xs
xsm
sm
md
lg

แผนใช้พลังงานทดแทนบรรลุผล รง.อุตฯ-เกษตรกรใช้ก๊าซชีวภาพแพร่หลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ธนากร  วงศ์วัฒนาเสถียร
ศูนย์ข่าวขอนแก่น -กระทรวงพลังงาน โอ่แผนส่งเสริมใช้พลังงานทดแทนประสบผล ยกเฉพาะก๊าซชีวภาพบังเกิดผลรูปธรรม ระบุโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่และเกษตรกรรายย่อยใช้แพร่หลาย ตั้งเป้าสร้างความมั่นคงพลังงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เล็งปรับใช้แผนแม่บทพลังงานทดแทนในเร็ววันนี้ ล่าสุดจับมือม.ขอนแก่น โชว์ผลศึกษาใช้ก๊าซชีวภาพผลิตปุ๋ยอัดเม็ดในฟาร์มเลี้ยงหมูสำเร็จ เผยเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงสุกร ได้ประโยชน์ทั้งลดใช้น้ำมัน สร้างมูลค่าเพิ่ม และลดภาวะโลกร้อน เตรียมขยายผลสู่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์อื่นทั่วประเทศ

นางจินตนา เหล่าฤชุพงศ์ หัวหน้ากลุ่มเทคโนโลยีพลังงานก๊าซชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันผันผวนในตลาดโลกอย่างรุนแรง ล่าสุดราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลงเหลือไม่ถึง 60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากที่เคยปรับขึ้นไปสูงสุดมากกว่า 140 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิดในประเทศปรับลงเช่นกัน

แม้ราคาน้ำมันจะลดลงก็ตาม แต่แผนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเชื่อว่าราคาน้ำมันจะยังคงผันผวนต่อไป จำเป็นต้องมีการหาแหล่งพลังงานทดแทนในประเทศมารองรับ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานกับประเทศ ประโยชน์ต่อเนื่อง จะทำให้เงินหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ ไม่รั่วไหลออกสู่ต่างประเทศ

ทั้งนี้อนาคตอันใกล้จะมีการปรับใช้แผนแม่บทพลังงานทดแทน 15 ปี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น ก่อนนำข้อเสนอแนะปรับปรุงแผนแม่บท เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป ที่ผ่านมาผลการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนประสบผลสำเร็จน่าพอใจพลังงานทดแทนหลายชนิดในประเทศ มีสัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้ก๊าซเอ็นจีวี , เอทานอล เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ การใช้พลังงานลม และพลังงานจากขยะ

โดยเฉพาะการใช้ก๊าซชีวภาพ (Biogas) ซึ่งเป็นก๊าซที่ได้จากการหมักน้ำเสียจากกระบวนการแปรรูปผลิตผลเกษตร น้ำเสียจากการเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นพลังงานทดแทนที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ณ ปัจจุบัน ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลเกษตร และเกษตรกรรายย่อย

นางจินตนา กล่าวต่อว่า กรณีตัวอย่างโรงงานผลิตแป้งมัน นำก๊าซชีวภาพที่หมักได้จากน้ำเสียแป้งมัน มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งการใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันเตา เป็นเชื้อเพลิงในหม้อต้ม อีกทั้งยังมีก๊าซชีวภาพอีกจำนวนมาก มาใช้เป็นพลังงานในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในโรงงานผลิตแป้งมัน และกระแสไฟฟ้าส่วนที่เหลือยังสามารถส่งจำหน่ายคืนสู่ระบบให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอีกด้วย

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ก๊าซชีวภาพ ในโรงงานแป้งมัน นอกจากแก้ปัญหาน้ำเสีย ทำให้สิ่งแวดล้อมภายในโรงงานดีขึ้นแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนการผลิตแป้งมันลงได้มาก จากการลดค่าใช้จ่ายลงในหลายส่วน ลดการนำเข้าน้ำมันเตาที่ต้องใช้ในการผลิต ลดค่าใช้จ่ายซื้อกระแสไฟฟ้า และที่สำคัญโรงงานยังมีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่กฟผ.

