ศูนย์ข่าวขอนแก่น-อุตสาหกรรมผลิตเอทานอล ยังลำบาก แม้ความต้องการใช้พลังงานทดแทนพุ่ง แต่ซัปพลายผลิตก็ยังล้นตลาด เหตุรัฐไม่กล้าฟันธงเลิกขายเบนซิน 95 ขณะที่ต้นทุนผลิตสูง แต่ราคารับซื้อต่ำ เหตุผู้ค้าน้ำมันอิงประเทศบราซิลกดราคาซื้อแค่ 16 บาท/ลิตรไม่จูงใจผลิต เผยหลายโรงงานเริ่มลดกำลังผลิตหวั่นกระทบยุทธศาสตร์ใช้พลังงานทดแทนลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศพลาดเป้า จี้รัฐเลิกขายเบนซิน 95 ดันความต้องการใช้ทันทีกว่า 8 แสนลิตร/วัน พร้อมทบทวนโครงสร้างราคาจูงใจให้เกิดการผลิต
สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ราคาน้ำมันดิบสูงกว่า 120 ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรล ผลักดันราคาน้ำมันในประเทศไทยพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน 91 ราคาเฉียดลิตรละ 37 บาทแล้ว พลังงานทดแทนมีส่วนสำคัญอย่างมาก ทั้งเชื้อเพลิงก๊าซเอ็นจีวี น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ผู้ใช้น้ำมัน
แม้ภาพการใช้พลังงานทดแทนโดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ ปรากฏออกมาว่า ผู้ใช้รถยนต์ให้การยอมรับสูง แต่ในด้านการผลิตเอทานอล วัตถุดิบที่นำมาผสมกับน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ ผู้ผลิตเอทานอลยังประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งในแง่ของราคารับซื้อเอทานอลที่ผู้ผลิตน้ำมันตั้งราคาไว้ต่ำ ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น จนถึงนโยบายส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ของภาครัฐ ยังไม่ชัดเจนนัก
รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผย “ผู้จัดการรายวัน” ถึงอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลว่า สถานการณ์การลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล ณ ปัจจุบัน กำลังประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะโรงงานเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากราคารับซื้อหัวมันสำปะหลังสด เคลื่อนไหวอยู่ในระดับมากกว่า 2.50 บาท/กิโลกรัมแล้ว จากเดิมที่เคยซื้อผลผลิตประมาณ 1 บาท/กิโลกรัม
ต้นทุนการผลิตเอทานอลต่อลิตร เฉพาะต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้นไปถึง 13.88 บาท/ลิตร เมื่อร่วมกับค่าการผลิตเอทานอลที่ 6.20 บาท/ลิตร ทำให้ต้นทุนผลิตเอทานอลต่อลิตรอยู่ที่ระดับ 20.08 บาท/ลิตร
ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในประเทศ ตั้งราคารับซื้อไว้ต่ำ โดยอ้างอิงราคาซื้อ-ขายเอทานอลของประเทศบราซิล ผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของโลก ที่มีศักยภาพการผลิตเอทานอลสูง มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้ราคารับซื้อเอทานอลต่ำกว่าแหล่งอื่นทั่วโลก โดยราคารับซื้อเอทานอล ล่าสุดอยู่ที่ 16 บาท/ลิตร สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่สูงมาก ไม่จูงใจให้เกิดการผลิตเอทานอลในเชิงอุตสาหกรรม
อีกทั้งปริมาณการรับซื้อเอทานอล ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐตั้งไว้ แม้ว่าแก๊สโซฮอล์จะมีกระแสตอบรับสูงมากในช่วงที่น้ำมันราคาแพง โดยปริมาณความต้องการใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ ประมาณวันละ 4 แสนลิตร/วัน ขณะที่ปริมาณการผลิตจากโรงงานเอทานอล 8 โรงงานทั่วประเทศประมาณวันละ 8-9 แสนลิตร/วัน จึงมีเอทานอลที่ใช้ไม่หมดจำนวนมาก จนไม่สามารถสต๊อกไว้ได้อีก
แม้ราคาน้ำมันดิบจะพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ราคารับซื้อเอทานอล ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ในประเทศ ยังกดราคาซื้อไว้ ไม่ยอมปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน โดยราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ย่อมส่งผลต่อรายได้และผลกำไรผู้ค้าน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นด้วย แตกต่างกับอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลยังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคารับซื้อ
ยกเหตุไม่เลิกขายเบนซิน95กระดูกชิ้นโต
