xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาเลือก 9 องค์คณะพิพากษาคดีกล้ายางเชือด “สมคิด-เนวิน”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เลือก 7 หัวหน้าคณะ 1 พ.อาวุโส รับผิดชอบสำนวน “สมคิด-เนวิน” กับพวกทุจริตจัดซื้อกล้ายาง 90 ล้านต้น 1,440 ล้านบาท นัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ 6 ส.ค.นี้

วันนี้ (4 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ศาลฎีกา สนามหลวง นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเลือกตั้งองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คน เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.4/2551 ทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.), นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับพวกรวม 44 คน ประกอบด้วย กลุ่มคณะรัฐมนตรี (ครม.), กลุ่มคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อ ครม.คณะที่ 2, กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.), กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการ (กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารราผลประกวดราคาซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ และกลุ่มบริษัทเอกชนที่มี 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี, บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด

โดยการประชุมเลือกองค์คณะใช้วิธีลงคะแนนลับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 13 ซึ่งผลการลงคะแนนโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ได้รับเลือกมีรายชื่อเรียงตามลำดับคะแนนที่ได้รับเลือกดังนี้

1.นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 2.นายชาลี ทัพภวิมล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 3.นายเกษม วีรวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 4.นายสุรภพ ปัทมะสุคน ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 5.นายวิชา มั่นสกุล ผู้พิพากษาอ่วุโสในศาลฎีกา 6.นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 7.นายประทีป ปิติสันต์ ผู้พิหากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 8.นายรัตน กองแก้ว ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 9.นายจรัส พวงมนี ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ซึ่งนายจรัส เป็นหนึ่งในองค์คณะคดีหมายเลขดำ อม.2/2551 ทุจริตออกโฉนดที่ดินคลองด่านทับที่สาธารณะที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา อัศวเหม ประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน อดีต รมช.มหาดไทย เป็นจำเลยด้วย

องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 จะประชุมเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและพิจารณาคำฟ้องของ คตส.เพื่อมีคำสั่งรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องต่อไป ซึ่งศาลฎีกาฯ นัดฟังคำสั่งในวันที่ 6 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนี้ประธานศาลจะปิดประกาศรายชื่อองค์คณะผู้พิพากษาไว้ที่หน้าศาลฎีกาให้คู่ความทราบเพื่อยื่นคำร้องคัดค้านตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 4

ผู้สื่อข่าวรายงงานว่า คดีนี้ คตส.ยื่นฟ้องจำเลย 44 คน ประกอบด้วย รัฐมนตรีผู้ดำเนินโครงการ ได้แก่ นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรมช.เกษตรฯ, กลุ่ม คชก.ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คชก.ที่อนุมัติการใช้เงิน, กลุ่มข้าราชการที่เป็นคณะกรรมการบริหารโครงการ (กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา, กลุ่มเอกชน 18 ราย แยกเป็นนิติบุคคลบริษัท 3 แห่ง และกรรมการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ , บจก.รีสอร์ทแลนด์ และ บจก.เอกเจริญการเกษตร จำนวน 15 ราย ข้อหาเป็น เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ที่โทษจำคุก 1-10 ปี หรือ ปรับ 2,000-20,000 บาท, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151 ที่มีโทษจำคุก 5- 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000-40,000 บาท , ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท ประกอบ มาตรา 83, 84 และ 86 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 10-14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11
กำลังโหลดความคิดเห็น