ผู้พิพากษาแจงความหมายถ้อยคำ ม.237 วรรค 2 ใน รธน. ชี้ชัดไม่จำเป็นต้องพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยแบบคดีอาญา กรรมการบริหารคนใดทำผิดเท่ากับผิดยกพรรค พร้อมระบุ “ให้ถือว่า” เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด สรุปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แนะ 2 สภาคิดเอาเอง แก้ กม.ล้างความผิดย้อนหลังเหมาะสมหรือไม่
มาตรา 237 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำลังตกเป็นเป้าหมายที่พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลจะขอแก้ไข เพื่อให้พรรคการเมืองที่มีกรรมการบริหารถูกใบแดงรอดพ้นจากโทษยุบพรรค
เนื้อความของ มาตรา 237 ทั้งมาตรา มีอยู่ว่า “ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
“ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง”
จะเห็นว่า ในมาตราดังกล่าว โดยเฉพาะในวรรค 2 มีถ้อยคำซึ่งเป็นที่ถกเถียงและจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนอยู่หลายถ้อยคำ เรื่องนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ให้สัมภาษณ์นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ทางรายการ “รู้ทันประเทศไทย” ออกอากาศทาง เอเอสทีวี เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ถึงความหมายของถ้อยคำใน มาตรา 237 วรรค 2 ว่า ข้อความ “...ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า.” นั้น หมายความว่า มีหลักฐานพอสมควร ไม่ถึงกับต้องพิสูจน์จนปราศจากความสงสัยเหมือนกับคดีอาญา คือในคดีอาญา การพิสูจน์ความผิดของผู้กระทำผิดต้องพิสูจน์โดยปราศจากสงสัย แต่ข้อความนี้ แสดงให้เห็นว่าระดับของความเชื่อนั้นน้อยกว่าในคดีอาญา
“อันนี้ไม่ถือว่าเป็นอาญา ถ้าเป็นคดีอาญา กฎหมายที่จะเอาคนเข้าคุกหรือประหารชีวิต จะใช้หลักการนี้ไม่ถูกต้องกับหลักสากล คดีนี้ไม่มีการเข้าคุก ไม่มีการประหารชีวิต เป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่า ต้องการระดับการพิสูจน์ที่ต่ำกว่าคดีอาญา”นายพรเพชรกล่าว
ส่วนข้อความ “...หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น.” นั้น คำว่า “...กรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด.” หมายความว่า กรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งคนใดก็ได้ ถ้ากรรมการบริหารคนอื่นบอกไม่รู้ ก็บอกได้ แต่ตามเงื่อนไขนี้ กรรมการคนหนึ่งคนใดทำผิดก็เข้าองค์ประกอบความผิดตามวรรคแรกแล้ว คนอื่นบอกไม่รู้เรื่อง ก็เป็นเรื่องของคนอื่นเขา
ถ้าหากตีความว่า “กรรมการบริหารพรรคผู้ใด” หมายความว่า ต้องเป็นกรรมการบริหารพรรคผู้อื่นที่ไม่ใช่คนเดียวกับคนที่ทำผิด นายพรเพชร กล่าวว่า ตนไม่มั่นใจว่าจะตีความอย่างนั้นได้หรือไม่ แต่ความหมายตามที่ตนเข้าใจคือ กรรมการบริหารคนหนึ่งคนใดก็ได้ถ้ากระทำผิดเองก็เข้าข่ายนี้
สำหรับคำว่า “ให้ถือว่า” ที่ปรากฏในมาตรา 237 วรรค 2 นั้น หมายถึงการพิสูจน์ข้อเท็จจริงหนึ่งข้อเท็จจริงใด หากการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้นทำได้ยาก ยกตัวอย่าง บุคคลที่ตกอยู่ในภยันตรายร่วมกัน เช่นเครื่องบนตก กฎหมายให้สันนิษฐานว่า บุคคลเหล่านั้นตายพร้อมกัน เพื่อขจัดปัญหา
