xs
xsm
sm
md
lg

นาซาได้ทดสอบจรวด Ares I-X นัดแรก แต่ปลายทางอาจไม่ใช่ดวงจันทร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ได้เวลาที่เอเรสวัน-เอกซ์ รุ่นทดสอบ ทะยานออกจากฐานหลังปล่อยให้รอเก้อมาตั้งแต่เมื่อวาน (ภาพ NASA)
จรวดใหม่ถอดด้ามของนาซา ได้ฤกษ์ทดสอบครั้งแรกแล้ว นับเป็นก้าวแรกของการแสดงความสามารถ ก่อนจะกลับไปดวงจันทร์ตามที่ตั้งใจไว้ ทว่าทำเนียบขาวในยุคโอบามา ขอชะลอแผนสู่ดวงดาวไว้ก่อน ซ้ำอาจยืดอายุฝูงบินอวกาศในปัจจุบันออกไปอีก จากแผนเดิมจะให้ปลดระวางในปีหน้า

เอเรสวัน-เอกซ์ (Ares I-X) จรวดสูงขาวปลายแหลมราวดินสอที่เพิ่งเหลามาหมาดๆ ได้ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าสมใจองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เมื่อวันที่ 28 ต.ค.52 หลังจากเลื่อนกำหนดทดสอบมาอีกวัน เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ

เอเรสวัน-เอกซ์ตัวต้นแบบของยานสู่ดวงจันทร์ได้ทะยานออกจากฐาน 39B ที่ปล่อยกระสวยอวกาศอยู่ประจำ ที่ศูนย์อวกาศเคนนาดี บนแหลมคานาวารัล มลรัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 28 ต.ค. เวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น (23.30 น.ของวันเดียวกันตามเวลาประเทศไทย) โดยกำหนดปล่อยยานในวันที่สองนั้นต้องขยับออกไปเรื่อยๆ ช้ากว่ากำหนดเดิมประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่งเหตุเพราะสภาพอากาศ

ตัวจรวดนำส่งไม่ได้ไปไกลถึงขอบอวกาศ แต่หลังจากทะยานตัวออกไปเพียง 2 นาที จรวดก็แยกชิ้นส่วนในขั้นแรก โดยปลดตัวบูสเตอร์จุดระเบิดออกเป็นท่อนแรก และตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก โดยจะมีเรือรอเก็บชิ้นส่วน ซึ่งในกระบวนนี้นาซาจะใช้เวลาอีกนับเดือนเพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ ในการแยกตัว

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลว่า จรวดทะยานถึงจุดสูงสุดในตำแหน่งใด แต่คาดว่าน่าจะพุ่งได้สูงสุดที่ประมาณ 45 กิโลเมตรเหนือน้ำทะเล จากนั้นก็แยกตัวบูสเตอร์ออกมา ส่วนจรวดท่อนบนที่เหลือก็ปล่อยให้ตกสู่ทะเล เพราะยังไม่ใช่ส่วนห้องโดยสารที่จะใช้งานจริง

นาซาตั้งใจนำเอเรสมาใช้แทนฝูงกระสวยอวกาศ ที่ปฏิบัติการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในช่วงของการทดลองครั้งแรกนี้ ยังไม่มีลูกเรือหรือส่วนบรรทุกใดๆ ติดไปด้วย เพียงแค่ทดสอบระบบการยิงของตัวจรวด การแยกตัวของส่วนต่างๆ และเซนเซอร์อีกนับร้อยๆ ตัว

เฉพาะเที่ยวบินสั้นๆ ไม่กี่นาทีสำหรับการทดลองนี้ใช้เงินไป 445 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

จะว่าไปแล้วสำหรับนาซาก็นับเป็นการส่งอวกาศยานลำใหม่ในรอบ 30 ปี หลังจากเปิดใช้ฝูงกระสวยอวกาศโคลัมเบียในปี 1981 และหากได้ส่งยานทดสอบสู่ท้องฟ้าไปเมื่อวันที่ 27 ต.ค.52 ตามความตั้งใจเดิม ก็จะเป็นการฉลองครบรอบ 48 ปีของการส่งจรวดลำแรกในฝูงบินแซทเทิร์น (Saturn rocket) ที่เป็นต้นแบบในการนำมนุษย์สู่ดวงจันทร์ในโครงการอพอลโล (Apollo program)

จรวดเอเรสยาว 237 ฟุต ยาวกว่ายานอวกาศปกติเกือบ 2 เท่า แต่ก็ยังไม่สามารถลบสถิติจรวดที่ยาวที่สุดอย่างแซทเทิร์นไฟว์ฟ (Saturn V) ได้ คือ 363 ฟุต

การทดสอบปล่อยจรวดในครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถก้าวแรกของนาซาที่จะส่งมนุษย์เดินทางสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง ทว่าทำเนียบขาวได้ส่งสัญญาณว่า จะทบทวนการประเมินโครงการการบินอวกาศของมนุษย์ และอาจจะทิ้งเอเรสวันให้เป็นแค่จรวดใช้งานธรรมดา พร้อมๆ กับเป็นไปได้ว่าจะพับโครงการสู่ดวงจันทร์ไว้ก่อน

ขณะที่นาซาก็พยายามอย่างยิ่ง ที่จะให้เอเรสวันพร้อมเป็นอวกาศยานรับส่งมนุษย์ไปประจำการที่สถานีอวกาศนานาชาติในปี 2015 ซึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ต่อจากฝูงกระสวยอวกาศในปัจจุบันที่กำลังจะปลดระวางลงในช่วงปี 2010

ทว่าสำนักข่าวเอพีรายงานว่า คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลบารัค โอบามา อาจจะพิจารณายืดอายุการทำงานของฝูงกระสวยอวกาศเหล่านี้ให้ไปถึงปี 2017

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เหล่าผู้จัดการส่วนต่างๆ ของนาซาบอกว่า พวกเขาคงจะได้เรียนรู้จากการทดลองบินเหล่านี้มากขึ้น แม้ว่าจรวดจะถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์ให้ไปปฏิบัติภารกิจอื่น
เอเรสวัน-เอกซ์แทรกตัวผ่านชั้นบรรยกาศด้วยความเร็วสูง ทำให้เห็นไอน้ำอันเกิดจากความชื้น (ภาพ AP)






ชมคลิปจาก itnnews ในยูทูบ ซึ่งดึงภาพการปล่อยจรวดจากทีวีนาซา



ขั้นตอนการแยกตัวของจรวดในการทดสอบ จะติดตามดูแค่ตัวบูสเตอร์ในขั้นแรกก่อนเท่านั้น (ภาพ NASA)





คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia เพื่อรับชมภาพ นาซาทดสอบจรวด "Ares I-X" นัดแรก เพิ่มเติม

ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia

ยานพาหนะสู่ดวงจันทร์นวัตกรรมใหม่ในรูปแบบเก่าเฉกเช่นเดียวกับอพอลโล (ภาพ NASA)

กำลังโหลดความคิดเห็น