กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ชี้ โรงพยาบาลรัฐยังใช้ยาสมุนไพรไทยน้อยเฉลี่ยแค่ 0.8% ขณะที่ตั้งเป้าเพิ่ม 5% ต่อปี เผยผลเปรียบเทียบใช้ยาสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน พบถูกกว่า 100-150 เท่า ดันประกาศเพิ่มรายการยาสมุนไพรเพชรสังฆาต-สหัสธารา เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ
วันนี้ (28 ม.ค.) นพ.ลือชา วนรัตน์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และบูรณาการงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สู่การดำเนินงานในส่วนภูมิภาคประจำปีงบประมาณ 2551 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสถานบริการทุกระดับทั่วประเทศกว่า 500 คน
นพ.ลือชา กล่าวว่า เรามีแผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท 2550-2554 ซึ่งเป็นแผนแม่บทที่มุ่งเน้นการพัฒนาภูมิปัญญาไทย ในการสร้างสุขภาพ การจัดการความรู้ การพัฒนากำลังคน การพัฒนายาไทย และการคุ้มครองภูมิปัญญาไทย โดยเฉพาะรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดให้เพิ่มมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรไทยให้ได้ ร้อยละ 25 ภายในเวลา 5 ปี ขณะที่พบว่า ที่ผ่านมายังประสบปัญหาการเข้าถึงยาสมุนไพรของประชาชนในสถานพยาบาลของรัฐซึ่งมีมูลค่าน้อยมาก โดยมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐมีเพียงร้อยละ 0.8 ของค่าใช้จ่ายยาทั้งหมด ซึ่งไม่ถึง 1% ของเงินงบประมาณสาธารณสุขของประเทศ
นพ.ลือชา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายยาสมุนไพรและยาแผนปัจจุบัน พบว่า ยาไทยหลายชนิดมีค่าใช้จ่ายถูกกว่ายาที่มีการนำเข้าหลายเท่า เช่น ยารักษาโรคริดสีดวงทวาร หากกิน 10 วัน รวม 20 เม็ด เป็นเงิน 160 บาท ขณะที่ยาจากสมุนไพรเพชรสังฆาต ขนาด 500 มิลลิกรัม กิน 10 วัน วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 เม็ด รวม 60 เม็ด เป็นเงิน 48 บาท หรือ ฟ้าทะลายโจร ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ แก้หวัด แก้อักเสบ ขนาด 500 มิลลิกรัม กิน 7 วัน วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ครั้งละ 2 เม็ดรวม 42 เม็ด เป็นเงิน 33.6 บาท เทียบกับ ยาแผนปัจจุบัน กิน 7 วัน รวม 28 เม็ด เป็นเงิน 70 บาท
“น่าเสียดายที่มูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในประเทศมีน้อย แต่มีการนำเข้ายาในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ ทั้งๆ ที่เมื่อนำยาสมุนไพรไปใช้ ผลการรักษาดีเท่าๆ กับยาแผนปัจจุบัน หรือดีกว่า หายเร็วกว่า มีความปลอดภัยมากกว่า ผลข้างเคียงของยาก็น้อยกว่า อย่างสมุนไพรเพชรสังฆาต สามารถชะลอการผ่าตัดหรืออาจไม่ต้องผ่าตัดริดสีดวงทวาร ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูง เมื่อเปรียบเทียบราคากัน อาจถูกกว่า 100-150% ขณะที่สมุนไพรเสลดพังพอน (พญายอ) รักษาโรคเริม หรืองูสวัด ก็มีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาแผนปัจจุบันก็มีราคาถูกกว่ามาก” นพ.ลือชา กล่าว
อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวอีกว่า แนวทางการเพิ่มมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรไทยให้ได้ ร้อยละ 25 ภายในเวลา 5 ปี ขณะนี้ได้ตั้งเป้าให้มีการใช้ยาสมุนไพรมากขึ้นเพิ่มปีละ 5% แม้ว่าแนวโน้มการเติบโตยังช้าอยู่ เนื่องจากประชาชนไม่มีความรู้ ไม่สนใจ ยังมุ่งเน้นไปในเรื่องของความงามมากกว่าสุขภาพ จากข้อมูลของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ พบว่า แพทย์แผนปัจจุบันยังไม่ยินยอมใช้ยาสมุนไพร เนื่องจากไม่มีการศึกษาถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรในหลักสูตรการเรียนการสอน ไม่มีต้นแบบการใช้ยาจากสมุนไพรในคณะแพทยศาสตร์ รวมทั้งมีการวิจัยยาสมุนไพรทางคลินิกน้อย นอกจากนี้ แพทย์บางส่วนอาจยังไม่มีความมั่นใจในคุณภาพและสรรพคุณของยาจากสมุนไพร ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งที่สามารถดำเนินการได้ตามเป้า และให้ผลดีสามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้ยาได้ แต่ก็แต่ยังติดปัญหาในส่วนของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด ที่มีการนำสมุนไพรไปใช้น้อย ดังนั้น จึงต้องแก้ปัญหาดังกล่าว พร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้มาตรฐานการผลิตที่ดีหรือจีเอ็มพี และส่งเสริมการศึกษาวิจัยสมุนไพรตัวอื่นๆ และตำรับยาใหม่ๆ ให้เข้ามาอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มขึ้นด้วย
นพ.ลือชา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มียาสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งสิ้น 19 รายการ เป็นสมุนไพร 8 รายการ ได้แก่ ยาประสะมะแว้ง ยาแก้ไข้ ยาประสะไพล ขมิ้นชัน ชุมเห็ดเทศ ฟ้าทะลายโจร พญายอ ไพล และยาสมุนไพรสูตรตำรับ 11 รายการ ได้แก่ ยากลุ่มรักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต กลุ่มรักษาอาการทางระบบทางเดินอาหาร กลุ่มรักษาอาการสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา กลุ่มยาแก้ไข้ ยาแก้ไอและขับเสมหะ ยารักษาอาการทางผิวหนัง กลุ่มยาใช้ภายนอกบรรเทาอาการปวดและอักเสบ โดยจะผลักดันยาสมุนไพรเพิ่มอีก 2 ตัว คือยาสมุนไพรเพชรสังฆาต และ ยาสุมนไพรสูตรตำรับสหัสธารา ซึ่งใช้รักษาอาการปวดข้อ ที่มีผลข้างเคียงน้อยมาก บรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยาไทยให้ขยายวงกว้างมากขึ้น