ไม่บ่อยนักที่อังกฤษจะได้สร้างประวัติศาสตร์บนห้วงอวกาศ แม้จะส่งมนุษย์คนแรกสู่อวกาศยังไม่ได้ แต่เด็กๆ นักเรียนเมืองผู้ดีก็ช่วยให้ "ตุ๊กตาหมี" ออกสู่อวกาศเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ พร้อมชุดอวกาศสำหรับ "เท็ดดี้เนาตส์" ที่เหล่านักเรียนช่วยกันออกแบบ
เอ็มเอที (M.A.T) และ เคเอ็มเอส (K.M.S) ตุ๊กตาหมีในชุดอวกาศ พร้อมเพื่อนอีก 2 ตัวได้ปฏิบัติภารกิจเดินทางแตะขอบอวกาศได้สำเร็จ และกลายเป็น "ตุ๊กตาหมีอวกาศ" หรือ เท็ดดี้เนาตส์ (Teddy-nauts) 4 ตัวแรกของโลก อีกทั้งยังเป็นผลงานของเหล่านักเรียนวัยเยาว์
ที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ได้รายงานกิจกรรมที่นักศึกษาของสถาบัน เป็นพี่เลี้ยงให้แก่เด็กๆ จากพาร์กไซด์ คอลเลจ (Parkside College) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมการบินอวกาศ (Spaceflight society) เพื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และอวกาศ โดยมีกิจกรรมแรกคือ การนำหมีน้อยส่งสู่ห้วงอวกาศ
ภารกิจส่งเท็ดดี้สู่อวกาศนี้ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.51 ที่ผ่านมา โดยนำ 4 ตุ๊กตาหมีติดเข้ากับลูกโป่งยักษ์ พร้อมด้วยกล้องบันทึกภาพ และติดตั้งระบบจีพีเอสเพื่อให้ติดตามตำแหน่งของ 4 หมีอวกาศนี้ได้โดยง่ายดาย
หลังปล่อยตุ๊กตาหมีขึ้นสู่ท้องฟ้า เหล่าเท็ดดี้เนาตส์ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 9 นาทีก็เดินทางถึงขอบอวกาศ ที่ระยะความสูง 30,000 เมตรจากพื้นโลก แต่ในที่สุดลูกโป่งที่เป็นเสมือนจรวดขับดัน ก็หมดพลังลง และตกลงมาสู่พื้นโลก ห่างจากจุดปล่อยน้องหมีไปประมาณ 80 กิโลเมตร
แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นการลงจอดแบบปลอดภัย เพราะตุ๊กตาหมีทั้ง 4 ตัวไม่ได้บุบสลายแต่อย่างใด
ก่อนที่พวกเด็กๆ เหล่านี้จะส่งตุ๊กตาหมีได้สำเร็จ พวกเขาใช้เวลาทดลองอยู่นับสิบๆ ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางในการลงสู่พื้นของตุ๊กตาหมี ที่ส่วนใหญ่ตกลงที่ทะเลทางด้านเหนือของประเทศ หรือไม่ก็แถบชายฝั่งเดนมาร์ก
คราวนี้ พวกเขาต้องคำนวณทิศทางการตก โดยนำข้อมูลกระแสลมและภูมิอากาศเข้ามาเป็นปัจจัย เพื่อให้ตกใกล้เคียงกับสถานที่ปล่อย
อีกทั้งชุดอวกาศที่ M.A.T. กับ K.M.S สวมใส่นั้น ถูกออกแบบมาให้ทนทานอุณหภูมิติดลบ 40-53 องศา โดยป้องกันไม่เห็นเป็นน้ำแข็งไปเสียก่อน ซึ่งเป็นผลงานของ 2 นักเรียนวัย 11 และ 12 ขวบ จากโรงเรียนใกล้เคียง โดยชื่อของ 2 หมีก็มาจากชื่อย่อของดีไซเนอร์ชุดอวกาศวัยเยาว์
ที่ตัวของเท็ดดี้เนาตส์มีเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิติดอยู่ที่บริเวณคาง และส่งสัญญาณเชื่อมลงมาที่คอมพิวเตอร์แล็บท็อป ซึ่งพวกเขานิยามว่า "ศูนย์ควบคุมภารกิจ" (mission control) เพื่อตรวจสอบขณะเดินทาง (แบบนี้คงคุ้นเคยกันดีในการปล่อยยานอวกาศของจริง)
นอจากนี้ หนังสือพิมพ์เดลีเมลของอังกฤษก็รายงานกิจกรรมของเด็กๆ ที่พยายามส่งหมีน้อยสู่อวกาศ โดยระบุว่า กิจกรรมนี้ไม่ใช่แค่การเรียนรู้แบบเด็กๆ แต่สำหรับนักศึกษาจากเคมบริดจ์ที่มาเป็นพี่เลี้ยงแล้ว พวกเขาต้องการตรวจสอบสภาพภูมิอากาศของชั้นสตราโตสเฟียร์
ทั้งนี้ พวกเขาต้องการวิเคราะห์ว่าวัสดุใดที่เหมาะสมพอสำหรับป้องกันการเกิดน้ำแข็งเกาะตามยานพาหนะ สำหรับเที่ยวบินสู่ขอบอวกาศ
ระหว่างที่นักศึกษาเป็นพี่เลี้ยงให้นักเรียนมีส่วนร่วม พวกเด็กๆ ก็ได้เรียนรู้เรื่องหลักฟิสิกส์ และหลักการต่างๆ เกี่ยวกับการเดินทางสู่อวกาศ จากนั้นนักเรียนก็สามารถประดิษฐ์ชุดหมีอวกาศออกมาได้สำเร็จ และพวกเด็กๆ ต่างก็ตื่นเต้นกับการทดลองที่เกิดขึ้นจริง
ไธอา อันส์เวิร์ธ (Thia Unsworth) วัย 12 ปีจากพาร์กไซด์คอลเลจ หนึ่งในผู้ร่วมออกแบบชุดให้ M.A.T. บอกว่า ไม่น่าเชื่อที่บอลลูนจะนำเท็ดดีไปสู่อวกาศได้ หนูน้อยบอกว่าจริงๆ แล้วเธอก็รักและชอบวิทยาศาสตร์มาตลอด แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าจะนำไปช่วยโลกจริงๆ ได้อย่างไร
ขณะที่แซม ไวต์ (Sam White) เพื่อนร่วมห้องวัย 13 ปี ที่รับหน้าที่ดูแลกล้องบันทึกภาพประจำบอลลูน ก็ตื่นเต้นและประหลาดใจมาก ที่เห็นภาพบอลลูนลอยสู่อวกาศอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ สเปซไฟล์ทโซไซตีที่นักศึกษาของเคมบริดจ์ตั้งขึ้นนั้น ก็เพื่อศึกษาหาช่องทางลดค่าใช้จ่ายในการบินสู่ขอบอวกาศ โดยในอนาคตพวกเขาตั้งเป้าไว้ว่า แทนที่จะใช้จรวดนำส่ง อาจเป็นบอลลูนยักษ์ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า
ที่สำคัญพวกเขาตั้งใจว่า จะหาหนทางสู่ขอบอวกาศด้วยมูลค่าไม่เกิน 1,000 ปอนด์ (ประมาณ 53,000 บาท)