xs
xsm
sm
md
lg

สัตวแพทย์ไทยโชว์ผลสำเร็จผสมเทียมช้างจากน้ำเชื้อแช่แข็งครั้งแรกของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง – คณะสัตวแพทย์ไทยประสบผลสำเร็จในการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งเป็นครั้งแรกของโลก หลังร่วมกันศึกษาและวิจัยนานกว่า 8 ปี เชื่อมั่นช่วยปลุกกระแสการอนุรักษ์-ผสมพันธุ์ช้างทั่วโลก

วันนี้ (18 พ.ย.) ที่ห้องประชุมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง คณะสัตวแพทย์ประจำศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯและทีมงานจาก คณะสัตวแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้เปิดแถลงข่าว ความสำเร็จในการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งเป็นครั้งแรกของโลก หลังร่วมกันศึกษาและวิจัยมานานกว่า 8 ปี ซึ่งโครงการนี้มีช้างตั้งท้องด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นรายแรกของโลก

นายสัตวแพทย์สิทธิเดช มหาสาวังกุล หัวหน้าฝ่ายโรงพยาบาลช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เปิดเผยว่า หลังประสบความสำเร็จในการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อสด ทีมวิจัยจึงเริ่มทดลองใช้น้ำเชื้อช้างซึ่งรีดเก็บแช่แข็งในถังไนโตรเจนเหลว ที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส มาใช้ในการผสมเทียม แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมายังไม่มีการยืนยันว่ามีการตั้งท้องด้วยวิธีการดังกล่าว

กระทั่งวันที่ 27-29 ตุลาคม 2550 ทีมวิจัยได้ทำการผสมเทียมในแม่ช้างชื่อ “พังสาว” อายุ 26 ปี ช้างในปางช้างแม่สา จ.เชียงใหม่ อีกครั้ง ซึ่งหลังจากทำการผสมเทียมได้ตรวจสอบปริมาณฮอร์โมน ในกระแสเลือดทุกสัปดาห์ และได้ทำการอัลตราซาวนด์ในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม 2551 จนยืนยันแล้วว่าพังสาวตั้งท้องด้วยการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อช้างแช่แข็งเป็นรายแรกของโลก ซึ่งพังสาวมีกำหนดคลอดประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน 2552 โดยหลังจากตั้งท้องปางช้างแม่สา ได้ให้พักงานและจัดทีมสัตวแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด

สำหรับการผสมเทียมช้างทั้งการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อสด หรือน้ำเชื้อแช่แข็ง มีข้อดีหลายประการ โดยในการผสมเทียมจะมีความแม่นยำและชัดเจนมากกว่าการผสมตามธรรมชาติ เนื่องจากมีขั้นตอนการติดตามช้างเพศเมียในเรื่องความพร้อม ที่จะเริ่มตั้งแต่การวัดระดับฮอร์โมนไปจนถึงวันตกไข่ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3 วัน ขณะที่ช้างเพศผู้จะมีการรีดน้ำเชื้อมาตรวจสอบถึงความสมบูรณ์ของน้ำเชื้อ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดความสมบูรณ์พันธ์ของทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ ความสำเร็จของการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งของไทยครั้งนี้ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความพยายามของทีมวิจัยไทยในการอนุรักษ์ช้างอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับกับสถานการณ์ช้างในปัจจุบันที่ประชากรช้างไทยลดน้อยลง ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากช้างพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ อยู่กันคนละพื้นที่ทำให้มีอุปสรรคในการเดินทางทั้งถือเป็นทางออกในการอนุรักษ์ช้างไทย

นอกจากนี้ องค์ความรู้ดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้กับช้างทั่วโลก ทั้งสายพันธุ์เอเซียและสายพันธุ์แอฟริกา ซึ่งมั่นใจว่าความสำเร็จในครั้งนี้จะสร้างความตื่นตัวให้กับองค์กรอนุรักษ์ช้าง ทั่วโลกในการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ช้างได้เป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น