รศ.ดร.ประสิทธิ์กล่าวต่อว่า ปัญหาหลักคือ นโยบายของรัฐบาล ไม่กล้าฟันธงยกเลิกจำหน่ายเบนซิน 95 ทั้งที่เคยประกาศว่าจะยกเลิกจำหน่ายมาตั้งแต่ต้นปี 2550 โดยยอดขายเบนซิน 95 มียอดขายสูงถึง 8 ล้านลิตร/วัน หากมีการยกเลิกขายเบนซิน 95 เปลี่ยนใช้แก๊สโซฮอล์ 95 แทน จะทำให้เกิดความต้องการเอทานอลสูงถึง 8 แสนลิตร/วัน ยังไม่รวมการใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 เชื่อว่าจะดูดซับเอทานอลส่วนเกินได้หมด ไม่เกิดภาวะล้นตลาดต่อไป
นอกจากนี้ ราคารับซื้อที่รัฐใช้ราคาอ้างอิงราคาซื้อขายเอทานอลที่ประเทศบราซิล ไม่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลในประเทศไทย เพราะบราซิลมีศักยภาพการผลิตที่สูงกว่าไทยมาก ต้นทุนการผลิตเอทานอลต่อหน่วยจึงต่ำกว่าไทย การที่ผู้ค้าน้ำมันใช้ราคาซื้อขายเอทานอลที่บราซิล เป็นราคารับซื้อเอทานอล จึงไม่จูงใจให้เกิดการผลิตเอทานอลในเชิงอุตสาหกรรมนัก
“สถานการณ์ในอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล ล่าสุดผู้ผลิตเอทานอลหลายบริษัท กำลังลดกำลังผลิตลงมาให้สอดคล้องต่อความต้องการ ซึ่งการลดกำลังผลิตไม่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมผลิตเอทานอล เป็นการผลิตไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอีก หากปัจจัยที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รับการแก้ไข เชื่อว่าทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลต่อไปคงลำบาก”รศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า
ยุทธศาสตร์ใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล ซึ่งปัจจุบันขยายสัดส่วนผสมเอทานอลไปที่ร้อยละ 20 แล้ว และในอนาคตจะขยายสัดส่วนผสมเอทานอลในเบนซินสูงถึงร้อยละ 85 ช่วยประเทศชาติลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศลงได้อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
อย่างไรก็ตาม หากไม่แก้ไขในทิศทางที่ดีขึ้น ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานทดแทนอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย น่าจะส่งผลกระทบถึงโรงงานผลิตที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวนมาก โดยปี 2551 มีประมาณ 3-4 โรงงานจะก่อสร้างเสร็จ อาจจะชะลอเดินเครื่องผลิตออกไปไม่มีกำหนด เป้าหมายสูงสุดการใช้เอทานอลให้ถึง 4 ล้านลิตร/วัน เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันคงไม่ได้ตามเป้าหมายนั้น
"รัฐบาลควรทบทวนแผนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ให้สามารถอยู่รอดได้ทั้งระบบ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจ ยกเลิกจำหน่ายเบนซิน 95 ทันที จะเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการใช้พลังงานทดแทน และเกิดความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นทันทีกว่า 8 แสนลิตร/วัน"
ประเด็นสำคัญโครงสร้างราคา ไม่ควรอิงราคาซื้อขายเอทานอลประเทศบราซิลมาใช้ น่าจะมีการอ้างอิงกับราคาน้ำมันเบนซิน ขึ้น-ลงตามราคาเบนซิน โดยผู้ผลิตเอทานอล ผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมัน ควรหารือในรายละเอียดพิจารณาราคาซื้อขายเอทานอลร่วมกัน น่าจะเป็นทางออกที่ดี แม้ว่าราคาซื้อขายเอทานอลจะสูงกว่าประเทศบราซิล แต่ก็เชื่อว่าผลประโยชน์น่าจะตกไปถึงมือเกษตรกรผู้ปลูกพืชวัตถุดิบด้วย
ทั้งนี้อุตสาหกรรมผลิตเอทานอล เป็นอุตสาหกรรมใหม่ ระยะเริ่มต้นควรได้รับการสนับสนุนที่ดีจากรัฐ เชื่อว่าหากผู้ผลิตมีประสบการณ์และเกิดความเข้มแข็ง โอกาสที่ไทยจะพัฒนาไปสู่การผลิตเอทานอล เพื่อการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศมีสูงมาก โดยเฉพาะในตลาดแถบเอเชียและประเทศเพื่อนบ้าน ที่ต้องการใช้พลังงานทดแทนเช่นกัน ไทยน่าจะได้เปรียบในแง่การขนส่งที่ต่ำกว่า
อนึ่งการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำแผนการผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของไทย ระหว่างปี 2547-2554 มีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลทั้งสิ้น 23 บริษัท 25 โรงงาน เป้าหมายกำลังการผลิตรวมสูงสุดทั้งสิ้น 4,060,000 ลิตร/วัน ภายในปี 2549