xs
xsm
sm
md
lg

ทนายยัน”บิ๊กขรก.-เอกชน” ไม่ใช้เล่ห์ดึงคดีกล้ายาง “อดิศัย”ล่องหนฟังพิพากษาวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการ - ทนายจำเลยกลุ่ม คชก. - ทนาย ป.ป.ช. ปัดข่าวลือ กลุ่มข้าราชการ-เอกชนเตรียมใช้ช่องกฎหมายดึงเกม ขอเลื่อนตัดสินทุจริตจัดซื้อกล้ายางอีกรอบ ยันถึงนาทีนี้ยังไม่มีจำเลยคนใดขอเลื่อนนัด ส่วน “อดิศัย โพธารามิก” อดีต รมว.พาณิชย์ ที่ถูกหมายจับยังล่องหน หากเบี้ยวอีกศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังได้ทันทีตาม กม.พิจารณาคดีอาญานักการเมือง

วานนี้ ( 20 ก.ย.) นายธนากร แหวกวารี ทนายความจำเลยกลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ในคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท เปิดเผยว่า ในวันนี้ (21 ก.ย.) เวลา 14.00 น.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดอ่านคำพิพากษาครั้งที่สอง หลังต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาจากวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น โดยจำเลยกลุ่ม คชก.ทุกคนจะเดินทางไปฟังคำพิพากษาอย่างแน่นอน และจนถึงวันนี้ตนยังไม่ได้รับแจ้งจากจำเลยกลุ่มใดว่าจะยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษา

“ ที่มีข่าวลือกันว่าจะมีกลุ่มข้าราชการะดับอธิบดี และกลุ่มบริษัทเอกชน จะยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษานั้น ผมไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่เท่าที่ผมรู้ไม่น่าจะเป็นความจริง อย่างไรก็ดีหากจะมีจำเลยคนใดใช้สิทธิ์ยื่นคำร้องขอเลื่อน ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่ เนื่องจากในการเลื่อนนัดครั้งก่อนศาลได้กำชับแล้วให้จำเลยมาฟังคำพิพากษา”นายธนากรกล่าว

ด้านนายเจษฎา อนุจารีย์ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการสภาทนายความ ทนายความผู้รับผิดชอบคดีให้ ป.ป.ช. โจทก์ในคดีนี้กล่าวเช่นกันว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบข่าวว่าจะมีจำเลยกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดยื่นคำร้องขอเลื่อนอ่านคำพิพากษาอีก

**เผย “อดิศัย” ไม่มาไม่มีผล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบไปที่ศาลฎีกาฯ จนถึงวันศุกร์ที่ 18 ก.ย.ยังไม่ปรากฏว่ามีทนายความจำเลยมายื่นคำร้องขอเลื่อนนัด อย่างไรดีเนื่องจากศาลฎีกาฯ นัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้ 21 ก.ย.เวลา 14.00 น. จึงทำให้ยังมีเวลาที่ทนายความจะยื่นคำร้องขอเลื่อนได้ในช่วงเช้า ซึ่งการนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา นายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 5 ก็ให้ทนายความยื่นคำร้องให้อ่านคำพิพากษาลับหลัง โดยอ้างเหตุเดินทางไปรักษาอาการบาดเจ็บกระดูกสันหลัง ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยจงใจหลบเลี่ยงนัดฟังคำพิพากษาที่กำหนดนัดไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงให้ปรับนายประกัน 1 ล้านบาท และออกหมายจับมาฟังคำพิพากษา ดังนั้นหากนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ยังไม่ได้ตัวนายอดิศัย จำเลยที่ 5 มาฟังคำพิพากษา หลังจากออกหมายจับและเลื่อนอ่านคำพิพากษาแล้ว 1 เดือนโดยที่ไม่มีจำเลยคนใดขอเลื่อนอีก องค์คณะฯ สามารถอ่านคำพิพากษาได้ทันทีตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 32 วรรคสอง

ทั้งนี้ หลังจากที่ศาลออกหมายจับนายอดิศัยแล้ว ยังไม่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ติดตามจับตัวนายอดิศัย หรือมีรายงานว่านายอดิศัยจะเดินทางมาฟังคำพิพากษาหรือไม่ อย่างไรก็ดี หากมีจำเลยคนอื่นยื่นคำร้องขอเลื่อนอีกก็เป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่องค์คณะจะร่วมกันพิจารณาว่าจะออกหมายจับปรับนายประกันจำเลยนั้น และจะต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาอีกหรือไม่

**ลุ้นระทึก 44 รอดไม่รอด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีทุจริตจัดซื้อกล้ายาง ของกรมวิชาการเกษตรนั้น ป.ป.ช.ยื่นฟ้องจำเลย รวม 44 คน ประกอบด้วย 1.กลุ่ม คชก.ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คชก.เป็นจำเลยที่ 1, นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ที่ 2, นายสรอรรถ กลิ่นปทุม อดีต รมว.เกษตรฯ ที่ 3 และนายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ ที่ 5 ในฐานะกรรมการ คชก. และกลุ่มข้าราชการที่เป็นกรรมการ คชก. เป็นจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ที่โทษจำคุก 1-10 ปี หรือ ปรับ 2,000-20,000 บาท, เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใดๆ ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151 ที่มีโทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000-40,000 บาท

ส่วนนายเนวินอดีต รมช.เกษตรฯ ในฐานะผู้ริเริ่มรับผิดชอบโครงการ เป็นจำเลยที่ 4 ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 10, 13 และเป็น เจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ที่โทษจำคุก 1-10 ปี หรือ ปรับ 2,000-20,000 บาท ประกอบมาตรา 83

ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารโครงการ (กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา และบริษัทเอกชน ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคา, บริษัท รีสอร์ตแลนด์ จำกัด ผู้ร่วมเสนอราคา และบริษัทเอกเจริญ การเกษตร จำกัด ผู้ร่วมเสนอราคา ถูกฟ้องความผิด ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 10, 11, 12 ,13 และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ที่โทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท และผู้ใดหลอกลวงแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรแจ้ง เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และ 86
กำลังโหลดความคิดเห็น