"นาซา" จับมือมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ทำต้นแบบ "สุดยอดบอลลูนความดันสูง" ทดสอบสำเร็จเหนือแอนตาร์กติกา เปิดศักราชใหม่สำหรับการวิจัยวิทยาศาสตร์ ในชั้นบรรยากาศสูงๆ โดยบอลลูนต้นแบบสามารถนำการทดลองขึ้นไปแตะขอบอวกาศได้นานถึง 100 วันหรือมากกว่า
ไซน์เดลีรายงานว่า องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐฯ (National Science Foundation : NSF) ได้ร่วมกันพัฒนา "สุดยอดบอลลูนความดันสูง" (super-pressure balloon) ปริมาตรเกือบ 2 แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นบอลลูนที่มีความดันยิ่งยวดและมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยปล่อยลอยขึ้นฟ้า โดยมีการทดสอบไปเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.51 ที่ผ่านมา ณ สถานีแมคมัวร์ดู (McMurdo Station) ซึ่งเป็นศูนย์ในการขนส่งของมูลนิธิวิทยาศาสตร์ที่แอนตาร์กติกา
จากการทดลองสุดยอดบอลลูนฯ ลอยขึ้นฟ้าได้สูงกว่า 33,800 เมตร และรักษาระดับการบินได้นานถึง 11 วัน ซึ่งการทดลองดังกล่าวเป็นการทดสอบความแข็งแรงและการทำงานของบอลลูนรูปฟักทองที่มีเพียงหนึ่งเดียว และได้ใช้วัสดุพิเศษเป็นแผ่นฟิล์มโพลีเอธีลีนที่มีความหนาพอๆ กับพลาสติกห่ออาหารทั่วไป และหากการพัฒนาสิ้นสุดนาซาจะได้บอลลูนที่มีปริมาตรกว่า 6 แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งขนอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สู่ระดับความสูงเดียวกันนี้ อันเป็นระดับที่สูงกว่าระดับการโดยสารเครื่องบิน 3-4 เท่า
"การปล่อยบอลลูนเที่ยวทดสอบนี้ นับเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความสามารถใหม่แก่บอลลูน เพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานวิศวกรรมทางเสียงและการพัฒนาเชิงปฏิบัติการ โดยทีมพัฒนาได้ทำให้สุดยอดบอลลูนยกเครื่องมือที่หนักถึง 1 ตันขึ้นสู่ความสูง 33,800 เมตรได้และทำให้เห็นว่าพวดเขามาถูกทางแล้ว" ดับเบิลยู เวอร์นอน โจนส์ (W. Vernon Jones) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของนาซาด้านงานวิจัยใต้วงโคจรแห่งสำนักงานใหญ่ในวอชิงตันกล่าว
สำหรับการทดลองที่ใช้บอลลูนซึ่งมีความทนทานยาวนานเป็นพิเศษนั้นมีตุ้นทุนถูกกว่าใช้ดาวเทียม และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ส่งขึ้นไปนั้นสามารถกู้กลับคืนมาได้แล้วนำส่งขึ้นไปใหม่ ทำให้ทีมวิจัยคิดถึงสถานีสำหรับการทดลองที่ระดับสูงๆ
"ทีมพัฒนาบอลลูนของเรา ภูมิใจอย่างยิ่งกับความสำเร็จครั้งใหญ่ในเที่ยวทดสอบนี้ และพวกเขาต่างมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าการพัฒนาความสามารถของบอลลูนให้ลอยได้นานขึ้นเป็นเดือน เพื่อรองรับการสังเกตการณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจากเที่ยวทดสอบฉายภาพให้เห็นว่าเที่ยวบิน 100 วันของการบรรทุกสัมภาระปริมาณมากๆ คือเป้าหมายที่แท้จริง" เดวิด เพียซ (David Pierce) หัวหน้าสำนักงานโครงการบอลลูน (Balloon Program Office) ในเวอร์จิเนีย สหรัฐฯ ของนาซากล่าว
นอกจากสุดยอดบอลลูนเที่ยวทดสอบนี้ ยังมีการทดลองบอลลูนที่มีความทนทานอื่นๆ อีก 2 เที่ยวในช่วงปี 2551-2552 ได้แก่ บอลลูนของมหาวิทยาลัยฮาวายที่มานัว (University of Hawaii Manoa) สหรัฐฯ ซึ่งส่งบอลลูนขึ้นไปพร้อมกล้องโทรทรรศน์วิทยุเมื่อ 21 ธ.ค.51 ที่ผ่านมาเพื่อสำรวจร่องรอยของอนุภาคนิวทริโนพลังงานสูงที่อาจจมาจากนอกกาแลกซีทางช้างเผือกของเรา
และบอลลูนของมหาวิทยาลัยแมร์รีแลนด์ (University of Maryland) สหรัฐฯ ที่ส่งขึ้นไปเมื่อ 19 ธ.ค.51 และกลับเพิ่งลงมาเมื่อ 6 ม.ค.52 นี้ เพื่อวัดอนุภาคที่ให้รังสีคอสมิคซึ่งส่งมายังโลกโดยตรง หลังการระเบิดซูเปอร์โนวาสักแห่งในทางช้างเผือกของเราเอง
สำหรับสุดยอดบอลลูนความดันสูงนี้ นับเป็นไฮไลท์ของสภาวิจัยแห่งสหรัฐฯ ในการสำรวจแห่งทศวรรษเรื่อง "ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในสหัสวรรษใหม่" (Astronomy and Astrophysics in the New Millennium) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมใกล้อวกาศเพื่องานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในราคาไม่แพง
ทั้งนี้นาซาและมูลนิธิวิทยาศาสตร์ได้นำทดสอบบอลลูนเพื่อการทดลองวิทยาศาสตร์ระหว่างฤดูร้อนของแอนตาร์ติก โดยมูลนิธิวิทยาศาสตร์รับผิดชอบในการจัดการโครงการแอนตาร์กติกของสหรัฐฯ และสนับสนุนด้านการขนส่งเพื่องานด้านวิทยาศาสตร์ในแอนตาร์กติกาทั้งหมดของสหรัฐฯ