xs
xsm
sm
md
lg

รุมค้านแก้ ม.237 “ถาวร” ท้า “พลังแม้ว” เปิดชื่อคนจ้องล้ม พปช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ถาวร” ค้านรัฐบาลจ่อแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ชัด ม.237 บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันนักการเมืองถอนทุนคืนจากประชาชน ด้าน “ปองพล” ฟันธงควรเร้งแก้มาตรา 266 แจงเหตุเพราะมีการใช้ตำแหน่งเข้าไปแทรกแซง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี คืนวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเปิดประเด็นซักถามนายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายปองพล อดิเรกสาร อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และนายเดโช สวนานนท์ อดีตรองสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ถึงความชอบธรรมที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะยื่นเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งมาตรา 237 และพ่วงมาตราอื่นๆ โดยอ้างความชอบธรรม และไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ

โดย นายถาวร กล่าวว่า ในอดีตการเมืองที่สกปรกก็คือ การเมืองถอนทุนคืน นั่นคือทุจริตคอร์รัปชั่น ก็จะถูกอ้างจนมีการปฏิวัติ แล้วย้อนกลับไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ ก็ไปซื้อตัว ส.ส.ส่งสงสมัครรับเลือกตั้ง นี่คือวงจรอุบาทว์ที่ทุกคนรับทราบ ดังนั้นจึงมีการคิดยาแรงกันมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อดูเจตนารมณ์ของการกำหนดโทษเพิกถอนสิทธิหัวหน้าพรรคการเมือง รวมทั้งการยุบพรรค เป็นผลเนื่องมาจากการที่พรรคเป็นนิติบุคคล จึงถือว่าหัวหน้าพรรคเป็นผู้แทนนิติบุคคล ส่วนกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้มีอำนาจบริหารพรรค ฉะนั้น หากสมาชิกพรรคกระทำการทุจริต บุคคลเหล่านี้ควรมีส่วนร่วมในการกระทำนั้น

“มาตรา 237 บัญญัติขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการถอนทุนคืนจากนักการเมือง ซึ่งกล้าสาบานหรือไม่ว่าเสียงข้างมากนั้นมาจากการซื้อเสียง เพราะ กกต.ก็มีการชี้มูลให้ใบแดง ประเด็นปัญหา คือ การที่ออกมาระบุว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เกิดจากพรรคกำลังจะถูกยุบเนื่องจากกรรมการบริหารพรรคโดนใบแดง และที่เขาบอกว่ามีคนจ้องเล่นงานพรรคพลังประชาชนนั้น อยากถามว่าใครบอกได้หรือไม่ เพราะมาตรา 237 ใช้กับทุกพรรคการเมือง และที่ระบุถ้า 3 พรรคถูกยุบ แล้วจะทำให้การเมืองถึงทางตันนั้น ผมคิดว่าถ้าเกิน 60-70 คน จนต้องเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ของพรรคที่ถูกยุบ และยังมีสิทธิก็สามารถรวมตัวกันตั้งพรรคใหม่ได้ และไม่ถือว่าฆ่าประเทศ เพราะรัฐบาล และสภายังอยู่ แต่ถ้าหากมีการปะทะกัน ก็อาจจะทำให้เกิดวิกฤตได้” นายถาวร กล่าว

นายถาวรยังกล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่าจะมีการตัดวรรคสองออกว่า ถ้ายกวรรคสองออก คือ จะไม่มีการยุบพรรค และเจ้าของเงินก็จะลอยนวล ซึ่งถ้าไม่ยุบพรรคการเมืองยอมรับได้ แต่กรรมการบริหารพรรคไม่ควรลอยนวล ซึ่งถ้าตัดทิ้ง 39 คนลอยนวล แต่คนที่ต้องรับกรรม คือ นายยงยุทธ ติยะไพรัช วนการแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องทำประชามติหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติ หลังจากนั้นตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยให้คนที่เป็นกลางที่มีความรู้ในการออกแบบสร้างกติกาของประเทศ โดยไม่ได้ดูเพียงมาตรา 237 เพียงอย่างเดียว

