xs
xsm
sm
md
lg

“เครื่องแกะเม็ดกระเจี๊ยบ” ไอเดีย นศ.มทร.ธัญบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กระเจี๊ยบ” เป็นพืชที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะส่วนของดอกที่นำมาต้มผสมน้ำตาลเล็กน้อย ออกมาเป็นเครื่องดื่มสีแดงรสชาติอมเปรี้ยวอมหวาน เติมน้ำแข็งดื่มชื่นใจดีนัก เป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมแบบไม่เคยตกยุค แถมมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพร ทำให้ในแต่ละปีประเทศไทยผลิตกระเจี๊ยบแดง (กลีบดอกตากแห้ง) ได้ 250-600 ตัน/ปี ใช้บริโภคในประเทศเพียงร้อยละ 30 ที่เหลืออีกร้อยละ 70 ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ตลาดที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี จุดนี้เองที่ทำให้ นศ.คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี คิดประดิษฐ์เครื่องแกะเม็ดกระเจี๊ยบ เพื่อตอบสนองสายงานการผลิตเพื่อต่อยอดสู่การส่งออก

กระเจี๊ยบแดงมีสรรพคุณทางยา จึงเป็นสมุนไพรที่มีเป้าหมายในการวิจัย รองรับความต้องการ และส่งเสริมการใช้สมุนไพรอย่างแพร่หลาย และยังถือเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ของรัฐบาลเป็นแผนระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2548-2552)

ดังนั้นนายพุธวงค์ นาทอง และ นางสาววิไลพร คำงาม นักศึกษา จากภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี จึงเล็งเห็นความสำคัญ และเพื่อช่วยให้เกษตรกรลดขั้นตอนการผลิตกระเจี๊ยบแห้งลง อีกทั้งยังเป็นทางเลือกใหม่ให้เกษตรกรในการปลูกพืชหมุนเวียนในแต่ละปี อีกทั้งเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของชุมชนให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงร่วมกันคิด ออกแบบสร้างเครื่องแกะเม็ดกระเจี๊ยบขึ้น โดยมี รศ.รุ่งเรือง กาลศิริศิลป์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตลอดโครงการ

โดยเจ้าของผลงาน เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของการคิดสร้างเครื่องนี้ขึ้น ก็เพื่อลดแรงงานคนในการแกะเม็ดกระเจี๊ยบ และเพิ่มปริมาณการผลิตในเวลาเดียวกัน เครื่องนี้จะประกอบด้วยส่วนหลักๆอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนของการลำเลียง และส่วนของการเจาะเอาเม็ดกระเจี๊ยบออกจากกลีบดอก

หลักการทำงานของเครื่องจะอาศัยต้นกำลังจากมอเตอร์ขนาด 1 แรงม้า เพื่อส่งกำลังด้วยโซ่ในการขับเคลื่อน เพื่อให้ชุดหัวเจาะดอกกระเจี๊ยบแดง และโซ่ลำเลียงหมุนด้วยความเร็วรอบที่เหมาะสมในเวลาทำงาน ในส่วนของชุดหัวเจาะ จะกดหัวเจาะลง เมื่อชุดลำเลียงหมุนเอาเบ้าที่ใส่ดอกกระเจี๊ยบในลักษณะคว่ำไว้แล้ว หัวเจาะจะกดส่วนที่เป็นเม็ด กับกลีบเลี้ยงออกจากกัน แล้วตกลงสู่ถาดรองรับ ที่ทั้งสองส่วนจะแยกจากกัน แม้ในการป้อนดอกกระเจี๊ยบจะยังใช้มืออยู่ แต่ก็สามารถทำงานได้เร็ว และไม่ทำให้ผู้แกะต้องเจ็บมือ เหมือนการแกะด้วยมืออีกต่อไป

ส่วนประสิทธิภาพการทำงานนั้น พบว่า ความเร็วรอบที่เหมาะสม คือ 800 รอบต่อนาที อัตราการทำงานอยู่ที่ 18.08 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงานเท่ากับ 86.1% อัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 1.5 Kwh สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 02-549-3328

กำลังโหลดความคิดเห็น