xs
xsm
sm
md
lg

อวดโฉมโมเดล "สเปซชิปทู" พาแตะขอบอวกาศคนละ 6 ล้านเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพกราฟฟิกจำลองเที่ยวบินในวงโคจรย่อยของสเปซชิปทู (ภาพจากเวอร์จินกาแลกติก)
เอพี/เวอร์จินกาแลกติก - มหาเศรษฐีเครือเวอร์จินเปิดตัวโมเดลยาน "สเปซชิปทู" เตรียมพาแตะขอบอวกาศในอีก 2 ปีข้างหน้า ที่แม้จะเสียค่าตั๋วรายละ 6 ล้านบาทเพื่อให้ได้อยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงเพียง 4 นาที แต่ก็มีลูกค้าจ่ายเพื่อจับจองที่นั่งบนเที่ยวบินสุดล้ำนี้กว่า 200 คนแล้ว

เซอร์ริชาร์ด บรานสัน (Richard Branson) อภิมหาเศรษฐีเมืองผู้ดีเจ้าของเครือเวอร์จิน ผู้ก่อตั้งเวอร์จินกาแลกติก (Virgin Galactic) พร้อมด้วยวิศวกรและนักออกแบบยานอวกาศคู่ใจ "เบิร์ต รูทาน" (Burt Rutan) เจ้าของบริษัท สเกลด์ คอมโพซิตส์ แอลแอลซี (Scaled Composites LLC) ได้เปิดตัวแบบจำลองยานสเปซชิปทู (SpaceShipTwo) ไปอย่างเอิกเกริกแล้วเมื่อวันที่ 23 ม.ค.51 ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ในแมนฮัตตัน มลรัฐนิวยอร์ก

ก่อนหน้านี้ทุกคนรู้จัก "สเปซชิปวัน" (SpaceShipOne) ที่สร้างโดยรูทานและสนับสนุนโดยเจ้าของเครือเวอร์จิน ในฐานะอากาศยานเอกชนลำแรก ที่พามนุษย์สู่ขอบอวกาศหรือวงโคจรย่อย (suborbit) ได้สำเร็จบินถึง 2 หนในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ โดยสามารถคว้ารางวัล “อันซารี เอ็กซ์” (Ansari X Prize) มูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 300 ล้านบาท) เมื่อปี 47

แต่สเปซชิปวันบรรทุกผู้โดยสารได้เพียงแค่ 3 คนต่อการเดินทางในแต่ละครั้ง จึงทำให้ทางเวอร์จินกาแลกติกซึ่งต้องการเปิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอวกาศอย่างจริงจัง จึงมุ่งหน้าพัฒนายานให้บรรทุกได้มากขึ้น

เพียงแค่ 3 ปีโมเดลของ "สเปซชิปทู" ซึ่งนับเป็นเวอร์ชัน 2 จึงได้เผยสู่สาธารณชน ยานที่มีลักษณะเหมือนฝักถั่ว หน้าตาคล้ายกับเครื่องบินเช่าเหมาลำผสมกับกระสวยอวกาศ มีขนาดใหญ่กว่าและหนักกว่าสเปซชิปวันสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 6 คนพร้อมลูกเรืออีก 2 นาย ให้ทำหน้าที่นำทางสู่ขอบอวกาศ

ด้วยขนาดที่มากกว่าว่าเวอร์ชันแรกหลายเท่า ทำให้ต้องพัฒนาเครื่องบินไอพ่นแฝด "ไวต์ไนต์ทู" (White Knight Two: WK2) ตามมาด้วย เพื่อนำส่งสเปซชิปทูให้ถึงที่หมาย โดย WK2 ประกอบด้วยเครื่องไอพ่นขนาดใหญ่ 4 เครื่อง ไอพ่นอัศวินสีขาวนี้จะประกบสเปซชิปทูทางด้านซ้ายและขวาโดยอาศัยปีกร่วมที่มีความยาว 43 เมตร

ลักษณะปีกที่ยาวต่อกันของ WK2 นั้นคล้ายกับเครื่องบินทิ้งระเบิดโบอิง บี-29 ซูเปอร์ฟอร์เทรส (Boeing B-29 Superfortress) ทว่าเบากว่าเครื่องบินสมัยสงครามโลกรุ่นนี้มากนัก เพราะถูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุผสมที่ใช้สารประกอบคาร์บอนเป็นหลัก (คาร์บอนคอมโพสิต) จึงทำให้มีน้ำหนักเบาไม่แพ้พลาสติก ซึ่งนับเป็นอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดลำแรกของโลกที่สร้างขึ้นด้วยคาร์บอนคอมโพสิตทั้งลำ

ในการเดินทางเมื่อ WK2 นำสเปซชิปทูทะยานสู่ท้องฟ้าได้สูงในระดับหนึ่ง ก็จะแยกออกจากกัน และนักบินของสเปซชิปทูจะจุดเครื่องยนต์ซึ่งใช้เชื้อเพลิงผสมระหว่างไนตรัสออกไซด์กับเชื้อเพลิงของแข็งที่มีส่วนผสมของยางเป็นพื้นฐาน จากนั้นมุ่งหน้าสู่ขอบอวกาศที่ความสูง 110 ก.ม.

