xs
xsm
sm
md
lg

ลึกแต่ไม่ลับ 8:1 ใครชี้ ‘เนวิน’ ทุจริตกล้ายาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน โดย แสงตะวัน

คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้อง “44 จำเลย” คดีทุจริตจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้นมูลค่า 1,440 ล้านบาท “10 มติ 10 ประเด็น” ที่ศาลพิพากษายกฟ้องให้กับจำเลยคดีนี้

มติที่ 1 ประเด็นเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์
ผู้ริเริ่มโครงการกล้ายางไม่ผิด...!?!

ดูจะเป็นมติคำพิพากษาที่ฮือฮามาตลอด 1 เดือนหลังจากศาลต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาในนัดแรกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมออกมาเป็นวันที่ 21 กันยายน เพราะเลขที่ออกตรงเผงมติ 8 ต่อ 1 เสียงเห็นว่า เนวินไม่มีความผิดจริงๆ

ใครเป็นใครใน 8 ต่อ 1 เสียง

เสียงผู้พิพากษาข้างน้อยเพียงหนึ่งเดียว คนนั้นคือ

มนัส เหลืองประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกมาเป็นองค์คณะแทน ประทีป ปิติสันต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาที่ออกจากองค์คณะไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสศาลอื่นที่มิใช่ศาลฎีกา

ส่วนองค์คณะที่เหลือ 8 เสียงซึ่งโหวตให้เนวินรอด ประกอบด้วย บุญรอด ตันประเสริฐ ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา (เจ้าของสำนวน) ชาลี ทัพภวิมล เกษม วีรวงศ์ สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ พรเพชร วิชิตชลชัย รัตน กองแก้ว ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา วิชา มั่นสกุล และจรัส พวงมณี ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา

มติ 8 ต่อ 1 เสียงยกฟ้องเนวิน ดูจะเป็นเครื่องตอกย้ำว่า เป็นเล่ห์ของ “เสื้อน้ำเงิน” ที่หาทางเจาะความลับ

นับตั้งแต่เลือกให้ อดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ มอบทนายความยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษาโดยอ้างกำลังรักษาตัวอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อให้ศาลต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ออกไปอีก 1 เดือน ทั้งนี้การมายื่นคำร้องขอเลื่อนในวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษามี เจตนา จะให้องค์คณะผู้พิพากษาประชุมเพื่อลงมติคำพิพากษา

เพราะนักกฎหมายทุกคนที่อ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็นทราบดีว่า ตามวิธีพิจารณาคดีของศาลนั้น เมื่อนัดคู่ความฟังคำพิพากษาแล้วศาลจะต้องทำคำพิพากษาให้เสร็จพร้อมอ่าน แม้ในวันนัดอ่านเกิดมีเหตุให้ต้องเลื่อนการอ่านออกไปก็ตาม

การเจตนาให้ศาลประชุมแต่อ่านไม่ได้ จึงย่อมมีเป้าประสงค์ให้มติออก และแสวงโอกาสเจาะคำพิพากษาและดูจะสมประสงค์ เพราะยังไม่ทันพ้น 24 ชม.หลังเลื่อนคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม มติ 8ต่อ1
ก็กระหึ่มเมือง แบบสั่งโต๊ะจีนเลี้ยงล่วงหน้าค่ำวันที่ 21 กันยายน

หากจะปฏิเสธว่า 8 ต่อ 1 เป็นการเดา ก็ต้องบอกว่าเก่งกล้าสามารถโดยแท้...แน่หรือ!! เพราะปกติการคาดเดาคำพิพากษาของศาลยุติธรรมฟันธงกันได้อย่างเก่ง “ยกฟ้อง” หรือ “จำคุก” เพราะไม่ใช่ตุลาการในระบบศาลรัฐธรรมนูญที่มติหลุดกันประจำ

ผลคดีทุจริตกล้ายาง จึงนับเป็นเรื่องท้าทายการตรวจสอบหา “รูรั่วในรั้วศาลฎีกา” เพราะอย่างน้อยในประวัติศาสตร์ศาลยุติธรรม เคยมีผู้พิพากษาศาลฎีกาถูกสอบสวนและโดนไล่ออกจากราชการเพราะจงใจให้ “คำพิพากษาศาลฎีการั่ว” มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ท่าทีจำเลยยกเข่ง 43 คนเดินทางมาฟังคำพิพากษานัดแรกในวันที่ 17 สิงหาคม มันก็สะท้อนให้เห็นว่า ความจริงแล้วคำพิพากษายกฟ้องแบบนี้จำเลยทราบมาก่อนวันที่ 17 สิงหาคม หรือไม่ ?
เพราะเป็นเรื่องผิดปกติมากที่จำเลยพร้อมเพรียงกันเดินทางมาฟังคำพิพากษาโดยไม่หนีตั้งหลัก !! และในวันที่
21 กันยายน ทั้งหมดก็ยังคงมาพร้อมเพรียงกันโดยไม่มีใครลูกเล่นยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษา ซึ่งนั้นก็ยิ่งทำให้แน่ชัดในผลคำพิพากษามากเข้าไปอีก ...


