xs
xsm
sm
md
lg

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ‘เสือมีปีก’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครบางคนบอกว่าผู้ชายคนนี้เหมือน ‘เสือ’ เวลาที่เขาอยู่ในป่า แต่บางคนก็ว่าผู้ชายคนนี้มีท่วงทำนองชีวิตเหมือนนกที่มี ‘ปีกอิสระ’ โบยบินตามเส้นทางที่ตัวเองเลือกอย่างทระนงองอาจ ไม่กวัดแกว่ง ไม่แยแสต่อแรงฉุดกระชาก

การเป็นช่างภาพสัตว์ป่าอาจไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับสังคมตะวันตก แต่สำหรับประเทศนี้ ประเทศที่มีผู้นำฉลาดกว่านกยูงโง่ๆ 3 ตัว การเป็นช่างภาพสัตว์ป่าจึงเป็นอาชีพที่มีต้นทุนทางชีวิตค่อนข้างสูง การยืนระยะถึง 2 ศตวรรษของช่างภาพสัตว์ป่ามือหนึ่งของไทย ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ จึงเป็นประหนึ่งงานประติมากรรมของแรงบันดาลใจอยู่กลายๆ

‘จากป่าลึกสู่ปารีส’ งานแสดงภาพถ่ายสัตว์ป่าครั้งแรกของเขา (จัดร่วมกับช่างภาพหนุ่ม ศุภชัย เกศการุณกุล) กำลังแสดงอยู่ที่ People Space ณ แพร่งภูธร ทั้งยังเป็นการออกจากป่าในรอบหลายเดือนหรืออาจจะหลายปี หลังจากไปฝังตัวอยู่ในป่าดิบที่นราธิวาส วันนี้เขามาเดินเหินอยู่ในเมืองและพบเจอผู้คนบ้างตามคำชักชวนของเพื่อนพ้องน้องพี่

เราตามไปพบเขาที่ People Space ใต้แสงไฟสีเหลืองนวล นั่งฟังประสบการณ์ที่ถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงนุ่มทุ้มของเขา...‘เสือมีปีก’

ป่า-เมือง

เราเริ่มต้นจากงานแสดงภาพครั้งแรกของเขา

ม.ล.ปริญญากร บอกว่างานเริ่มขึ้นจากความคิดของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เจ้าสำนักโอเพ่นบุ๊คส์ ที่อยากให้เขาได้ออกจากป่ามาพบปะผู้คน

“คอนเซ็ปต์มันคือ ‘จากป่าลึกสู่ปารีส’ คือมีงานปารีสของคุณศุภชัย เขาอยู่ปารีสมา 6 ปี ซึ่งมันก็คือเรื่องเดียวกัน อะไรที่มันเกิดขึ้นในป่า มันก็จะเกิดขึ้นในเมืองเหมือนกัน ถ้าเกิดป่ามันไม่เหลือแล้ว มันก็ต้องย้อนไปที่ต้นเหตุว่าเราได้ทำลายธรรมชาติ ผลจึงย้อนกลับมาในเมือง

“เราไม่ได้ทำงานร่วมกันขนาดออกพื้นที่ด้วยกัน น้องเขาก็ทำของเขามา ผมก็ทำของผม เพียงแต่ว่ามันออกมาในแนวเดียวกัน เขาถ่ายรูปความเป็นเมืองใหญ่ ภาพก็สะท้อนอารมณ์เหงา ก็เหมือนกัน อย่างรูปกวางผา มันก็อยู่ในสภาพที่ติดเกาะ เพราะความเจริญที่บุกรุกจนมันไม่มีที่ไปแล้ว ขณะที่คนเองก็อาจมีสภาพแบบนั้นเหมือนกัน เพียงแต่คนอยู่ในเมือง มันเป็นวิธีคิดเหมือนกัน”

“เราอาจต้องนั่งนิ่งๆ แล้วคิดดูว่าจริงๆ มันคือเรื่องเดียวกัน ทำไมโลกมันถึงร้อน แล้วถามว่าแค่เราใช้ถุงผ้ามันเลิกได้จริงเหรอ เราต้องย้อนกลับไปให้รู้ว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ เหมือนกับเราต้องกลับไปศึกษาว่าการที่กวางตายสักตัวในป่ามีผลอะไรเกิดขึ้น มันก็เกี่ยวพันมาเรื่อยๆ

