xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์ลุ่มน้ำโขง พบพันธุ์พืชและสัตว์ใหม่กว่า 1,000 สปีชีส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งูเขียวไผ่ภูหลวง (Trimeresurus gumprechti) พบครั้งแรกในปี 2545 และพบได้ทั้งในไทย ลาว เวียดนาม พม่า และจีน (WWF)
WWF - ครั้งแรกในรอบ 10 ปี เปิดกรุสมบัติความหลากหลายทางชีวภาพ ในแถบลุ่มน้ำโขง องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เผยรายงานล่าสุดของการค้นพบสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่ครั้งสำคัญกว่า 1,000 ชนิด ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาบริเวณประเทศแถบลุ่มน้ำโขง มีทั้งกิ้งกือมังกรสีชมพู หนูคะยุที่เคยคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วนับล้านปี รวมทั้งแมงมุมขาขาวที่ใหญ่สุดในโลก

เฟิร์ส คอนแทคต์ อิน เดอะ เกรทเตอร์ แม่โขง (First Contact in the Greater Mekong) เป็นรายงานฉบับพิเศษครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่รวบรวมชนิดพันธุ์พืช และสัตว์ที่ถูกค้นพบใหม่จำนวน 1,068 ชนิด ในแถบลุ่มน้ำโขง และยังไม่เคยมีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการมาก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของลุ่มน้ำแห่งนี้

ทั้งนี้ มีการค้นพบ สายพันธุ์ใหม่ถึง 2 ชนิดพันธุ์ใน 1 สัปดาห์ โดยสรุปชนิดพันธุ์พืชที่ถูกค้นพบได้ถึง 519 ชนิด ปลา 279 ชนิด กบ 88 ชนิด แมงมุม 88 ชนิด จิ้งจก 46 ชนิด งู 22 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 15 ชนิด เต่า 4 ชนิด นก 4 ชนิด ซาลาเมนเดอร์ 2 ชนิด คางคก 1 ชนิด และคาดว่าจะมีสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอีกนับพันชนิด ที่ถูกค้นพบ

“ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่านี้อีกแล้ว เราคิดว่ามันสมควรที่จะต้องถูกบันทึกเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติวิทยา และเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศในแถบลุ่มโขงนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการอนุรักษ์ในระดับโลก” บทสรุปชัดเจนจาก สจ๊วต แชปแมน ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ของดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ เกรทเตอร์ แม่โขง (WWF Greater Mekong)

การค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่เหล่านี้ ไม่แตกต่างไปจากการค้นพบแผ่นดินใหม่บนโลกใบนี้ ตัวอย่างเช่น หนูคะยุ (Laotian rock rat) ซึ่งเป็นหนูชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนเขาหินปูน ที่เราคิดว่าสูญพันธุ์ไปเมื่อ 11 ล้านปีที่แล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบโดยบังเอิญในตลาดสดเล็กๆ แห่งหนึ่งในประเทศลาว หรือการเจองูเขียวหางใหม้ท้องเขียวใต้ (Siamese Peninsula pitviper) ที่กำลังเลื้อยผ่านนักท่องเที่ยวในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในประเทศไทย

นอกจากนั้นยังพบแมงมุมขายาว (Huntsman spider) ซึ่งเป็นแมงมุมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยขาแต่ละข้างยาวถึง 30 ซ.ม. ลองคิดดูถ้า ขาทั้ง 8 ของแมงมุมชนิดนี้กางออกพร้อมกัน ขนาดของมันจะใหญ่เพียงใด หรือกิ้งกือมังกรสีชมพู (Dragon millipede) ที่มีลำตัวสีชมพูจัดจ้านแต่แฝงไปด้วยพิษของไซยาไนด์ที่มันสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันตัวเอง

“นี่คือการยืนยันความมหัศจรรย์ในความหลากหลายทางชีวภาพ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเสมือนชุมทางหรือจุดเชื่อมต่อของ ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทย คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะชนิดพันธุ์ต่างๆ ในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ มีการกระจายมาจากเทือกเขาหิมาลัย แม่น้ำโขง ทะเลอันดามัน และระบบนิเวศอื่นๆ อีกมากมาย” ดร.วิลเลี่ยม เชดล่า ผู้อำนวยการ WWF ประเทศไทย ย้ำบันทึกหน้าสำคัญที่จะกลายเป็นประวัติธรรมชาติวิทยาของโลก

“มีการรับรู้และเข้าใจที่ผิดๆ ที่ว่าภูมิภาคนี้ ไม่มีความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรจึงถูกคุกคามบนความไม่รู้มาก่อน แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว เกือบทุกครั้งที่ออกไปสำรวจมักจะพบกับความหลากหลายของชนิดพันธุ์ใหม่ๆ แต่โชคร้ายว่า การสำรวจจะต้องแข่งขันกับการคุกคามที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว” ราอูล เบน ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งอเมริกา แสดงความเห็นที่ต้องขบคิด

วันนี้สายน้ำและผืนป่าที่โอบอุ้มความร่ำรวยของความหลากหลายทางชีวภาพอันล้ำค่า กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตท่ามกลางความกดดันและแรงบีบคั้นจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการที่จะปกป้องรักษาสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงในการดำรงอยู่ของมนุษย์โดยการลดปัญหาความยากจน และการสร้างความเชื่อมั่นที่จะเป็นหลักประกันในการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์และถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ในแถบประเทศลุ่มน้ำโขง

ขณะนี้องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ได้ประสานงานกับรัฐบาล และภาคอุตสาหกรรมของประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า และจีน (ตอนใต้) ในการวางแผนการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน ครอบคลุมพื้นที่ที่ต่อเนื่องกันกว่า 600,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อดำเนินการอนุรักษ์ผืนป่า และแหล่งน้ำจืด อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่มีความโดดเด่น แต่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ข้อตกลงร่วมกันระหว่าง 6 ประเทศ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่ง

“ไม่มีใครรู้ว่าจะมีการค้นพบชนิดพันธุ์อะไรอีกในดินแดนแถบนี้ แต่ที่แน่ๆ ทุกคนรับรู้ว่า ยังมีสัตว์และพืชอีกมากมายที่ยังรอการถูกค้นพบ โลกวิทยาศาสตร์ของเราเพิ่งจะเริ่มทำความรู้จักกับสิ่งที่ผู้คนในภูมิภาคแห่งนี้คุ้นเคยมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ” สจ๊วต กล่าวทิ้งท้าย.
งูเขียวไผ่หางเขียว (Trimeresurus vogeli) พบครั้งแรกที่เขาใหญ่ในปี 2544 (WWF)

คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia เพื่อรับชมภาพ นานาสัตว์สปีชีส์ใหม่แห่งลุ่มน้ำโขง

ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia

งูปล้องฉนวนภูเขาเขมร (Lycodon cardamomensis) พบครั้งแรกทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา ในปี 2545 (WWF)
กบ Chiromantis samkosensis มีลือดสีเขียว กระดูกสีเทอร์ควอยซ์ พบครั้งแรกในปี 2550 ในประเทศกัมพูชา (WWF)
กิ้งกือมังกรสีชมพู พบครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2550 และติด 1 ใน 10 อันดับการค้นพบสปีชีส์ใหม่ครั้งสำคัญของโลกด้วย (WWF)
แมงมุม Heteropoda dagmarae มักออกหากินเวลากลางคืน พบในประเทศลาว และได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสปีชีส์ใหม่ในปี 2548 (WWF)
กำลังโหลดความคิดเห็น