xs
xsm
sm
md
lg

"ทางช้างเผือก" ใหญ่กว่าที่คิด จะชนกาแลกซีเพื่อนบ้านเร็วขึ้นใน 2-3 พันล้านปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพโครงสร้างกาแลกซีทางช้างเผือกจากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์สมิทโซเนียน โดยข้อมูลล่าสุดเผยว่าทางช้างเผือกอาจไม่เล็กอย่างที่เคยคิด (เอพี/ศุนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์สมิทโซเนียน)
นักวิทยาศาสตร์ทำแผนที่ 3 มิติของ "กาแลกซีทางช้างเผือก" พบมีมวลมากกว่าที่คิด 50% และกว้างกว่าเดิม 15% ล้างความเชื่อกาแลกซีบ้านเกิดของเราเล็กกว่า "แอนโดรมีดา" กาแลกซีเพื่อนบ้าน แต่ขนาดที่ใหญ่ขึ้น เร่งให้กาแลกซีทั้งสองชนกันเร็วขึ้น ภายใน 2-3 พันล้านปีนี้

ในอดีตนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่ากาแลกซีทางช้างเผือก (Milky Way) ที่เราอาศัยอยู่นั้นเป็นกาแลกซีขนาดเล็กกว่ากาแลกซีแอนโดรมีดา (Andromeda) ที่อยู่ใกล้กาแลกซีของเรามากที่สุด แต่ล่าสุดเอพีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ทำแผนที่ 3 มิติของทางช้างเผือก แล้วพบว่ากาแลกซีของเรานั้นกว้างกว่าที่คิด 15% และที่สำคัญมีความหนาแน่นมากกว่าข้อมูลเดิม และมีมวลมากกว่าเดิม 50% ซึ่งการค้นพบใหม่นี้ได้นำเสนอเมื่อต้นสัปดาห์ภายในการประชุมของสมาคมดาราศาสตร์สหรัฐฯ (American Astronomical Society) ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ

มาร์ค เรียด (Mark Reid) จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาวาร์ดสมิธโซเนียน (Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics) สหรัฐฯ ซึ่งศึกษาเรื่องนี้ กล่าวว่าเป็นความแตกต่างจากเดิมอย่างมาก และเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าเหมือนตัวเขาเองซึ่งสูง 165 และหนัก 63 กิโลกรัม โตขึ้นอย่างฉับพลันกลายเป็นคนที่สูง 190 เซนติเมตรและหนัก 95 กิโลกรัม ซึ่งพอๆ กับนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล

"ก่อนหน้านี้เราคิดว่าแอนโดรมีดามีอิทธิพลเหนือกว่าเรา และเราก็เป็นเหมือนน้องสาวคนเล็กของแอนโดรมีดา แต่ตอนนี้ดูคล้ายว่า เราเป็นเหมือนพี่น้องฝาแฝดกัน" เรียดกล่าว

ด้านสเปซดอทคอมระบุว่า ทีมวิจัยอาศัยกล้องโทรทรรศน์วิทยุเวรีลองเบสไลน์อาร์เรย์ (Very Long Baseline Array: VLBA) ของมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (National Science Foundation) จำนวน 10 ตัว ที่ตั้งกระจายอยู่หลายพื้นที่ ตั้งแต่ฮาวายถึงนิวอิงแลนด์ และทะเลคาริบเบียน เพื่อผลิตภาพโครงสร้างกาแลกซีของเราที่มีรายละเอียดสูง รวมถึงวัดระยะทางและการเคลื่อนที่ของพื้นที่ต่างๆ ในทางช้างเผือก

ผลจากการใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุศึกษาข้อมูลดังกล่าว พบว่ามวลของทางช้างเผือกตามข้อมูลใหม่นี้มากกว่ามวลของดวงอาทิตย์เรา 3 แสนล้านเท่า ซึ่งทำให้เกิดแรงดึงดูดจากแรงโน้มถ่วงมากขึ้นและดึงให้กาแลกซีเพื่อนบ้านและกาแลกซีขนาดเล็กเข้ามาชนกันเร็วขึ้น และยังพบอีกว่าระบบสุริยะของเราซึ่งห่างจากใจกลางกาแลกซีประมาณ 28,000 ปีแสงมีความเร็วที่มากกว่าความเร็วที่เคยคาดไว้ถึง 160,000กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีความเร็วอยู่ที่ 970,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ข่าวนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องดีนักเพราะขนาดทางช้างเผือกที่ใหญ่ขึ้นหมายความว่า กาแลกซีของเรามีโอกาสชนเข้ากับกาแลกซีเพื่อนบ้านอย่างแอนโดรมีดาได้เร็วกว่าที่คาดกันไว้ ทั้งนี้เรียดกล่าวว่าการเป็นกาแลกซีที่ใหญ่ขึ้นทำให้แรงดึงดูดระหว่างทางช้างเผือกและแอนโดรมีดาเข้มขึ้น

อย่างไรก็ดีเขาให้ความเห็นต่อว่าไม่ต้องกังวล เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 พันล้านปี

พร้อมกันนี้สเปซดอทคอมระบุด้วยว่า ทีมวิจัยได้ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุศึกษาพื้นที่ซึ่งมีการก่อตัวของดวงดาวในทางช้างเผือก โดยพบว่า โมเลกุลของก๊าซในพื้นที่ดังกล่าวจะเสริมพลังให้กับคลื่นวิทยุที่ปลดปล่อยออกมาโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เช่นเดียวกับแสงเลเซอร์ที่เพิ่มความเข้มให้กับแสงธรรมชาติ

ทีมนักดาราศาสตร์ติดตามสังเกตพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเรียกว่า "คอสมิคเมเซอร์" (cosmic masers) เมื่อโลกอยู่ในตำแหน่งตรงกันข้ามของวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของตัวเอง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถวัดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของแสงเปรียบเทียบกับวัตถุที่อยู่ไกลกว่า โดยแทนข้อมูลของตำแหน่งและการเคลื่อนที่ด้วยหลักคณิตศาสตร์ชั้นสูง

เรียดอธิบายว่า ทีมวิจัยยังพบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับโครงสร้างของกาแลกซีทางช้างเผือกที่เชื่อกันว่าเป็นกาแลกซีกังหัน 2 แขน แต่ข้อมูลใหม่ชี้ว่ากาแลกซีของเราเป็นกังหัน 4 แขน โดยพื้นที่ซึ่งมีการก่อตัวของดวงดาวมากที่สุดไม่ได้มีเส้นทางเป็นวงกลมเหมือนที่โคจรรอบกาแลกซี แต่เคลื่อนที่เป็นรูปวงรีและยังเคลื่อนที่ได้ช้ากว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งการโคจรเป็นวงรีนั้นทำให้กาแลกซีมีโครงสร้างเป็นก้นหอย

"การศึกษาครั้งนี้บ่งชี้ว่ากาแลกซีของเราน่าจะมี 4 แขน ไม่ใช่ 2 โดยแขนที่ยืนออกมาเป็นก๊าซและฝุ่นที่กำลังรวมตัวกันเป็นดวงดาว" เรียดกล่าว

อีกทั้งจากการบันทึกภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) บ่งชี้ว่า ดวงดาวเก่าๆ ก่อตัวขึ้นจากเพียง 2 แขนของกาแลกซี ซึ่งยังคงมีคำถามว่าทำไมจึงไม่มีการก่อตัวของดาวในแขนอื่นๆ และนักวิทยาศาสตร์ยังต้องการการวัดและการสำรวจมากกว่านี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น