ความพ่ายแพ้ชนิดที่ต้องใช้คำว่า "หลุดลุ่ย" ของทีมยุโรปในศึกกอล์ฟสองทวีปไรเดอร์คัพครั้งที่ 37 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วยสกอร์ 16 1/2 ต่อ 11 1/2 ส่งให้ทีมสหรัฐฯ ได้กลับมาชื่นชมถ้วยไรเดอร์คัพเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1999 ทั้งที่ก่อนหน้าจะลงทำการแข่งขันทีมสวิงแยงกี้นั้นอยู่ในสถานะที่เรียกว่า "เสียเปรียบ" ทุกทาง เพราะนอกจากจะไร้มือหนึ่งของโลกอย่างไทเกอร์ วู้ดส์ แล้ว กัปตันทีมอย่าง อาร์ซิงเกอร์ ก็หันไปเรียกใช้บริการของโปรดาวรุ่งที่ครั้งนี้ถูกบรรจุชื่ออยู่ในทีมชนิดครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว
อันที่จริงแล้วเค้าลางที่ถ้วยไรเดอร์คัพจะหลุดจากมือของ นิค ฟัลโด กัปตันทีมยุโรปไปอยู่ในมือของ พอล อาซิงเกอร์ นั้นเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่การคัดเลือกตัวผู้เล่นของกัปตันมือใหม่นับตั้งแต่ตัดรายชื่อ ดาร์เรน คลาร์กในฐานะไวลด์การ์ดทั้งที่โปรรายนี้คือกำลังสำคัญที่ทำให้ยุโรปคว้าแชมป์ปี 2006 โดย ฟัลโดมอบสิทธิดังกล่าวให้กับ พอล เคซี่ย์ และยังซ้ำรอยเดิมด้วยการเมินที่จะเลือกใช้บริการของ คอลิน มอนท์โกเมอร์รี่ย์ โปรจอมเก๋าชาวสก๊อตแลนด์ ที่มีสกอร์ในไรเดอร์ คัพดีกว่าโปรหมายเลขหนึ่งโลกอย่างไทเกอร์ วู้ดส์เสียอีก
แต่ก็ใช่ว่าทัพไรเดอร์คัพยุโรปของกัปตันฟัลโด จะขี้เหร่ เพราะครั้งนี้ ฟัลโด คัดโปรมือดีของยุโรปมาร่วมทีมชนิดแกร่งยิ่งกว่าปูนตราเสือ ทว่าถ้วยไรเดอร์คัพ นั้นความแกร่งเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอ ยังต้องอาศัยมันสมองของกัปตันทีมเข้ามาช่วยด้วยและท้ายที่สุด พอล อาซิงเกอร์ ก็แสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นรองเพียงใดแต่ถ้ารู้จักเดินหมากอย่างไรเสียชัยชนะก็ไม่หนีไปไหน
ความพ่ายแพ้ของทีมยุโรปในครั้งนี้นับว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของฟัลโด เพราะนอกจากการวางแผนจับคู่จะผิดพลาดแล้ว การวางใจนักกอล์ฟ “บิ๊กเนม” เพียงอย่างเดียวก็ใช่ว่าจะคว้าชัยชนะได้ ดังเช่นที่เขาพยายามให้เซอร์จิโอ การ์เซีย เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของทีมซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การ์เซีย ก็ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ฟัลโด ฝากเอาไว้ได้เช่นกัน
