xs
xsm
sm
md
lg

"พัชรวาท"โปรดทราบ !! จัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษส่อเจตนาทุจริต??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
การเร่งใช้เงินงบประมาณคงเหลือให้หมดก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2548 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในยุคพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ดำรงตำแหน่งผบ.ตร. และพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นรองผบ.ตร. ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีงบคงเหลือ 18,766,000 บาท กลายเป็นช่องทางแสวงหาประโยชน์ของบรรดานายตำรวจใหญ่ที่กำลังจะพากันมาตายน้ำตื้น เพราะพฤติกรรมรีบกินอย่างมูมมามแถมไม่เช็ดปากทิ้งร่อยรอยให้จับได้ไล่ทัน

ช่วงเดือนก.ย.ของทุกปี ถือเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณที่หน่วยงานรัฐต้องเร่งรีบปิดงบ หากแผนงานใดที่ได้รับอนุมัติงบตามที่เสนอดำเนินไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ก็จะได้ทั้งเนื้องานและเม็ดเงินจากภาษีของประชาชนก็ใช้หมดไปอย่างคุ้มค่า แต่ถ้าเป็นไปในทางตรงกันข้าม งานก็ล้มเหลว เงินก็เหลือ และต้องส่งคืนคลัง ซึ่งจะส่งผลต่อการถูกตัดงบประมาณเมื่อมีการเสนอของบในปีต่อๆ ไป

ดังนั้น ในช่วงเดือนก.ย.ของทุกปี จึงมีหลายหน่วยงานที่พากันถลุงเงินอย่างเพลิดเพลินเพียงเพื่อต้องการใช้เงินให้หมดไป แผนงานใดที่คั่งค้างก็จะใช้วิธีการ “จัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีพิเศษ” เพราะหากใช้วิธีปกติทั่วไป คือการเปิดประมูลแข่งขัน จะต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลานานไม่ทันเวลาปิดงบ

กรณีการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทเอ็น เอส มีเดีย แอสโซซิเอทส์ จำกัด ด้วยวิธีพิเศษ ของ สตช. ก็อยู่ในข่ายเดียวกัน หากพิจารณากระบวนการพิเศษสุดๆ ของงานนี้ จะพบว่าใช้เวลาเพียง 10 กว่าวันเท่านั้นในการประเคนงานให้กับบริษัทพวกพ้อง

นับจากวันที่ 2 ก.ย. 2548 ที่มีการชงเรื่องโดยการแบ่งซอยงบประมาณ เป็น 3 รายการ จากเม็ดเงิน 18,766,000 บาท เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้ามาตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งตามระเบียบปฎิบัติแล้ว หน่วยงานรัฐต้องจัดส่งสำเนาสัญญาจ้างที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปให้ สตง.ตรวจด้วยว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายหรือไม่ ซึ่งงานนี้เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535

ถัดจากนั้น วันที่ 6 ก.ย. 2548 พล.ต.อ.โกวิท ก็อนุมัติให้จัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ และในวันที่ 13 ก.ย. 2548 คณะกรรมการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งพล.ต.อ.พัชรวาท เป็นผู้เซ็นแต่งตั้ง ก็ได้เชิญบริษัทเอ็น เอส มีเดียฯ มาเสนอราคา และมีการทำบันทึกตกลงเห็นควรจ้างบริษัทดังกล่าวในวันเดียวกัน ทั้ง 3 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 18,697,000 บาท น้อยกว่างบที่เหลือเพียง 69,000 บาท จากนั้นคณะกรรมการฯ ได้เสนอเรื่องผ่านขึ้นมาตามขั้นตอนและได้รับอนุมัติโดยไม่ชักช้า

ที่สำคัญคือ ไม่มีใครรู้ว่า เนื้องานที่ได้กับเม็ดเงินที่ สตง.ต้องจ่ายงบไปกว่า 18 ล้านบาทนั้น แค่ไหน

“การจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ” เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นจ้างงานที่มีการลอกสเปก และเป็นงานที่เรียกว่าได้กันเป็นกอบเป็นกำทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้างเนื่องจากไม่ผ่านกระบวนการแข่งขัน มีการสอบราคาพอเป็นพิธี และพิจารณาตัดสินว่าจ้างด้วยเหตุผล “มีความเหมาะสม”

