สสวท.ฉลองครบ 36 ปี จัดแข่งใช้โปรแกรม GSP เปลี่ยนคณิตศาสตร์ "วิชานามธรรม" ให้เป็นรูปธรรม ระบุซื้อลิขสิทธิ์จากอเมริกา เพื่อเผยแพร่ตามโรงเรียนทั่วประเทศ ช่วยกระตุ้นความสนใจคณิตศาสตร์ได้มากขึ้น ด้านนักเรียนเผย โปรแกรมสำเร็จรูปช่วยให้เห็นภาพคณิตศาสตร์ได้ง่ายขึ้น
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดงานสถาปนา สสวท. เนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปี ณ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 15 ม.ค.52 โดยมี รศ.ดร.ชชัย สุมิตร ประธานกรรมการ สสวท.เป็นประธานเปิดงาน และภายในงาน ยังได้มอบรางวัลการประกวดผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม GSP (The Geometer's Sketchpad) ซึ่งจัดการประกวดขึ้นระหว่างวันที่ 9-14 ม.ค.52
สำหรับโปรแกรม GSP นั้น ดร.สุพัตรา ผาติวิสันติ์ หัวหน้าสาขาคณิตศาสตร์มัธยมศึกษา สสวท. กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ว่า เป็นโปรแกรมที่ช่วยสร้างรูปทางด้านเรขาคณิต และเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นความสนใจทางด้านคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียน ซึ่งทาง สสวท.ได้ซื้อลิขสิทธิ์แล้วแปลเป็นภาษาไทยเพื่อเผยแพร่ให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ และเพื่อให้ครูนำไปใช้สอนให้เด็กนักเรียนสนใจและเป็นตัวอย่างที่ดี
"GSP เป็นโปรแกรมที่เข้าใจง่าย ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เด็กสนใจคณิตศาสตร์ ทั้งนี้ปัจจุบัน คนเลือกศึกษาต่อทางด้านคณิตศาสตร์ในระดับปริญญาตรีน้อยลง และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำลง สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ ช่วยให้เด็กได้แสดงความสามารถทางคณิตศาสตร์ แม้ว่าเด็กจะหวังรางวัลจากการประกวดแต่ลึกๆ แล้วก็มีความสนใจในคณิตศาสตร์ด้วย" ดร.สุพัตรากล่าว พร้อมระบุด้วยว่านอกจากใช้โปรแกรมนี้สอนคณิตศาสตร์แล้ว ยังประยุกต์ใช้เพื่อการสอนวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ ได้ด้วย
สำหรับเหตุผลที่เลือกซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรม GSP หัวหน้าสาขาคณิตศาสตร์มัธยม สสวท.ระบุว่า เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่ใช้งานง่าย และมีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกกว่า 30 ประเทศมากว่า 7 ปีแล้ว ทั้งนี้ยังมีดปรแกรมอื่นๆ ที่คล้ายกัน แต่โปรแกรมนี้สามารถใช้งานได้กว้างกว่าและประยุกต์ใช้งานกับวิชาวิทยาศาสตร์ได้
ด้านนายศุภโชค ไชยนาเคนทร์ และ น.ส.ขวัญใจ แซ่หว่อง นักเรียนชั้น ม.ปลาย โรงเรียนสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับเหรียญเงินระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากการแข่งขันประกวดผลงานทางคณิตศาสตร์ด้วยโปรแกรม GSP ในโอกาสครบ 36 ปี สสวท.เผยถึงการแข่งขันกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ในการสอบแบ่งเนื้อหาเป็นเรื่องตรีโกณมิติและฟังก์ชัน และมีโจทย์กหนดให้ออกแบบบัตร ส.ค.ส.โดยใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ออกแบบผ่านโปรแกรมนี้ ทั้งนี้โปรแกรมเป็นเหมือนเครื่องช่วยทางคณิตศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่ใช้คำนวณเพื่อหาคำตอบ แต่ยังช่วยให้เห็นภาพได้มากขึ้น