ทั้งนี้สื่อในอังกฤษอย่างเดอะซัน ได้รวบรวมเอาความผิดพลาดหรือ 6 โชว์ห่วยของกัปตันฟัลโด ในไรเดอร์ คัพ ครั้งนี้ไว้ในบทความประจำฉบับวันจันทร์ที่ 22 กันยายน 51 ซึ่งทุกข้อหาก นิค ฟัลโด ยอมรับและนำไปปรับปรุงเชื่อว่าอีกสองปีข้างหน้าหากเขายังคงฐานะกัปตันทีมต่อไปถ้วยไรเดอร์ คัพ น่าจะกลับคืนสู่แผ่นดินยุโรปได้อย่างแน่นอน
1. การตัดชื่อดาร์เรน คลาร์ก ออกจากทีมยุโรป นับเป็นความผิดพลาดข้อแรกสำหรับกัปตันมือใหม่อย่าง นิค ฟัลโด แม้ว่า เอียน โพลเตอร์ จะพิสูจน์ให้เห็นว่าศรัทธาที่ ฟัลโด มีให้ต่อเขานั้นไม่ทำให้ผิดหวัง แต่ผลงานของ คลาร์ก ที่ เค คลับในไรเดอร์ คัพปี 2006 จนทำให้ทีมยุโรปสามารถคว้าแชมป์มาครองได้นั้น ชื่อของโปรชาวไอริชน่าจะมาเป็นอันดับหนึ่งในฐานะไวลด์ การ์ด มากกว่า พอล เคซี่ย์เสียอีก
2 . การจับคู่ระหว่าง เฮนริค สเตนสัน และ พอล เคซี่ย์ ในการแข่งขันรอบ โฟร์ซัมส์ นับเป็นอีกครั้งของความผิดพลาดเพราะสองนักกอล์ฟต่างเป็นพวกเปิดเกมบุก น่าจะดีกว่านี้หากฟัลโด จะจับให้ทั้งคู่ได้เล่นคู่กันในการแข่งขันแบบ โฟร์บอลส์
3. ฟัลโด ยังคงซ้ำรอยเดิม เมื่อเขาตัดสินใจไม่เลือก โรเบิร์ต คาร์ลสัน โปรชาวสวีเดนลงเล่นในการแข่งขันโฟร์บอลล์ส ทั้งที่ทุกคนในทีมต่างรู้กันดีว่า คาร์ลสันนั้นเป็น "เบอร์ดี้ แมชชีน" โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาพสนามที่ไม่ได้ยากเย็นนักอย่างวาลฮาลลา และโปรชาวสวีเดนก็แสดงให้เห็นในการแข่งขันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
4. เซอร์จิโอ การ์เซีย ที่ลงสนามทั้งสองรอบเมื่อวันศุกร์ได้พักในช่วงเช้าของวันเสาร์ หากฟัลโด จะคิดสักนิดว่าลูกทีมที่ล้ามาตลอดรอบแรกต้องการพักเขาคงไม่เข็นให้โปรมือดีชาวสเปน ลงเล่นโฟร์บอลในช่วงบ่ายและทำให้ผลงานในประเภทเดี่ยวของการ์เซียในวันอาทิตย์มีอันต้องหลุดสวิงไปโดยปริยาย
5. การแยกคู่หู คู่ทำคะแนนอย่าง การ์เซีย และ เวสต์วู้ด ในการแข่งขันโฟร์บอลล์ส ของรอบวันศุกร์ กลายเป็นเรื่องกิ้งกือตกท่อเพราะถ้าจุดประสงค์ของกัปตันทีมต้องการให้เวสต์วู้ด ได้พัก ก็น่าจะรอให้ลูกทีมคู่นี้เล่นจนจบทั้งสองรอบ และสั่งพักในวันรุ่งขึ้นจะดีกว่า
6. การเรียกตัวผู้เล่นในประเภทเดี่ยวของ ฟัลโด กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนกังขาในการตัดสินใจของกัปตันทีม เพราะในห้วงเวลาที่ยุโรปกำลังเสียเปรียบกัปตันควรจะส่งโปรที่เปิดเกมบุกและเก็บคะแนนให้กับทีมลงสนามก่อน ไม่ว่าจะเป็น โพลเตอร์, เวสต์วู้ด และ แฮร์ริงตัน แต่ฟัลโด กลับเปิดตัววันสุดท้ายด้วยผู้เล่นที่ล้าแล้วอย่าง การ์เซียและพอล เคซี่ย์