ปัจจุบันโรงงานผลิตแป้งมันแทบทุกแห่ง มีการลงทุนในกระบวนการผลิตภายในโรงงาน นำน้ำเสียมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ใช้ภายในโรงงานกันอย่างแพร่หลาย พร้อมกับลงทุนเพิ่มในการซื้อเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าใช้เองและจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีการขยายผลไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมอื่น เช่น โรงงานเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่

หัวหน้ากลุ่มเทคโนโลยีพลังงานก๊าซชีวภาพ กล่าวว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ยังเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อย ที่มีวัตถุดิบในการหมักเป็นก๊าซชีวภาพ ผลิตก๊าซชีวภาพอีกด้วย โดยที่ผ่านมาได้สนับสนุนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ที่มีหน่วยการเลี้ยงต่ำกว่า 500 ตัว นำน้ำเสียและมูลสัตว์มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ

ล่าสุดกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ว่าจ้างนักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการศึกษาการใช้ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานในการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด ขณะนี้ผลการศึกษาแล้วเสร็จ ซึ่งใช้ระยะเวลากว่า 1 ปี และนำเสนอผลการศึกษาการฯ ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทในการขยายผลการใช้ก๊าซชีวภาพในเครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดไปสู่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยทั่วประเทศและเกษตรกรส่วนอื่นต่อไป

ชี้ก๊าซชีวภาพช่วยลดการใช้น้ำมัน ย้ำเกิดประโยชน์สูงสุด

รศ.ดร.ธนากร วงศ์วัฒนาเสถียร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้ศึกษาการใช้ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานในเครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด เปิดเผยว่า การเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายย่อย แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงพลังงานจะเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) จากน้ำเสียและมูลสุกร ได้สำเร็จผลแล้ว แต่ในทางปฏิบัติการใช้ก๊าซชีวภาพกลับไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ มีก๊าซชีวภาพเหลือทิ้งจำนวนมาก

สำหรับสภาพทั่วไป ฟาร์มเลี้ยงสุกรขนาดเล็ก จะผลิตก๊าซชีวภาพ ได้ประมาณ 5 ลูกบาศก์เมตร/วัน แต่เกษตรกรรายย่อยจะนำก๊าซชีวภาพที่ไปใช้หุงต้มภายในครัวเรือนประมาณ 1-2 ลูกบาศก์เมตร/วันเท่านั้น จึงเหลือก๊าซชีวภาพปล่อยทิ้งถึง 3-4 ลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งก๊าซชีวภาพมีองค์ประกอบมีเทน เป็นต้นเหตุหลักของการเกิดภาวะเรือนกระจก ทำให้โลกร้อน ขณะเดียวกันกากที่เหลือจากกระบวนผลิตก๊าซชีวภาพ จะนำไปขายได้ในราคาต่ำ

ปัญหาดังกล่าว กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินโครงการศึกษาใช้ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานในเครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ก๊าซชีวภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ก๊าซชีวภาพสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดได้ ทั้งเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน ในลักษณะเชื้อเพลิงร่วมและทดแทนได้เกือบ 100%

รศ.ดร.ธนากร กล่าวต่อว่า โครงการศึกษาดังกล่าว จะนำกากตะกอนที่เหลือจากแปรรูปก๊าซชีวภาพ ที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช มาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดในเครื่องอัดที่ถูกออกแบบ กรณีเครื่องยนต์ดีเซล จะต้องใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับน้ำมันดีเซล โดยทำให้เครื่องยนต์ประหยัดน้ำมันลงได้ประมาณ 14-20% ส่วนเครื่องยนต์เบนซินสามารถใช้ก๊าซชีวภาพได้เกือบ 100% โดยจะต้องใช้น้ำมันเบนซินในขั้นตอนสตาร์ทเครื่องเท่านั้น

ผลการศึกษาดังกล่าว เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงสุกรมาก เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กากตะกอนที่แปรรูปเป็นปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดแล้วสามารถขายได้ราคาสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 1 บาท เป็นกิโลกรัมละ 5 บาท ขณะเดียวกันเกษตรกรสามารถลดค่าน้ำมันลงได้ตามสัดส่วนดังกล่าว และที่สำคัญ ลดปริมาณก๊าซชีวภาพเหลือทิ้ง ช่วยลดปริมาณก๊าซมีเทน ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนลดปริมาณลงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น