต้องมองในเรื่องของราคาอี 85 เข้ามาจูงใจให้มากขึ้นซึ่งการที่ครม.ลดภาษีสรรพสามิตอี 85 เหลือ 2.57 บาทต่อลิตรและหากมีการเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็คงจะทำให้ราคาอี 85 ถูกกว่าเบนซิน 95 มากกว่า 10 บาทต่อลิตร หรือถูกกว่าอี 20 ประมาณ 4-5 บาทต่อลิตรก็น่าจะจูงใจให้เกิดการใช้มากขึ้น แต่ส่วนโรงกลั่นอาจจะต้องลำบากเพราะการผสมน้ำมันชนิดดังกล่าวมีความยุ่งยาก

โรงกลั่นชี้กระทบยอดขายเบนซิน

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมบริษัท อัลลายแอนซ์ รีไฟน์นิ่ง จำกัด กล่าวว่า กรณีทีรัฐบาลจะให้นำเข้ารถยน์อี 85 เข้ามาจำหน่ายในไทยนั้นจะเกิดผลกระทบต่อกลุ่มโรงกลั่นแน่นอนเพราะจะต้องมองในเรื่องของการผสมว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด และอนาคตหากคนไทยใช้รถยนต์อี 85 มากขึ้น การใช้เบนซินในไทยก็จะลดลง ดังนั้นกลุ่มโรงกลั่นคงต้องปรับตัว ลงทุนปรับปรุงโรงกลั่นให้กลั่นดีเซลเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งต้องส่งออกเบนซินไปยังต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นผลกระทบระยะยาว เนื่องจากในเรื่องอี 85 ต้องใช้เวลาอีกสักพักจึงจะเป็นที่นิยมในไทยได้

ค่ายรถโล่งชี้ภาษีฯที่ลดยอมรับได้

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ภาษีรถ อี85ที่ออกมาเท่ากับอี 20 ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ค่ายรถรับได้เพราะจะไม่กระทบกับโครงสร้างทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากรัฐจะเจรจาให้รถยนต์ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากลหรืออีโคคาร์ปรับสเปกมาใช้อี 85 นั้นก็คงต้องพิจารณารายละเอียดและเงื่อนไขเพราะต้องยอมรับว่าแม้ว่าผู้บริโภคจะได้รับราคาอี 85 ที่ต่ำแต่การสูญเสียน้ำมันของอี 85 จะสูงกว่าเบนซิน 95 ประมาณ 25-30% ก็จะต้องดูว่าการสูญเสียครอบคลุมกับราคาน้ำมันที่ลดไปได้มากน้อยเพียงใด

“ผมคิดว่าให้อีโคคาร์เกิดไประยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยมาดูอี 85 ก็ได้และการปรับสเปกเองก็ต้องดูเงื่อนไขเพราะกำหนดไว้ว่าจะต้องใช้น้ำมันไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตรหากใช้อี 85 จะเป็นไปได้หรือไม่”นายศุภรัตน์ กล่าว

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการบริหารบริษัทเอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ยอมรับได้กับการลดภาษีฯดังกล่าวซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตได้เคยมองไว้ว่านโยบายรัฐจะไปถึงอี 85 เมื่อใดก็คาดคิดว่าคงจะเป็นอีก 2-3 ปีแต่เมื่อมาเร็วกว่าที่คาดก็เข้าใจว่าสถานการณ์น้ำมันที่วิกฤติไม่มีอะไรดีไปกว่าการหาทางเลือกในการพึ่งพิงพลังงานทดแทน ส่วนการที่รัฐอาจหารือในการปรับสเปกอีโคคาร์ก็คงไม่มีปัญหาที่จะรองรับอี 85 ได้ไม่ยากแต่เงื่อนไขอีโคคาร์เรื่องการประหยัดน้ำมันที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5 ลิตรต่อ100 กม.นั้นคงเป็นไปไม่ได้หากใช้อี -85
กำลังโหลดความคิดเห็น