xs
xsm
sm
md
lg

มทส.เตรียมโคลนนิงกระทิงอีก 20 ตัว หลังทำสำเร็จแต่อยู่ได้แค่ 12 ชม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย กับลูกกระทิงโคลนนิงตัวแรกของไทยที่เกิดเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 51 แต่เสียชีวิตหลังจากนั้นเพียง 12 ชั่วโมง (ภาพจาก ผศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย)
นักวิจัยไทยทำสำเร็จแล้ว กระทิงโคลนนิงตัวแรกของไทย แต่น่าเสียดายที่ลืมตาดูโลกได้แค่ 12 ชม. ก็ตาย อีกตัวคลอดวันที่ 5 ธ.ค. แต่ตายก่อนหน้านั้นแล้ว นักโคลนนิงเผยปัญหาเพราะไม่รู้ชัดว่ากระทิงตั้งท้องกี่วันแน่ แต่ไม่ท้อ เพราะเตรียมเดินหน้าต่อทันทีปี 52 พร้อมทำเลียงผาโคลนนิงควบคู่ไปด้วย ส่วน "น้องกาย" แพะโคลนนิงตัวแรกแข็งแรงดี อีกไม่นานใกล้ได้เป็นพ่อแพะแล้ว

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 51 หนังสือพิมพ์หลายฉบับรายงานความสำเร็จของทีมนักวิจัยไทยที่นำโดย ผศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ประสบความสำเร็จในการโคลนนิงกระทิงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่ลูกกระทิงไม่ค่อยแข็งแรง จึงลืมตาดูโลกได้เพียง 12 ชั่วโมง ก็สิ้นใจ

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามไปยัง ผศ.ดร.รังสรรค์ เพิ่มเติมผ่านทางโทรศัพท์ ได้ความว่า ผศ.ดร.รังสรรค์ ร่วมกับนักวิจัยอีกหลายคนทดลองโคลนนิงข้ามสปีชีส์ในกระทิง เพื่อหาทางเพิ่มจำนวนกระทิง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์

นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างเซลล์ผิวหนังส่วนสะโพกของกระทิงเพศผู้ 2 ตัว ชื่อ "ทอง" และ "แสบ" และเพศเมีย 1 ตัว ชื่อ "ลีนา" จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ตั้งแต่เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว และนำมาเพาะเลี้ยงเก็บไว้ในธนาคารเซลล์ของศูนย์วิจัยฯ จากนั้นได้เลือกใช้เซลล์ผิวหนังของ "ทอง" ที่เพาะเลี้ยงไว้มาใช้เป็นเซลล์ต้นแบบในการโคลนนิงครั้งแรก โดยการฉีดเซลล์ของกระทิง 1 เซลล์ เข้าไปในเซลล์ไข่ของโคที่ได้ดูดเอาดีเอ็นเอเดิมออกไปก่อนแล้ว

จากนั้นเชื่อมเซลล์กระทิงให้ติดกับไข่โคด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน แล้วกระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์ ระหว่างนั้นเพาะเลี้ยงในห้องแล็บนาน 7 วัน แล้วจึงนำไปฝากไว้ในท้องของโคนมที่ตกไข่แล้ว 7 วัน รวมทั้งหมด 18 ตัว พบว่าตั้งท้องเพียง 3 ตัว หลังจากนั้นแท้งไป 2 ตัว ในช่วง 2-6 เดือน จึงเหลือแม่โคที่ตั้งท้องเพียง 1 ตัวเท่านั้น

เมื่อแม่โคดังกล่าวตั้งท้องครบ 275 วัน ทีมวิจัยจึงได้ผ่าตัดทำคลอดลูกกระทิงโคลนนิงออกมาเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2551 ช่วง 3 ชั่วโมงแรกพบว่าลูกกระทิงยังแข็งแรงดีอยู่ แต่หลังจากนั้นเริ่มหายใจติดขัด เมื่อสัตวแพทย์ตรวจร่างกายพบว่ามีน้ำในปอด จึงได้ดูดออก แต่ก็ยังเหลือค้างอยู่ ลูกกระทิงก็ยังมีอาการหายใจผิดปรกติ จนเสียชีวิตในที่สุด หลังคลอดออกมาได้ 12 ชั่วโมง