"เรารู้จักโปรแกรมนี้มา 2-3 ปีแล้ว โดยโรงเรียนได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปสอน และเราเป็นนักเรียนในโครงการส่งเสริมความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์จึงได้รับการส่งเสริมให้ใช้โปรแกรมนี้ด้วย แต่นักเรียนคนอื่นๆ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน สำหรับโจทย์ที่กำหนดให้ออกแบบ ส.ค.ส.นั้น เราออกแบบภาพธงชาติไทยเป็นพื้นหลังและมีภาพคนจับมือกัน ซึ่งการสร้างภาพให้สวยงามและมีเสถียรภาพ ต้องอาศัยความรู้ทางคณิตศาสตร์ด้วย" 2 นักเรียนรางวัลเหรียญเงินอธิบาย
ส่วนนายนพกร ใช้บุญเรือง และนายภรัณย์ กองรอด สองหนุ่มเจ้าของเหรียญทองระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการบางใหญ่ จ.นนทบุรี กล่าวถึงการแข่งขันที่เพิ่งผ่านพ้นว่า ผู้เข้าประกวดทั้งหมดทำผลงานของได้ค่อนข้างสูสีกัน แต่จุดชี้ขาดผลแพ้-ชนะ น่าจะเป็นข้อสอบเกี่ยวกับเรื่องฟังก์ชัน ซึ่งทีมของเขาทั้งสองทำผิดพลาดน้อยกว่าทีมอื่น
"โปรแกรม GSP เป็นโปรแกรมที่แปลงนามธรรมเป็นรูปธรรม มีความแม่นยำมากขึ้น และตอนนี้เราเรียนเรื่อง "ภาคตัดกรวย" ซึ่งโปรแกรม GSP ช่วยได้มาก ทำให้เราเห็นภาพของกราฟ ทำให้รูปทรงเรขาคณิตเคลื่อนไหวได้ มีชีวิตและทำให้เราสนุกกับมัน และการเรียนระดับ ม.ปลายได้ใช้ประโยชน์จากโปรแกรมนี้เยอะ" นายนพกรกล่าว
สำหรับผลประกวดผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม GSP เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนาสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนดลยีครบรอบ 36 ปี ได้แก่
- ระดับประถมศึกษา
รางวัลชนะเลิศและรางวัลเหรียญทอง คือ ด.ญ.สิรญาณ์ วงษาไฮ และ ด.ญ.มินตรา เทเวลา จากโรงเรียนเมืองวาปีปทุม
รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลเหรียญเงิน คือ ด.ช.นิธิศ หงษ์ทอง และ ด.ช.ชัชชล พรหมสนิท จากโรงเรียนมานิตานุเคราะห์ จ.สุราษฎร์ธานี
รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลเหรียญเงิน คือ ด.ญ.ชลณัฐ วงค์สถาน และ ด.ญ.อรพรรณ ใคร้มูล จากโรงเรียนดาราวิทยาลัย จ.เชียงใหม่
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
รางวัลชนะเลิศและรางวัลเหรียญทอง คือ ด.ช.ชยณัฐ พานิช และ ด.ญ.ณิชกานต์ ศุภภัทราชัย จากโรงเรียนสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี
รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลเหรียญเงิน คือ ด.ช.อภิสิทธิ์ คันธิก และ ด.ญ.วรรณวิษา ชุมแสง จากโรงเรียนศรียาภัย จ.ชุมพร
รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลเหรียญเงิน คือ ด.ช.ทศพล ศิริวัฒน์ และ ด.ช.รณกฤต ภูมิวัฒนรุ่งโรจน์ จากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
รางวัลชนะเลิศและรางวัลเหรียญทอง คือ นายนพกร ใช้บุญเรือง และนายภรัณย์ กองรอด จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการบางใหญ่ จ.นนทบุรี
รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลเหรียญเงิน คือ นายศุภโชค ไชยนาเคนทร์ และ น.ส.ขวัญใจ แซ่หว่อง จากโรงเรียนสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี
รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลเหรียญเงิน คือ นายอริยวัฒน์ ชนบดีเฉลิมรุ่ง และคณินท์ พืชมาก จากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยคม จ.พิษณุโลก
ปัจจุบัน สสวท.มีศูนย์อบรมเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม GSP ท้งหมด 41 แห่งทั่วประเทศ โดยมีศูนย์ภูมิภาค 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ จ.เชียงใหม่ ศูนย์โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น ศูนย์โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี ศูนย์โรงเรียนธัญรัตน์ จ.ปทุมธานี และศูนย์โรงเรียนสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี