xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มข. พบวิธีลดผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดด้วยเมลาโทนิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภญ.รศ.ดร.นุจรี ประทีปะวณิช จอห์นส
อาจารย์เภสัช ม.ขอนแก่น ทดลองให้เมลาโทนินกับผู้ป่วยมะเร็ง ช่วยลดผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดได้ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นชัดเจน เดินหน้าศึกษาเพิ่มเติม เพื่อขึ้นทะเบียนยา หวังช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยมะเร็ง ตั้งเป้าผลสำเร็จอย่างเร็วสุด 2 ปี พร้อมพัฒนาวิธีสังเคราะห์เมลาโทนินเพื่อลดการนำเข้า

ภญ.รศ.ดร.นุจรี ประทีปะวณิช จอห์นส อาจารย์และนักวิจัย ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ได้ศึกษาและทดลองให้เมลาโทนิน (melatonin) เป็นยาเสริมแก่ผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยเคมีบำบัด พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับเมลาโทนิน มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และได้รับผลข้างเคียงจากยาน้อยลง

"ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่จะต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด และมักเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยามากน้อยต่างกัน ส่วนเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่มีอยู่ในร่างกายสิ่งมีชีวิต และจะหลั่งออกมาในขณะนอนหลับ โดยไปมีผลช่วยควบคุม่สมดุลของร่างกาย และจากรายงานการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งจะมีเมลาโทนินต่ำกว่าคนปรกติ ยิ่งหากมีอาการหนักมาก เมลาโทนินก็ยิ่งน้อยมาก นักวิจัยจึงสันนิษฐานกันว่า ฮอร์โมนชนิดนี้เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง" ภญ.รศ.ดร.นุจรีแจง

ทั้งนี้ ในบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ มีการใช้เมลาโทนินเป็นอาหารเสริม แต่สำหรับในประเทศไทย อนุญาตให้ใช้เมลาโทนินเป็นยาได้เท่านั้น จึงต้องผ่านกระบวนการวิจัยและขั้นตอนต่างๆ เพื่อขึ้นทะเบียนยา จึงจะสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยได้

ภญ.รศ.ดร.นุจรี ทดสอบประสิทธิภาพของเมลาโทนินในผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 30 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน กลุ่มแรกจะได้รับยาหลอก อีก 2 กลุ่มได้รับเมลาโทนินขนาด 10 และ 20 มิลละกรัมต่อวัน เสริมกับการให้เคมีบำบัดตามปรกติ ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้นักวิจัยทดสอบในผู้ป่วยด้วยการสุ่มแบบปกปิด และประเมินผลด้วย แฟคต์-จี (FACT-G) ซึ่งเป็นเครื่องมีวิเคราะห์คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้ในงานวิจัยทั่วโลก

ผลการทดลองพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับเมลาโทนินมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และแตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างเห็นได้ชัด ส่วนอาการข้างเคียงจากเคมีบำบัดก็ลดน้อยลง แต่ผลของเมลาโทนินต่อเซลล์มะเร็งยังไม่พบความแตกต่างของทั้ง 3 กลุ่ม

"ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าจะต้องให้เมลาโทนินแก่ผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหนจึงจะเหมาะสม หากการให้เมลาโทนินเป็นยาเสริมกับการให้เคมีบำบัดแล้วให้ผลดีกับผู้ป่วยจริง ก็จะดำเนินการขึ้นทะเบียนยาทันที โดยหวังไว้ว่าอย่างเร็วที่สุด ภายใน 2 ปีนี้ เพราะเมลาโทนินมีราคาไม่แพงเท่าใดนัก แต่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้มาก" ภญ.รศ.ดร.นุจรี กล่าว

นอกจากนี้นักวิจัยยังได้ศึกษาการสังเคราะห์เมลาโทนินควบคู่ไปด้วย เพราะปัจจุบันไทยยังต้องนำเข้าเมลาโทนินจากต่างประเทศ แม้ว่าจะไม่แพงมาก แต่หากผลิตได้เองภายในประเทศ ก็จะยิ่งช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งถูกลงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น