"ยังไม่มีใครรู้และยังไม่เคยมีรายงานว่าที่จริงแล้วกระทิงมีระยะเวลาตั้งท้องนานเท่าไหร่ บอกได้แค่ว่าอยู่ประมาณ 270-310 วัน แต่เรารู้ดีว่าวัวตั้งท้องนานแค่ไหน ดังนั้นเมื่อเรานำไปฝากไว้ในท้องแม่วัวนม ซึ่งมีระยะตั้งท้องนาน 275 วัน เราจึงสันนิษฐานว่าน่าจะใช้ระยะเวลาตามการตั้งท้องตามแม่วัวนม จึงได้ผ่าตัดทำคลอดเมื่อครบ 275 วัน" ผศ.ดร.รังสรรค์ แจง

"เมื่อลูกกระทิงเสียชีวิต สัตวแพทย์ได้ตรวจอวัยวะภายในพบว่าทุกอย่างปรกติดี ยกเว้นปอดที่มีน้ำอยู่ และปอดส่วนล่างยังเจริญไม่เต็มที่ สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะทำคลอดเร็วเกินไป ระยะเวลาตั้งท้อง 275 วัน อาจเร็วไปสำหรับกระทิง " ผศ.ดร.รังสรรค์ ตั้งข้อสันนิษฐานที่อาจเป็นเหตุให้ลูกกระทิงโคลนนิงเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของทีมนักวิจัยไทยในครั้งนี้นับเป็นรายที่ 2 ของโลกที่สามารถโคลนนิงกระทิงสำเร็จ แม้ลูกกระทิงโคลนนิงจะอยู่ดูโลกได้ไม่นาน ส่วนความสำเร็จการโคลนนิงกระทิงครั้งแรกของโลกนั้นทำโดยนักวิจัยในสหรัฐฯ เมื่อปี 2544 ซึ่งลูกกระทิงเสียชีวิตไปหลังจากคลอดออกมาเพียง 2 วัน

กระทั่งล่าสุดใช้เซลล์ผิวหนังของกระทิงสาวที่ชื่อ "ลีนา" เป็นเซลล์ต้นแบบ โดยใช้วิธีการเดียวกัน และนำตัวอ่อนไปฝากในท้องแม่โคนมจำนวน 30 ตัว แต่ตั้งท้อง 6 ตัว และแท้ง 5 ตัว จึงเหลือเพียง 1 ตัวที่ตั้งท้อง ทีมวิจัยได้ผ่าตัดทำคลอดในวันที่ 5 ธ.ค. เมื่อครบระยะเวลาตั้งท้องนาน 307 วัน แต่พบว่าลูกกระทิงเสียชีวิตก่อนหน้านั้นแล้ว แต่จากการตรวจร่างกายลูกกระทิงมีอวัยวะภายในทุกอย่างปรกติ นักวิจัยจึงคาดว่าอาจทำคลอดช้าไป

"ต้นปี 52 จะทดลองโคลนนิงกระทิงอีก แต่คราวนี้จะเลือกใช้วัวเนื้อพันธุ์บรามันลูกผสม ซึ่งเป็นวัวสายพันธุ์เขตร้อน จึงน่าจะใกล้เคียงกับกระทิงที่อยู่ในเมืองร้อนมากกว่าวัวนมจากเมืองหนาว และจะทดลองให้แม่วัวตั้งท้องสักประมาณ 290-295 วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างบำรุงแม่วัวให้พร้อมสำหรับรับตั้งครรภ์จำนวน 20 ตัว คาดว่าอีกไม่นานก็รับดำเนินการได้ทันที" ผศ.ดร.รังสรรค์ กล่าวถึงโครงการโคลนนิงกระทิงระยะต่อไป ซึ่งอาจต้องร่วมมือกับโรงพยาบาลสัตว์ใหญ่ที่มีความพร้อมมากกว่า สำหรับช่วยชีวิตลูกกระทิงหลังคลอดด้วย

