xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ปธ.ส.ส.ร.ชี้ไม่ง่ายแก้ รธน.เพื่อผลประโยชน์บางพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญชี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์เฉพาะบางพรรคดิ้นหนีคดียุบพรรคคงทำไม่ง่ายอย่างที่คิด ขณะที่ประธานวุฒิสภาระบุเป็นเรื่องของสภาผู้แทนฯ เป็นผู้พิจารณา

วันนี้ (22 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพระปกเกล้าฯ ได้จัดสัมมนาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่โรงแรมอามารี ออคิด รีสอร์ท แอนด์ทาวเวอร์ จ.ชลุบรี โดย นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวเปิดสัมมนาว่าการสัมมนาครั้งนี้เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภารับทราบปัญหาอุปสรรคในการทำงานและการทำหน้าที่ รวมถึงให้สมาชิกได้ทำความรู้จักกัน ซึ่งจากการเดินทางมาร่วมกันเห็นว่าสมาชิกได้ทำความรู้จักกันเป็นอย่างดี ขณะนี้ภาพ ส.ว.สรรหา และ ส.ว.เลือกตั้ง แทบจะไม่เหลืออยู่แล้ว ทั้งนี้เห็นได้จากการประชุมวุฒิสภาเมื่อวานนี้ (21 มี.ค.) ที่มีการแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุม ไม่มีความขัดแย้ง เพราะสมาชิกทุกคนต่างมาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

ประธานวุฒิสภา ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชนเตรียมเสนอญัตติศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ยังไม่ทราบเรื่อง จึงยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร หากเห็นว่าควรแก้ไข วุฒิสภาก็พร้อมดูในรายละเอียด

เมื่อถามว่า ความพยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาจากพรรคพลังประชาชน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อแก้วิกฤติเรื่องการยุบพรรค ประธานวุฒิสภา กล่าวว่าหากสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าเหมาะสมก็สามารถทำได้ ส่วนขณะนี้ถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของสภาล่าง หากเห็นว่าสมควรสภาสูงก็พร้อมพิจารณา

ด้าน นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ปฏิเสธให้ความเห็น โดยกล่าวเพียงว่า หากพูดอะไรคงไม่มีใครฟัง จึงให้ความเห็นอะไรไม่ได้ ใครพยายามจะแก้ไขก็ให้แก้ไป ส่วนจะมีพรรคการเมืองหนึ่งแก้เพื่อประโยชน์ของตนหรือไม่ คิดว่าเรื่องนี้คงไม่ง่ายอย่างที่ใครคิด

พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี บอกว่าหากมีการยุบพรรคการเมืองอีกจะส่งผลกระทบต่อความเสียหายของประเทศทางด้านเศรษฐกิจว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเขียนไว้ชัดเจน หากเห็นว่าคณะกรรมการบริหารพรรคพรรคการเมืองใดทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องถูกยุบด้วย ซึ่งตนเชื่อว่าการสอบสวนของกกต.ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะยุบพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่พิจารณาในลักษณะการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชาชนจะชิงยุบสภาเพื่อไม่ให้พรรคถูกยุบนั้น ถามว่าจะยุบสภาทำไม เพราะพรรคไหนถูกยุบก็ตั้งพรรคใหม่ได้ หรือสมาชิกไปหาพรรคสังกัดใหม่ได้ ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจคงมีไม่มาก

/0110
กำลังโหลดความคิดเห็น