แนวคิดของโครงการ “ดอยน้ำซับ” อยากเผยแพร่สมุนไพรไทยให้คนทั้งในและต่างประเทศรู้จัก ประกอบกับสนับสนุนการปลูกสมุนไพรเพื่อเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน นำมาสู่การผลิตลูกประคบสมุนไพรจนลูกค้าในและต่างประเทศรู้จักเป็นอย่างดี
นับถึงวันนี้ ผลิตภัณฑ์ดอยน้ำซับได้แตกแขนงออกไปอีกหลากหลาย และยังขยายเชื่อมโยงกับสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป้าหมายให้โครงการเป็นศูนย์รวมแห่งความรู้ทางสมุนไพรครบวงจร
ดุษฎี สุทธิเลิศ ผู้บุกเบิกโครงการสมุนไพร “ดอยน้ำซับ” เล่าให้ฟังว่า โครงการนี้ เกิดจากกลุ่มนักศึกษาคณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในทีมงาน เดินทางเข้ามาทำงานด้านพัฒนาชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2539 แล้วเกิดความประทับใจในวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น นำสมุนไพรไทยหลายชนิดใช้ในครัวเรือน เป็นแรงบันดาลใจอยากสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกสมุนไพรเพิ่มขึ้นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ จึงเริ่มโครงการดังกล่าว พร้อมเปิดรับสมาชิกเป็นครั้งแรกที่ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย
“พวกเราเชื่อว่า สมุนไพรจะเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น โครงการจึงมีเป้าหมายส่งเสริมชุมชนให้ปลูกสมุนไพร เพื่อเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสมุนไพร ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ระยะยาว ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอก” ดุษฎี อธิบายถึงปรัชญาธุรกิจเน้นเติบโตอย่างยั่งยืนคู่กับชุมชนมากกว่าจะกำไรตัวเงินเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับชื่อโครงการ “ดอยน้ำซับ” ที่มีความหมายถึงบริเวณที่มีการซึมซับของน้ำใต้ดินอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ การคัดเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรนำร่องสู่ตลาด ลงตัวที่ “ลูกประคบสมุนไพร” เพราะคุณสมบัติน่าสนใจช่วยบำบัดอาการปวดเมื่อย และผ่อนคลายความตึงเครียด แต่การใช้ยังจำกัดอยู่แค่คนกลุ่มแคบๆ โดยสูตรสุมนไพรต่างๆ นำมาจากคุณหมอเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
ดุษฎี เล่าต่อว่า ลูกประคบสมุนไพรได้การตอบรับอย่างสูง เพราะเป็นครั้งแรกที่ลูกประคบสมุนไพรออกสู่ตลาดวงกว้าง และต่อมาได้พัฒนารูปแบบ สีสัน และลวดลายโดยประยุกต์ผ้าทอพื้นเมือง เพื่อตอบสนองตลาดต่างประเทศที่ให้ความสนใจอย่างสูง รวมถึง เพิ่มผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิด เช่น น้ำมันงา กระโจมสมุนไพร และสมุนไพรอบแห้ง เป็นต้น
ในส่วนความสัมพันธ์กับชุมชนนั้น เธออธิบายปัจจุบันมีสมาชิกโครงการกว่า 300 คน กระจายอยู่ใน จ.เชียงราย และใกล้เคียง การสร้างอาชีพแบ่งหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละชุมชน เช่น กลุ่มปลูก กลุ่มแปรรูป กลุ่มตัดเย็บ ขณะที่เจ้าหน้าที่ส่วนกลางคอยประสานงาน และทำตลาดให้ เน้นส่งเสริมแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิม
ด้านการตลาดกว่า 70% จะส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกา อียู ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง เป็นต้น ส่วนตลาดในประเทศขายผ่านร้านค้าเกี่ยวกับสมุนไพร เช่น เลมอนฟาร์ม สุวรรณชาด เป็นต้น
ดุษฎี เล่าต่อว่า เพื่อให้ถึงเป้าหมายสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ชาวบ้านอย่างแท้จริง จำเป็นต้องให้โครงการนี้ เป็นศูนย์รวมด้านสมุนไพรครบวงจร ดังนั้น เมื่อปี 2547 บุกเบิกพื้นที่ใน ต.ดอนศิลา อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน กับโรงเรียนดอยน้ำซับ อบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการนวดแผนไทย การแปรรูปสมุนไพร และการดูแลสุขภาพสมุนไพร ซึ่งมีทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เข้ามาศึกษาดูงานตลอดทั้งปี
อีกทั้ง กำลังมีแผนสร้างศูนย์ดังกล่าวสู่การเป็นศูนย์ดูแลสุขภาพ สำหรับลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้สูงอายุกำลังซื้อสูงจำนวนมาก ให้เดินทางมาบำบัดร่างกายในช่วงปันปลายชีวิต โดยมีนางพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด คิดค่าบริการประมาณท่านละ 60,000 บาทต่อเดือน ใช้เวลาพักอย่างน้อย 3 เดือน โครงการดังกล่าวกำลังเสนอร่วมทุนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มูลค่าโครงการกว่า 50 ล้านบาท คาดคืนทุนได้ 2-3 ปีข้างหน้า
ผู้บุกเบิกโครงการ ยอมรับว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาลง ประกอบกับปัจจัยลบต่างๆ เช่น ค่าเงินบาทแข็ง การเมืองไม่นิ่งนักธุรกิจขาดความมั่นใจ และคู่แข่งขายตัดราคา กระทบให้ 1-2 ปีหลังที่ผ่านมา ยอดขายสินค้าลดลงบ้าง
อย่างไรก็ตาม ด้วยจุดเด่นที่เป็นผู้ผลิตรายแรกๆ ในสินค้าประเภทนี้ ประกอบกับชื่อเสียงสะสมมานาน ทำให้ปีที่ผ่านมา (2550) ลูกค้าที่หนีไปซื้อสินค้าราคาถูก กลับมาเลือกสินค้าของดอยน้ำซับอีกครั้ง
“ทุกวันนี้ สินค้าสมุนไพรไทยมีการส่งออกมากก็จริง แต่สินค้าคุณภาพเท่านั้นจะอยู่ได้ในระยะยาว ดังนั้น ถึงแม้สินค้าเราจะราคาแพงกว่า แต่สุดท้ายจุดเด่นที่ลูกค้าจะเลือกคือ คุณภาพ อย่างคนญี่ปุ่นเป็นผู้บริโภคที่มีความรู้ และมีกำลังซื้อสูง ฉะนั้น ถ้าสินค้าไม่มีคุณภาพ ในที่สุด กระบวนการตลาดจะคัดออกไปเอง” ดุษฎี กล่าวทิ้งท้าย