เหตุที่ต้องโคลนนิงข้ามสปีชีส์ ผศ.ดร.รังสรรค์ ชี้แจงว่า เพราะไม่สามารถหาไข่กระทิงได้ และไม่มีแม่กระทิงที่จะมารับอุ้มท้อง เนื่องจากกระทิงในธรรมชาติเหลือน้อยมากและหายากเต็มที และด้วยความที่เป็นสัตว์ป่า การนำกระทิงมาเป็นแม่อุ้มบุญจึงไม่ง่ายนัก

ทั้งนี้ ช่วงต้นเดือน ม.ค. 52 ผศ.ดร.รังสรรค์ จะนำผลงานความคืบหน้าการโคลนนิงกระทิงดังกล่าวไปนำเสนอในการประชุมของสมาคมย้ายฝากตัวอ่อนนานาชาติ ที่เมืองซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา รวมทั้งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลการวิจัยเพื่อส่งไปตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติอีกด้วย

สำหรับโครงการโคลนนิงกระทิงนี้ทางทีมงานของ ผศ.ดร.รังสรรค์ ได้ร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน ทั้งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว, สวนสัตว์นครราชสีมา, ม.ขอนแก่น และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก มทส. และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เพื่ออนุรักษ์กระทิงไทยที่เหลือจำนวนน้อยลงเต็มที

นอกจากนี้ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "น้องกาย" แพะโคลนนิงเพศผู้ตัวแรกของไทยโดยฝีมือการทำโคลนนิงของ ผศ.ดร.รังสรรค์ ซึ่งลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 50 บัดนี้อายุปีกว่า สุขภาพแข็งแรงดี และใกล้ได้เป็นพ่อแพะในอีกไม่กี่เดือน

"ตอนนี้ได้รีดน้ำเชื้อน้องกายแล้วนำไปผสมเทียมกับแพะตัวเมีย ซึ่งน้ำเชื้อเขาแข็งแรงดีและทำให้แม่แพะหลายตัวตั้งท้องแล้วประมาณเดือนเศษ คาดว่าอีกราว 4 เดือนน่าจะคลอด ซึ่งทางเราก็รอดูผลว่าจะคลอดทั้งหมดกี่ตัว และลูกแพะจะเป็นอย่างไรบ้าง" ผศ.ดร.รังสรรค์ เผยความคืบหน้า

ส่วนสัตว์อื่นๆ ที่ ผศ.ดร.รังสรรค์ กำลังศึกษาเพื่อทดลองโคลนนิงอีกในเร็วๆ นี้คือ เลียงผา สัตว์ป่าอีกชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ และหลังจากนี้เราคงต้องมาร่วมลุ้นกันต่อไปว่าทีมวิจัยจะสามารถทำให้กระทิงโคลนนิงและเลียงผาโคลนนิงตัวต่อๆ อยู่รอดและกลับคืนสู่ป่าได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์จะติดตามความคืบหน้าเพื่อนำมารายงานให้ทราบเพิ่มเติมกันต่อไป.
ผศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย (ภาพจากแฟ้ม)
น่าเสียดายกระทิงน้อยที่อยู่ดูโลกได้ไม่นาน เพราะมีน้ำในปอด และปอดยังเจริญไม่เต็มที่ (ภาพจาก ผศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย)
หน้าตาน่ารักน่าชัง (ภาพจาก ผศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย)
ปัญหาสำคัญของการโคลนนิงกระทิงคือไม่มีไข่กระทิงและแม่กระทิงมารับตั้งท้อง และแม้ว่าจะทำให้แม่โคตั้งท้องลูกกระทิงได้ แต่นักวิจัยยังไม่รู้แน่ชัดว่าที่จริงแล้วกระทิงตั้งทองนานเท่าใด (ภาพจาก ผศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย)
ทอง กระทิงเพศผู้จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวที่เอื้อเฟื้อเซลล์ผิวหนังให้นักวิจัยนำไปทดลองโคลนนิง (ภาพจาก ผศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย)
กำลังโหลดความคิดเห็น