กล่าวสำหรับรูปแบบการทุจริตในเวลานี้ มีพัฒนาการแนบเนียนขึ้นโดยแต่เดิมการจัดซื้อจัดจ้างจะมีการจ่ายค่าคอมมิชชั่น เงินใต้โต๊ะ แต่เวลานี้ขบวนการทุจริตจะใช้วิธีการตั้งราคาของที่จะจัดซื้อจัดจ้างต่อหน่วยให้สูง เป็นการบวกราคาหรือซ่อนเงินไว้ในงบจัดซื้อเพื่อเอาส่วนต่างมาไว้เป็น “เงินทอน” คืนให้กับผู้ร่วมขบวนการ ตั้งแต่ผู้ตั้งโครงการ ผู้มีอำนาจอนุมัติ บริษัทในเครือข่ายที่เข้ามาร่วมฮั้วประมูล

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการ สตง. เคยให้สัมภาษณ์ “ผู้จัดการรายวัน” ก่อนหน้านี้ว่า “การทุจริตแบบเงินทอนน่าวิตกมาก ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันหมด ตั้งแต่คิดโครงการ ทำราคากลางให้สูง ราคาจัดซื้อต่อหน่วยสูง แล้วหาพรรคพวกเข้ามาฮั้วประมูลแล้วทอนเงินคืนผู้เกี่ยวข้อง”

แต่งานเป็นเสียยิ่งกว่านั้น เพราะใช้การจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ ล็อกสเปกบริษัทหนึ่งเดียวในดวงใจไว้แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาหาใครมาร่วมฮั้วประมูลให้เมื่อยตุ้มแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐทั่วประเทศของ สตง. พบว่าดำเนินการไม่ถูกต้อง มีการทุจริตในหลากหลายรูปแบบ เช่น การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสมโดยคำนวณราคากลางสูงกว่าที่ควร, ขยายเวลาทำงานให้ผู้รับจ้างโดยไม่คิดค่าปรับ, จัดซื้อครุภัณฑ์ที่มีขนาดและราคาไม่เป็นไปตามมาตรฐานครุภณฑ์สำนักงบประมาณ, ผู้รับจ้างทำงานไม่ครบถ้วนตามรูปแบบรายการ ทำให้ต้องจ่ายค่าจ้างสูงกว่าปริมาณงานที่ทำได้จริง, ไม่จัดส่งสำเนาสัญญาจ้างที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปให้ สตง.ตรวจสอบ

รวมไปถึงเจ้าหน้าที่มีพฤติการณ์หรือการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคาบางราย เช่น ไม่จัดส่งประกาศประกวดราคาไปเผยแพร่ยังหน่วยงานที่กำหนด, การพิจารณาผลประกวดราคาโดยพยายามนำเงื่อนไขตามเอกสารประกวดราคาที่ไม่ใช่สาระสำคัญมาตัดสิทธิ์ผู้เข้าเสนอราคาบางรายออกไป,

นอกจากนั้น การจัดหาพัสดุยังไม่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างเงินนอกงบประมาณ, หลีกเลี่ยงการสอบราคาโดยแบ่งวงเงินจัดซื้อจัดจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคา, หนังสือตกลงจ้างไม่ปิดอากรแสตมป์, ไม่ได้จัดทำรายงานการขอซื้อขอจ้าง, หรือจัดทำแต่ไม่ระบุเหตุผลในการขอซื้อขอจ้างและราคาที่เคยจัดซื้อจัดจ้างครั้งสุดท้าย, มีเงินประกันสัญญาที่พ้นภาระผูกพันตามสัญญาแต่ไม่ได้จ่ายคืนให้ผู้รับจ้าง, การฮั้วประมูล, การซอยโครงการขนาดใหญ่ให้เป็นโครงการขนาดเล็กเพื่อให้อยู่ในอำนาจการอนุมัติ, การเบียดบังทรัพย์สินราชการไปใช้ส่วนตัว การเบิกจ่ายงบเพื่อฝึกอบรมแต่เป็นการนำเที่ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น