และนั่นเป็นจังหวะเดียวกับที่ลูกทัวร์กระเป๋าหนักจะได้พบกับสภาพไร้แรงโน้มถ่วงราว 4 นาทีครึ่ง โดยพวกเขาสามารถปลดเข็มขัดรัด แล้วล่องลอยออกจากที่นั่งเพื่อสัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนัก และชมภาพเส้นขอบฟ้าตัดกับอวกาศอันมืดมิด ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในยามที่อยู่บนพื้นโลก


จากนั้นนักบินก็จะบังคับปีกของสเปซชิปทูที่คราวนี้ออกแบบไว้ใต้ท้องยาน ต่างจากของสเปซชิปวันที่อยู่ด้านบน โดยหมุนไปในตำแหน่งที่เพิ่มแรงให้อากาศเคลื่อนที่ผ่าน จนเกิดแรงต้าน และชะลอความเร็วขณะที่ยานลดระดับสู่พื้นโลก ลงจอดเหมือนเครื่องร่อน

วิลล์ ไวต์ฮอร์น (Will Whitehorn) ประธานบริษัทเวอร์จินกาแลกติก ยืนยันว่า โครงการท่องอวกาศกับสเปซชิปทูนี้จะไม่ใช่เรื่องสวยหรูที่เป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ แน่นอน

เขาเผยว่า ขณะนี้ยานทั้ง 2 อยู่ระหว่างการสร้างที่โรงเก็บเครื่องบินในทะเลทรายโมฮาวี (Mojave Desert) ทางทิศตะวันตกของสหรัฐฯ
โดยไวต์ไนต์ทูนี้เสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 70% ส่วนตัวสเปซชิปทูก็คืบหน้ากว่า 60% ซึ่งทั้งเวอร์จินกาแลกติกและสเกลด์ คอมโพซิทส์ ซีซีแอล หวังจะได้ทดสอบเที่ยวบินได้กลางปีนี้

แม้ว่าค่าโดยสารของการไปแตะขอบอวกาศนั้นจะมีมูลค่าถึงที่นั่งละ 200,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6,000,000 บาท) แต่ไวต์ฮอร์นก็เผยว่าขณะนี้มีเงินโอนสู่เวอร์จินกาแลกติกแล้วกว่า 30 ล้านเหรียญ (ประมาณ 900 ล้านบาท) จากว่าที่ผู้โดยสารราว 200 คนจาก 30 ประเทศที่ยืนยันการเดินทาง อีกทั้งมีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางแตะขอบอวกาศทั้งสิ้นกว่า 85,000 คน โดยคาดว่าการเดินทางจริงจะเกิดขึ้นอย่างเร็วก็ปลายปีหน้า

อย่างไรก็ดี ก่อนท่องขอบอวกาศจะเริ่มขึ้นต้องมีการยืนยันถึงความปลอดภัยของยานทดสอบว่าปลอดภัยจริง แต่อุบัติเหตุเครื่องยนต์ระเบิดเมื่อ ก.ค.50 ระหว่างการทดสอบภาคพื้นดินปกติ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตถึง 3 คน ส่งผลให้กองตรวจความปลอดภัยในการทำงานแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียสั่งปรับบริษัทของรูทานไป 25,870 เหรียญ (ประมาณ 800,000 บาท)

ทว่าจนบัดนี้พนักงานสืบสวนตลอดจนวิศวกรของบริษัทยังหาสาเหตุของอุบัติเหตุไม่ได้ จึงทำให้การออกแบบยานล่าช้าไป
ส่วนรูทานเองก็ยอมรับว่าโครงการนี้มีความเสี่ยง แต่เมื่อถึงวันที่ต้องพาลูกทัวร์สู่อวกาศจริง จะต้องมีความปลอดภัยอย่างน้อยที่สุดก็ตามกฎระเบียบการบินที่มีมาตั้งแต่ 80 ปีก่อน

ทั้งนี้ เซอร์ริชาร์ดเองก็ได้จองตั๋วให้แม่กับพ่อของตัวเขาเองไว้แล้ว เพื่อยืนยันความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของการเดินทางด้วยสเปซชิปทู

นอกจากประโยชน์ในการท่องเที่ยวแล้ว โครงการนี้ยังเป็นความหวังในการขนส่งทางอวกาศในอนาคต เช่น การลำเลียงสัมภาระ ตลอดจนยานไร้มนุษย์ซึ่งบรรทุกดาวเทียมไปปล่อยยังวงโคจรย่อยของโลกได้ อีกทั้งยังมีการพูดถึงแบบจำลองท่าอวกาศยานอเมริกา (Spaceport America) ซึ่งเป็นฐานปล่อยยานอวกาศของเอกชนแห่งแรกในสหรัฐฯ ที่เมืองซีรา มลรัฐนิวเม็กซิโก ขณะที่บริษัทเวอร์จินกาแลกติกยังหมายตาสร้างฐานปล่อยยานที่สวีเดนไว้ด้วย
 ภาพกราฟฟิกจำลองภาพสเปซชิปทูพร้อมไวท์ไนท์ทูขณะบินเหนือท้องฟ้า (ภาพจากเวอร์จินกาแลกติก)



คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพ เวอร์จินอวดโฉมโมเดล "สเปซชิปทู" เพิ่มเติม


ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia





กำลังโหลดความคิดเห็น