xs
xsm
sm
md
lg

"เทอดดำริ"ผลิตเอทานอลจากข้าวฟ่างหวานเล็งขายจีน-อินเดีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อร่วมกันพัฒนาพลังงานทดแทนระหว่างบริษัท เทอดดำริ และมข.
ศูนย์ข่าวขอนแก่น- “เทอดดำริ” ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลกว่า 1,200 ล้านบาท ผุดโรงงานเอทานอล ครบวงจรพร้อมโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ปลายปี 52 เล็งใช้วัตถุดิบหลักจากข้าวฟ่างหวานกว่า 85% ดันสร้างความร่วมมือม.ขอนแก่น ผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกร ส่วนตลาดไร้ปัญหา พุ่งเป้าส่งออก 100% ที่ตลาดจีน/อินเดีย มั่นใจศักยภาพตลาดขนาดใหญ่มีฐานประชากรกว่า 2,500 ล้านคน

เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีพิธีลงนาม ทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยรศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับดร.สุพล ศิวิลัย ประธานบริษัท เทอดดำริ จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนาพลังงานทดแทน โดยบริษัทเทอดดำริ เตรียมการวางแผนก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลขนาดกำลังการผลิตประมาณ 200,000 ลิตร/วัน ที่อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

ดร.สุพล ศิวิลัย ประธานบริษัท เทอดดำริ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีโครงการที่จะลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล ในลักษณะการลงทุนครบวงจร ก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลกำลังผลิต 200,000 ลิตร/วัน ควบคู่กับโรงไฟฟ้าชีวมวล ในบริเวณเดียวกัน ที่อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท แยกเป็นการลงทุนผลิตเอทานอลประมาณ 600 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าชีวมวล 600 ล้านบาท

จุดเด่นของโรงงานเอทานอลที่จะก่อสร้างประมาณปลายปี 2552 จะติดตั้งเครื่องจักรผลิตจากประเทศเยอรมนี โดยใช้วัตถุดิบหลักจากข้าวฟ่างหวานมากถึงร้อยละ 85 พืชพลังงานชนิดใหม่ที่สามารถแปรรูปเป็นเอทานอลจากลำต้น ส่วนที่เหลือเป็นพืชที่ปลูกได้ในพื้นที่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง โดยบริษัทฯสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับข้าวฟ่างหวาน ที่จะนำมาแปรรูปเป็นเอทานอลได้

แผนงานหลังจากลงนามร่วมกันแล้ว บริษัทจะส่งทีมงานพร้อมกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าไปสำรวจพื้นที่รอบโรงงาน เตรียมการในด้านงานส่งเสริมเกษตรกรรอบโรงงาน ปลูกข้าวฟ่างหวานป้อนโรงงานให้เพียงพอต่อการผลิต ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเข้ามาช่วยเหลือในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวฟ่างหวานป้อนให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการผลิตของโรงงาน

ส่วนด้านการตลาด บริษัทจะผลิตเพื่อการส่งออก 100% ตลาดหลักคือ จีนและอินเดีย แต่ละประเทศมีประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน รวมกันมากกว่า 2,500 ล้านคน ถือเป็นตลาดใหญ่ของโลก อีกทั้งได้ทำสัญญาซื้อขายเอทานอลไว้ล่วงหน้าแล้ว ราคารับซื้อข้าวฟ่างหวานจากเกษตรกร จะเป็นราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ และทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่อ.ด่านขุนทดและใกล้เคียงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแน่นอน

ขณะเดียวกันการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล จะนำกากข้าวฟ่างหวานมาเป็นวัตถุดิบเป็นเชื้อเพลิง ปั่นกระแสไฟฟ้า ส่งจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตเอทานอล ขณะเดียวกันจะทำให้การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น