ขณะที่ นายเดโช กล่าวว่า ความชอบธรรมในการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่ามีความจำเป็นที่จะแก้ไขหรือไม่ และจะแก้เฉพาะมาตราไม่ได้ เพราะจะต้องอธิบายเหตุผลให้ชัดเจน ซึ่งในอดีตผู้ร่างกฎหมายจะกำหนดการลงโทษเพื่อหยุดพฤติกรรม ฉะนั้น มาตรา 237 ก็คือการประหารชีวิตทางการเมือง ทำให้พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบ ซึ่งคณะปฏิวัติเขาคิดอย่างนั้น เพราะในภาวะบ้านเมืองวิกฤตสุดขีด เขาจึงต้องใช้ยาแรง แต่ตอนนี้สถานการณ์ไม่ถึงขนาดนั้นแล้ว แนวคิดหลักจะพัฒนาประเทศ พรรคการเมืองถือเป็นเรื่องใหญ่จะยุบไม่ได้

“หลักการในการแก้ไขในสิ่งที่เขาคิดว่าไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น มันมีอยู่หลายข้อ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่สามารถยุบกลุ่มการเมืองได้ ฉะนั้นทางออกคือพรรคการเมือง เปลี่ยนเป็นกลุ่มการเมืองได้หรือไม่ ถ้าเปลี่ยนเป็นกลุ่มการเมืองเวลาส่ง ส.ส.ลงสมัคร ได้หรือไม่ เราไปล็อกตรงที่ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ได้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จะไม่ต้องสังกัดพรรค โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 40 คือ ต้องการพัฒนาพรรคการเมือง ยุบพรรคยาก ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นแล้วบ้านเมืองจะพัฒนาอย่างไร ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ยุบพรรคก็ได้ และอาจจะเป็นการตีตนไปก่อนไข้” นายเดโช กล่าว

ด้าน นายปองพล กล่าวในฐานะผู้สนใจการเมืองว่า ในชีวิตการเมืองผ่านการปฏิวัติมาหลายครั้ง โดยตนมองกติกา และยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้น สามารถที่จะแก้ไขได้ เพราะถ้อยคำที่ระบุว่ามีหลักฐาน “อันควรเชื่อได้ว่า” ตนคิดว่ามันอ่อน และไม่ถูกต้อง ซึ่งถ้าตนแก้เองก็อยากจะระบุเอาไว้ว่า หลักฐานอันพิสูจน์ได้ชัดเจน ขณะเดียวกันควรจะแก้ในอีกหลายประเด็น เพราะควรจะทำให้เบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะกรณีที่ระบุว่ากรรมการบริหารพรรคทำผิด แล้วให้ถือว่าพรรคกระทำผิดด้วยนั้น เป็นไปได้ 2 ทาง คือ บางกรณีก็เกิดขึ้นได้ แต่บางกรณีก็ไม่ใช่

“ดังนั้นจึงควรมีการพิสูจน์ให้ชัดเจน และตนคิดว่าพรรคการเมืองไม่ควรถูกยุบ เพราะโทษไม่ควรแรงถึงขั้นยุบพรรค ทั้งนี้ผมไม่หวังว่าจะได้รับนิรโทษกรรม เพราะไม่ถึงกับตาย และสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่จะเอาวรรคสองออกไปทั้งหมด” นายปองพล กล่าว

นายปองพล กล่าวอีกว่า ในแง่ของประชาธิปไตย การแก้มาตราอื่นมีผลมากกว่าการแก้มาตรา 237 โดยเฉพาะมาตรา 266 ซึ่งระบุไว้ว่าต้องไม่ใช้สถานนะ หรือตำแหน่งเข้าไปแทรกแซง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ถือว่าขัดหลักประชาธิปไตย ซึ่งคิดว่าร้ายแรงกว่ามาตรา 237 เพราะมาตราดังกล่าวมีผลต่อประชาชนทั้งสิ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น