แต่คำว่า “ให้ถือว่า” รุนแรงกว่า คือหมายความว่า เมื่อพิสูจน์ข้อเท็จริง Aได้ ผลก็จะเป็นข้อเท็จจริง B ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ บัญญัติว่า ผู้ใดครอบครองยาเสพติดให้โทษ จำนวนน้ำหนักของสารบริสุทธิ์สมมุติว่า 20 กรัมขึ้นไป ให้ถือว่าบุคคลนั้นมียาเสพติดจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
“จริงๆ เขาอาจจะมียาเสพติดจำนวนมากเพื่อไว้เสพเองก็ได้ แต่กฎหมายเขียนไว้ชัดเลยบอกว่า ถ้ามีถึงจำนวนมากขนาดนี้ 20 กรัมขึ้นไป ให้ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งมีโทษแรงกว่า ก็เพราะเห็นว่าพิสูจน์ยาก ก็เลยพิสูจน์แต่เพียงว่าเขามียาเสพติดไว้จำนวนเท่านี้ 20 กรัม กฎหมายจะถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่ายเลย จะนำสืบเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นไม่ได้ ต้องถือเป็นอย่างนั้น เป็นยุติ”
นายพรเพชร กล่าวต่อว่า ข้อความดังกล่าวนี้ มีปรากฏในหลักกฎหมายทั่วไป มีใช้อยู่ในกฎหมายทุกประเภท คำว่า “...ให้ถือว่า.” ภาษากฎหมายเรียกว่าเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด หมายความว่าต้องฟังยุติเป็นอย่างนั้น คือเมื่อพิสูจน์ข้อเท็จริง A ได้แล้ว ต้องฟังว่าข้อเท็จจริง B เกิดขึ้น เป็นหลักกฎหมายทั่วไป คำพิพากษาต่างๆ หรือศาลก็ยึดเป็นหลักอย่างนี้
“ยกตัวอย่างการกระทำผิดในอากาศยานของไทย หรือเรือไทย ให้ถือว่าเป็นกระทำผิดในราชอาณาจักร หมายความว่าขณะเครื่องบินนั้นบินอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้ามีการทำผิดอาญาเกิดขึ้น ให้ถือว่าเป็นการทำผิดในราชอาณาจักรไทย ต้องรับโทษในประเทศไทย ไม่ต้องพิสูจน์ว่าขณะนั้นเครื่องบินบินอยู่เหนือน่านฟ้าไหน ไม่ต้องเลย เราเรียกว่าข้อสันนิษฐานเด็ดขาด” นายพรเพชร กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายพรเพชร กล่าวต่อว่า ข้อความในมาตรา 237 วรรค 2 ที่เขียนไว้อย่างนี้ เจตนารมณ์คงไม่ได้กลัวการตีความแบบศรีธนญชัย แต่เป็นเจตนารมณ์ที่ต้องการให้การพิสูจน์ข้อเท็จจริงหนึ่งนำไปสู่การสรุปอีกข้อเท็จริงอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ เมื่อพิสูจนข้อเท็จจริงแรกได้ว่ามีการปล่อยปละละเลยกรรมการบริหารให้มีการกระทำที่ไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง ก็ให้ถือว่า พรรคการเมืองเป็นผู้กระทำผิด ทำนองนั้น
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว บัญญัติไว้ก่อนการมีการกระทำผิดประมาณ 4 เดือนเต็มๆ กล่าวคือรัฐธรรมนูญประกาศใช้ 24 สิงหาคม 2550 หลังจากนั้นเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 และมีคนกระทำผิด อย่างไรก็ตาม หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวสำเร็จ ตามหลักกฎหมายที่เป็นคุณ มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ก็สามารถย้อนหลังไม่เอาผิดได้ แต่ต้องเขียนให้ชัดเจน
นายเจิมศักดิ์ ถามว่า ถ้าอย่างนั้น ก็จะมีคนบอกว่าจะทำผิดก็ทำไป ไม่เป็นไร เราได้อำนาจรัฐแล้วแก้กฎหมายไม่ให้ผิดได้ คนเขียนกฎหมายก็เขียนไป ใครจะยังไงก็ช่าง ไม่ดูแลไม่มีใครสนใจกฎหมายอีกต่อไป นายพรเพชรตอบว่า นี่เป็นปัญหาการเมือง ขึ้นอยู่กับคุณธรรมจริยธรรมของผู้ออกกฎหมาย หรือการที่จะบัญญัติกฎหมาย เป็นเรื่องของ สภาผู้แทนราษฎร หรือทั้ง 2 สภา
“ผมคงวิจารณ์ไม่ได้ ท่านคงจะต้องคิดเองว่าออกกฎหมายลักษณะนี้ เหมาะสมหรือไม่” ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกากล่าว