xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.มั่นใจหลักฐานทุจริตกล้ายาง17 ส.ค.ลุ้นศาลพิพากษาโทษ"เนวิน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ป.ป.ช. ยื่นแถลงปิดคดีทุจริตกล้ายาง รอลุ้นศาลคำพิพากษา 17 ส.ค.นี้ ทนาย ป.ป.ช.มั่นใจหลักฐานทุจริตทางนโยบาย ที่นำเข้าไต่สวน เพียงพอที่จะให้ศาลวินิจฉัยลงโทษได้ ขณะที่ทนายจำเลย มั่นใจทำตามกฎหมายและไม่มีเจตนาทุจริต

วานนี้(11 ส.ค.)นายเจษฎา อนุจารีย์ ทนายความของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)รับผิดชอบคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท กล่าวถึงการยื่นคำแถลงปิดคดีที่ครบกำหนดยื่นในวันที่ 11 ส.ค.2552 ว่าฝ่าย ป.ป.ช. โจทก์ ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ความยาว 45 หน้า ซึ่งมีเนื้อสรุปเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยแยกแต่ละกลุ่ม คือ กลุ่มรัฐมนตรีผู้ริเริ่มโครงการ ซึ่งคดีนี้ยื่นฟ้อง นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการแทน รมว.เกษตรฯ ขณะเกิดเหตุ เป็นผู้ริเริ่มโครงการ

โดย ป.ป.ช. โจทก์ ยืนยันว่า การดำเนินโครงการนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจเอกชน ซึ่งการทุจริตมีลักษณะเป็นการทุจริตทางนโยบาย ที่มีการออกฎหมาย และแก้ไขกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มเอกชนฮั้วประมูล ส่วนกลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรี และข้าราชการ ร่วมเป็นกรรมการฯนั้น ป.ป.ช. ยืนยันว่า คชก. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และการที่ คชก. มีมติให้นำเงินกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรไปใช้ในการซื้อยางเพื่อแจกให้เกษตรกรในการปลูกยางนั้น เป็นเรื่องที่ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2543 ข้อ 19 (5) เพราะการมีมติดังกล่าว ไม่ใช่การนำเงินไปใช้เป็นครั้งคราวหรือเป็นการหมุนเวียน แต่เป็นการนำไปสนับสนุนตลอดโครงการ

นายเจษฎา ทนายความ ป.ป.ช. กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องก็มั่นใจว่าพยานหลักฐานที่นำเข้าไต่สวนต่อศาล ซึ่งเป็นไปตามสำนวนการสอบสวน และการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) เพียงพอที่จะให้ศาลวินิจฉัยพิพากษาลงโทษได้ ซึ่งการฟ้องเห็นว่า การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นการทุจริตทางนโยบาย ที่มีลักษณะแตกต่างจากการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองในอดีต ที่จะเป็นการทุจริตจากการรับเปอร์เซ็นต์จากบริษัทเอกชน ที่ร่วมประมูลโครงการ ซึ่งจะตรวจสอบกันได้ตรง จากความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง และกลุ่มทุนธุรกิจ โดยหวังว่าการฟ้องคดีจะเป็นบรรทัดฐานต่อการปราบปรามการทุจริตต่อไป ซึ่งศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินอย่างไรถือเป็นดุลยพินิจ

นายเจษฎา กล่าวด้วยว่า สำหรับการยื่นแถลงปิดคดีของกลุ่มจำเลย โจทก์ ได้รับสำเนาคำแถลงปิดคดีของจำเลยมาแล้วบ้าง 2-3 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่กลุ่มรัฐมนตรี ซึ่งจำเลยยืนยันว่า ไม่ได้กระทำผิด และได้แสดงให้ศาลเห็นว่าในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เคยประกอบคุณงามความดีอะไรมาบ้างเพื่อให้ศาลจะพิจารณาประกอบ

ขณะที่แหล่งข่าวทนายความจำเลย รับผิดชอบคดีในส่วนกลุ่ม คชก. เปิดเผยว่า สำหรับกลุ่ม คชก.ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีไปแล้วเช่นกันโดยยืนยันว่า คชก. มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณจ่ายเงินสนับสนุนโครงการ และการมีมติ ของ คชก. เกี่ยวกับการนำเงินกองทุน ฯไปใช้นั้นชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด ส่วนปัญหาว่า คชก. จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหรือไม่ เป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลฎีกา ฯ จะใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกา ฯนัดฟังคำพิพากษาในวันจันทร์ที่ 17 ส.ค.นี้ เวลา 14.00 น. ซึ่งการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาล ก็จะมีเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาล และประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ มาเฝ้ารักษาการณ์เหมือนแนวทางปฏิบัติที่เคยทำมาในการนัดฟังคำพิพากษาคดีนักการเมืองอื่นๆ ที่เคยมีมา

คดีนี้ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คชก. ,นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะ คชก. , นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ , นายสรอรรถ กลิ่นปทุม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะ คชก. กับพวกรวม 44 คนประกอบด้วยกลุ่มคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อ ครม. คณะที่ 2 , กลุ่ม คชก. , กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการ ( กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคาซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ และกลุ่มบริษัทเอกชน ที่มี 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี , บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ประมวลกฎหมายอาญา ม.157 , เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151 , ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ประกอบ มาตรา 83 ,84 และ 86 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ( ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4,10 -14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11 กรณีร่วมกันทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท ของกรมวิชาการเกษตร
กำลังโหลดความคิดเห็น