ม.ขอนแก่น ประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุดตรวจกรองแอนติบอดี ในเลือดผู้บริจาค ก่อนนำไปให้ผู้รับ ใช้จริงที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์มานานกว่า 4 ปี ล่าสุดถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนไทย รับช่วงผลิตเชิงพาณิชย์ ช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการตรวจถูกลงกว่าใช้ชุดตรวจนำเข้าครึ่งหนึ่ง
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค), มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และ บริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมกันลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ "ชุดทดสอบเพื่อใช้ตรวจหาปฏิกิริยาแอนติบอดีต่อแอนติเจนบนเม็ดเลือดแดง" เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
รศ.ดร.อมรรัตน์ ร่มพฤกษ์ นักวิจัยจากคลังเลือดกลาง คณะแพทยศาสตร์ มข. เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า โดยปรกติก่อนที่จะนำเลือดของผู้บริจาคไปให้แก่ผู้ป่วย จะต้องผ่านขั้นตอนสำคัญคือการตรวจหาหมู่เลือด (ABO) ความเป็นบวกหรือลบ (Rh) และการตรวจกรองหาแอนติบอดีต่อแอนติเจนของหมู่เลือดระบบต่างๆ ว่าจะสามารถนำไปให้กับผู้ป่วยได้หรือไม่
"การตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน จะทำในหลอดทดลอง ซึ่งต้องอาศัยบุคลากรที่มีความชำนาญสูง และอาจเกิดความผิดพลาดจากการเขย่าหลอดทดลองเพื่ออ่านผลการทดสอบ จึงได้มีผู้คิดค้นและพัฒนาชุดทดสอบ เจล เทสต์ (gel test) โดยอาศัยหลักการเจล ฟิวเตรชัน (Gel Filtration) สำหรับใช้ในการตรวจหาปฏิกิริยาการจับกลุ่มของเม็ดเลือดแดงมานานกว่า 10 ปีแล้ว" รศ.ดร.อมรรัตน์ กล่าวและบอกว่า
ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าชุดทดสอบเจล เทสต์ จากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพง จึงคิดพัฒนาชุดทดสอบขึ้นไมโครทิวบ์ เจล เทสต์ (Microtube gel test) ขึ้นใช้เองจากวัสดุอุปกรณ์ที่มีใช้งานในห้องแล็บอยู่แล้ว ซึ่งเทคนิคการตรวจแบบเจลเทสต์นี้ช่วยลดข้อผิดพลาดของเทคนิคเดิมได้ ลดขั้นตอนการทำงานลงไปหลายขั้นตอน สามารถตรวจได้หลายตัวอย่างพร้อมกัน และให้ผลการทดสอบแม่นยำ
ทั้งนี้ รศ.ดร.อมรรัตน์ ได้พัฒนาชุดทดสอบดังกล่าวเมื่อปี 2547 โดยได้รับทุนวิจัยจากไบโอเทค ซึ่งสำเร็จภายใน 6 เดือน และหลังจากนั้นก็ผลิตขึ้นใช้งานจริงที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มข. เรื่อยมา และได้รับสิทธิบัตรแล้วเมื่อปี 2549 ซึ่งชุดทดสอบนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ในงานตรวจเลือดได้หลายวัตถุประสงค์ เช่น ตรวจหมู่เลือดในเด็กแรกเกิด เป็นต้น โดยการปรับเปลี่ยนสารทดสอบที่บรรจุอยู่ในไมโครทิวบ์ตามความเหมาะสมกับประเภทการทดสอบ
ด้านนายนพดล พันธุ์พานิช กรรมการบริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่าได้เห็นชุดทดสอบนี้เมื่อต้นปีในงานประชุมของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็เกิดความสนใจนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยต้องมีการพัฒนากระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยขณะนี้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 4,000 ชุดทดสอบต่อวัน
"ในช่วงแรกจะผลิตให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ก่อน และกำลังอยู่ระหว่าขอรับรองมาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะผลิตจำหน่ายได้ในเดือน ม.ค. 2552 โดยชุดทดสอบนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการทดสอบต่อ 1 การทดสอบถูกลงกว่าใช้ชุดทดสอบนำเข้าประมาณ 50% จากปรกติ 1 การทดสอบมีค่าใช้จ่ายประมาณ 20 บาท แต่หากใช้ชุดทดสอบที่ไทยผลิตขึ้นจะเหลือเพียง 10 บาท" นายนพดล กล่าว.