สมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ถึงสรรพคุณยอดเยี่ยมใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ ทว่า ในกระบวนการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนสกัดจนถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ยังถูกตั้งคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัย ถ้ายิ่งเป็นกลุ่มเครื่องสำอางสมุนไพร ผลิตโดยกลุ่มชาวบ้านด้วยแล้ว ประเด็นดังกล่าวยิ่งถูกกังขามากเป็นทวีคูณ
จุดนี้เอง เอกชนอย่างบริษัท ยูไนเต็ด บาร์เธอร์ จำกัด ภายใต้การบริหารของ “ฉัตรชัย สุขสาคร” ได้เข้าอุดช่องว่างดังกล่าว
ฉัตรชัย ขยายความว่า พื้นฐานบริษัทฯ ทำธุรกิจนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตเครื่องสำอางให้แบรนด์ดังต่างประเทศ จากที่อยู่ในวงการนี้ รู้ดีว่า แท้จริงแล้วศักยภาพของสมุนไพรไทยมีสรรพคุณดีไม่แพ้วัตถุดิบนำเข้า จึงทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างศูนย์พัฒนายาไทย และสมุนไพร (TDC) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของกลุ่มผู้ผลิตสินค้าชุมชนโอทอปต่างๆ เพื่อร่วมกันต่อยอดการแปรรูปสมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากล
เบื้องต้นเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรของกลุ่มชุมชนจากทั่วประเทศมา 30 ชนิด ก่อนผลิตนำร่อง 19 ชนิด โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ใช้ชื่อตราสินค้า “HC” ภายใต้สังกัด HERB CLUB วางตำแหน่งการตลาดเป็นสินค้าระดับ B+ ถึง A กลุ่มเป้าหมาย คือ สุภาพสตรีผู้มีกำลังซื้อสูง และใส่ใจดูแลสุขภาพ วัยตั้งแต่ 25 – 55 ปี
“ผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ที่คัดเลือกมา ชาวบ้านทำขายกันอยู่แล้ว แต่ทำโดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการรับรอง หรือบางครั้งทำโดยปราศจากความรู้ สูตรที่ผลิตขึ้นจึงไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น เราจะนำสูตรของชาวบ้านมาวิเคราะห์ใหม่ทั้งหมด และผลิตภายใต้เทคโนโลยีทันสมัย เบื้องต้นจะแปรรูปเป็นกลุ่มเครื่องสำอางปลอดสารพิษ เพราะในตลาด ยังไม่มีผู้ผลิตรายใดที่นำสมุนไพรไทยมาใช้ในเครื่องสำอางระดับพรีเมียมอย่างจริงจัง” ฉัตรชัย อธิบาย
ทั้งนี้ บริษัทฯเชื่อมโยงกลุ่มผู้ผลิตชุมชนต่างๆ ให้เป็นฐานป้อนวัตถุดิบสมุนไพร ส่วนกระบวนการแปรรูป ใช้วิธีว่าจ้างโรงงานที่ได้มาตรฐานสากล โดยบริษัทฯ ลงทุนภาคการผลิต และทำตลาด รวมกว่า 10 ล้านบาท นำร่องผลิตภัณฑ์ 19 รายการ แบ่งเป็น 3 หมวด คือ 1.ใช้กับศีรษะ 2.ผิวกาย และ 3.ผิวหน้า
สำหรับระดับราคาแบรนด์ ‘HC’ ถ้าเทียบกับแบรนด์ดังระดับโลกจะถูกกว่าครึ่งหนึ่ง แต่สูงกว่าแบรนด์ทั่วไปในประเทศ 2-3 เท่าตัว เช่น แชมพู ขวดละ 480 บาท เป็นต้น
“มูลค่านำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่อปี มากกว่า 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มใช้ในเครื่องสำอางไม่น้อยกว่า 20-30% ดังนั้น โอกาสธุรกิจของตลาดนี้ยังเปิดอีกกว้าง ซึ่งตำแหน่งการตลาดที่เราวางไว้ จะอุดช่องว่างระหว่างแบรนด์เกรด A ที่ราคาสูงมากๆ กับสินค้าทั่วไปตามท้องตลาด โดยใช้จุดเด่น คือ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยที่ผลิตในมาตรฐานสากล” ฉัตรชัย ระบุ
เนื่องจากระดับราคาที่วางไว้ค่อนข้างสูง สิ่งสำคัญที่จะประสบความสำเร็จทางการตลาดได้นั้น ฉัตรชัย ชี้ไปที่การสร้างภาพลักษณ์ควบคู่บ่งบอกสรรพคุณสมุนไพรไทยให้ลูกค้ารับรู้ และยอมรับ แผนที่เตรียมไว้จะออกวารสาร ราย 3 เดือน เพื่อแนะนำสินค้าพร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่ใช้ผลิต ประกอบกับโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงออกงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพความงาม เพื่อหาสมาชิกที่จะมีอภิสิทธิ์ซื้อสินค้าในระดับลด 15-25%
เบื้องต้น เตรียมเปิดตัวแบรนด์ ‘HC’ ในงาน “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 5” ระหว่างวันที่ 3-7 กันยายน 2551 ณ เมืองทองธานี ไฮไลท์ในการเปิดตัว คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีสารสกัดจาก “ฟักข้าว” ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า ฟักข้าวมีสารไลโคปีในกลุ่มเบต้าแคโรทีม มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อนำมาพัฒนาสูตรใช้กับเครื่องสำอาง จะมีประสิทธิภาพลดรอยเหี่ยวย่นได้อย่างดียิ่ง
ฉัตรชัย ระบุว่า ตั้งเป้าภายในงานนี้จะหาสมาชิกได้ประมาณ 500 ราย หลังจากนั้น เตรียมเปิดร้านตามห้างสรรพสินค้าหรู เช่น สยามพารากอน และดิเอ็มโพเลี่ยม เป็นต้น วางเป้ายอดขายในปีนี้ (2551) เน้นเฉพาะตลาดในประเทศอย่างเดียว 2 ล้านบาท ส่วนปีหน้า (2552) จะขยายตลาดไปต่างประเทศ ประมาณ 40% ทำตลาดผ่านการออกโรดโชว์ เน้นเจาะตลาดกลุ่มตะวันออกกลางและยุโรป วางเป้ายอดขายไว้ที่ 5 ล้านบาท
ส่วนแผนการตลาดระยะยาว จะผลักดันให้บริษัทฯ เป็นผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรระดับพรีเมี่ยม โดยจะออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพอื่นๆ ภายใต้สังกัด HERB CLUB อย่างต่อเนื่องไม่จำกัดแค่กลุ่มเครื่องสำอางเท่านั้น เช่น อาหารบำรุงสุขภาพจากสมุนไพร เป็นต้น โดยจะเพิ่มสัดส่วนตลาดต่างประเทศ ให้มากกว่า 80%
**************
โทร.02-673-0231-9