ปรากฏการณ์นี้ จึงทำให้น่าใจหายในความน่าเชื่อถือแก่สังคมไทย

กลับมาที่การลงมติ ในคดีนี้ยังมีอีก1ประเด็นน่าสนใจ นั่นคือ การลงความเห็นว่า เนวินและ “ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรไม่มีความผิดฐานร่วมกันชงโครงการกล้ายางฯ ขัดกฎหมาย โดยประเด็นนี้องค์คณะผู้พิพากษามีมติ 7 ต่อ 2 เสียง

สำหรับเสียงข้างน้อยชัดเจนว่าเป็น มนัส เหลืองประเสริฐ เพราะยืนหยัดว่าเนวินผิด อีกท่านหนึ่งคือ พรเพชร วิชิตชลชัย โดยสองผู้พิพากษาเห็นว่า อธิบดีฉกรรจ์เป็นผู้ก่อหรือชงโครงการให้เนวินใช้เงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง และเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมาหมุนซื้อต้นกล้ายางฯ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) คนไต่สวนคดีนี้มองว่า ขัดกฎหมายกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง

แต่ผลอย่างที่เห็น 2 เสียงข้างน้อยย่อมพ่ายเสียงข้างมาก

สำหรับประเด็นที่ยังคลางแคลงใจ คือ หลักฐาน คตส.พบการถือหุ้นไขว้ของบริษัทผู้เข้าประกวดราคา ซึ่งประกอบด้วย บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ผู้ชนะ บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรรมการบางคนในสามบริษัทถือหุ้นไขว้กัน แต่ศาลไม่รับฟังว่าผิดเพราะเชื่อตามความเห็นของอัยการสูงสุดและกรมบัญชีกลางที่ตีความแล้วว่า การถือหุ้นไม่ถึง 25% ผู้ถือหุ้นนั้นไม่สามารถครอบงำบริษัทได้ ? ความหมายคือ มีการถือหุ้นไขว้จริง แต่ไม่ส่งผลอะไร...

ประเด็นอีกหลายประเด็นที่น่าศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่คิดจะเข้าประมูลกับหน่วยงานของรัฐ ห้ามพลาดในการเรียนรู้พฤติกรรมหากพวกท่านที่มี หุ้นไขว้ คิดจะร่วมกันเข้าประมูลต้องทำอย่างไรถึงจะรอดพ้นคดีความ...อย่างเป็นเอกฉันท์เหมือนคดีทุจริตกล้ายาง

อยากรู้ต้องรอคลิกเข้าไปโหลดอ่านรายละเอียดคำพิพากษาในเว็บไซต์ศาลฎีกา ซึ่งมีคำพิพากษาส่วนตนทั้ง 9 คนให้ดูดุลพินิจว่าที่เห็นเหมือนกันนั้นมีถ้อยความอย่างไร

แถมท้ายไม่เกี่ยวกับคดีทุจริตกล้ายาง แต่เป็นผลสืบเนื่องคดีทุจริตสลากเลขท้าย 2 และ 3 ตัวหรือหวยบนดิน 30 กันยายนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษา คดีหวยบนดินมีความคล้ายคดีทุจริตกล้ายางตรงที่มี “จำเลย” ยกเข่ง และเข่งใหญ่กว่าเพราะมี 47 คนและมี นช.(พ.ต.ท.)ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีตกเป็นจำเลยหมายเลข 1

วงในใกล้ชิดองค์คณะคดีทุจริตกล้ายาง พูดลอยมาให้ฟังประโยคหนึ่งน่าคิด

“สำนวนการไต่สวนสะท้อนให้เห็นว่า คตส.จินตนาการในการโยงความผิด”

ทั้งนี้ คดีทุจริตกล้ายาง จำเลย 44 คน ทุกคนมีส่วนกับการประมูลกล้ายางมากบ้างน้อยบ้างต่างกัน แต่ คตส.รวบตึงมาให้ศาลลงโทษในอัตราเดียวกัน แล้วถ้าหากศาลฎีกาฯ องค์คณะคดีหวยบนดินเกิดมีหลักพิเคราะห์ข้อเท็จจริงผลการไต่สวน คตส.ไม่ต่างจากคดีทุจริตกล้ายางฯ เล่าอะไรจะเกิดขึ้น

นี่ยังไม่นับรวมว่าคงจะมีจำเลยคดีหวยบนดินบางคนลองเหลี่ยมเดียวกับ อดิศัย โพธารามิก ยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษาในวันประชุมลงมติทำคำพิพากษา 30 กันยายน เพื่อให้องค์คณะผู้พิพากษาลงมติแต่อ่านไม่ได้และต้องเลื่อนออกไป 1 เดือน

เพื่อหวังจะโปรยแป้งขูดเสาศาลฎีกาหาเลขที่ออกในคดีหวยกันให้สนั่นเมือง ซ้ำรอยเดิมทุจริตกล้ายาง
เนวิน ชิดชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น