“จริงๆ ป่าไม่ใช่เรื่องของความไร้อารยะ ไม่ใช่ ถ้าพูดถึงสังคมมนุษย ในป่ามันก็มีสังคมแบบนั้นเหมือนกัน ในระหว่างสัตว์ป่าด้วยกัน มันก็มีอาวุโส มีการแบ่งเขตกัน ไม่รบกวนกัน เมื่อไหร่ที่รุกล้ำอาณาเขตก็ต้องตีกัน ตัวเล็กก็ต้องเคารพตัวใหญ่ แม่ก็ต้องสอนลูก มันเป็นเรื่องปกติมาก สัตว์มันจะตีกันก็เพราะมารุกล้ำอาณาเขตกู กูเตือนแล้วไม่ฟังใช่มั้ย ก็ต้องไล่กัน ลงมือ ลงเขี้ยว”

แล้วบรรยากาศของการสนทนาก็พัดพาเราไปสู่องศาต่างๆ มากมาย...

หนุ่ม-แก่

เป็นครั้งที่สองของเขาที่มีผลงานร่วมกันมิตรสหายที่หนุ่มกว่า

“จริงๆ แล้วมันเป็นความตั้งใจผมนะ พวกนี้ก็เพื่อนผมทั้งนั้นแหละ แล้วงานมันก็เข้ากันได้ดี แม้ว่าวัยอาจจะต่างกัน แต่จริงๆ แล้วคิดแบบเดียวกัน และผมก็ยินดีที่จะมีน้องมาทำงานด้วยกัน เราก็ไปด้วยกัน เดินจับมือไปด้วยกันดีกว่า เราอาจเป็นผู้ใหญ่กว่า เราอาจจะแข็งแรงกว่า เราก็ช่วยดึงมือน้อง ให้ไปด้วยกัน

“ผมเคยบอกว่าผมไม่ค่อยรู้สึกแย่ที่ผมอายุมากหรือแก่ ผมรู้สึกดีกับมันด้วยซ้ำไปที่ผมอายุขนาดนี้ เพราะว่าผมไม่ได้เสียความรู้สึกกระตือรือร้นไป มันยังอยู่ เพียงแต่ผมมีประสบการณ์ที่มาเสริมความกระตือรือร้น ทำให้ทำงานได้ เราต้องเป็นไปตามวัย เราไม่ได้บอกว่าต้องเก็บความเป็นเด็กไว้ในตัว แต่เป็นความกระตือรือร้นที่จะไม่คิดว่ากูแก่ฉิบหายแล้ว กูไม่เอาแล้ว”

อะไรคือวิธีเก็บความกระตือรือร้น?

“ในเนื้องานนั่นแหละที่พยายามจะคิดถึงว่าจะทำมันยังไงดี อีกเรื่องหนึ่งคือการได้อยู่ในกลุ่มเพื่อนๆ ที่อายุน้อยกว่าก็เป็นการช่วยกันคิด ได้รู้จักมุมมองที่เขามองโลกปัจจุบัน

“เรื่องความหนุ่มกับความแก่ บางทีหลายเรื่องที่เราคิด เราสรุปไปในตอนนั้น แต่พอผ่านไป 10 ปี ผมก็ไม่ได้คิดแบบนั้นแล้ว บทสรุปผมเปลี่ยนไปแล้ว บางทีผมก็เอามุมมองเก่ามาเขียนเหมือนกัน เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นซ้ำอีก เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราก็เจอแบบนี้ แต่ผมก็จบไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว วิธีคิดเปลี่ยนไปตามวัย ตามสิ่งที่พบเจอ ความเข้าใจโลกเรามากขึ้น เมื่อก่อนผมเคยเขียนว่าลุงแก่มายิงเก้ง ผมก็รู้สึกไม่พอใจ แต่เดี๋ยวนี้ผมก็โอเคล่ะ แต่เรียกผมไปกินด้วย ผมไม่กิน คุณจะกินก็กินไปเถอะ”

เราถามเขาว่าตอนนี้อายุเท่าไหร่ ม.ล.ปริญญากร หัวเราะครึกครื้น ตอบแค่ว่า

“แก่มากแล้ว แก่ขึ้น เดินช้าลง”

ต้นทุน

“ใช้เวลาอยู่ในป่ามากกว่าเดิม เพราะปัญหาเรื่องเศรษฐกิจนั่นแหละ ผมไม่สามารถเดินทางบ่อยๆ ได้ ไปก็ต้องไปอยู่เลย จะได้ลดค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมัน

“มีโฆษณาตัวหนึ่งที่ช่างภาพสัตว์ป่ามีบัตรเครดิตรูด ที่จริงมันไม่ใช่อย่างนั้น ไม่มีปัญญาหรอก (หัวเราะ) แต่ก็เลี้ยงชีวิตไปได้ หมายความว่าคุณต้องเขียนเรื่องด้วยนะ ทั้งเขียน ทั้งถ่ายรูปประกอบงานเขียน คืองานเขียนของผมมันก็เหมือนคำบรรยายภาพอย่างยาวเท่านั้นเอง เมื่อเรามีคอลัมน์ประจำอยู่ในนิตยสาร 4-5 เล่ม นั่นก็คือเงินเดือนประจำที่เราอยู่ได้ ที่ผ่านมาไม่ลำบาก แต่ในช่วงนี้ที่นำมันมันแพงมหาศาลแบบนี้เริ่มลำบากแล้ว”

เขาเล่าว่าการเข้าเมืองครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อพูดคุยกับผู้ที่อาจจะเข้ามาสนับสนุนการถ่ายภาพสัตว์ป่าของเขา

“เมื่อก่อนผมจะปฏิเสธเรื่องการออกมาพบผู้คน การออกงาน ผมจะเลี่ยง ไม่ได้หยิ่งหรอกนะ แต่บางทีมันไม่มีประเด็นจะพูดก็ไม่รู้จะพูดอะไร แต่ตอนนี้ก็เริ่มคิดใหม่ เมื่อก่อนผมปฏิเสธความช่วยเหลือ ถึงตรงนี้ผมก็คิดใหม่ว่า ถ้าผมจะทำไปให้ถึงระดับดีจริงๆ ผมต้องมีผู้ช่วยเหลือ ที่หมายถึงมีคน มีสปอนเซอร์ มีผู้ช่วยกล้อง เพราะการทำงานแบบนี้ในเมืองไทยค่อนข้างลำบาก และเท่าที่ผ่านมาผมก็ได้แสดงความตั้งใจให้คนเห็นอยู่บ้างแล้ว ไม่ใช่เราไม่มีอะไรเลย แล้วอยู่ๆ ก็เดินเข้าไปคุยกับเขาว่าเราอยากทำ แล้วถามว่าไหนงานมึง เคยทำอะไรมาบ้าง อย่างนี้คงลำบากเหมือนกัน”

ครอบครัว

“ก็...เอ่อ มันเหมือนกับต้องเลือกเอาอย่างหนึ่ง บอกได้แค่ว่าต้องเลือกเอาแบบหนึ่ง เหมือนกับเราไม่ได้อะไรหมดทุกอย่าง”

มนุษย์อารยะ?

“เสียงหรือภาพมันโหดมาก อย่างเวลาหมาในมันล่า โอ้โฮ สัตว์ยังไม่ทันตายมันก็กระฉากเนื้อออกมาแล้ว เสียงวัวแดงร้อง ถามว่าในฐานะความเป็นช่างภาพมันก็อยากได้รูป แต่ที่แย่กว่านั้น เราเข้าไปยุ่งไม่ได้ มันเป็นเรื่องของเขา เราไม่สามารถเอาไม้ไล่เขวี้ยงหมาในบอกว่าอย่าทำแบบนี้ เราทำไม่ได้ เราต้องยอมรับกฎเกณฑ์ แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือมันเป็นนาทีที่โหดร้ายมาก เสียงการกระฉากเนื้อมันสุดๆ จริงๆ”

แต่ถึงอย่างไร การฆ่า ความโหดเหี้ยมของสัตว์ป่า มันเป็นเพียงหน้าที่ที่ธรรมชาติมอบหมายให้ แล้วมนุษย์ล่ะ... ก่อนหน้านี้เขาลงไปทำงานในป่าดิบที่นราธิวาส เราจึงซักถามเกี่ยวกับสภาพที่นั่น ที่ที่เขาบอกว่าเป็นพื้นที่สีแดง แดงแบบเข้มๆ

“ผมว่ามันต้องใช้เวลาอีกนานมากๆ ถ้าจะแก้เรื่องนี้ (เน้นเสียง) คือตอนที่ผมไปอยู่กับชาวบ้าน เหมือนผมอยู่ต่างประเทศ วัฒนธรรม ประเพณี ก็เป็นสิ่งที่เหมือนย้อนเวลากลับไปประมาณ 30 ปี ภาษาผมก็ฟังไม่รู้เรื่อง ยังไม่ต้องพูดถึงวิธีคิด ถ้าการจัดการเรายังคิดแบบกรุงเทพฯ มันไม่มีทางแก้ได้ เท่าที่ผมคุยกับชาวบ้านนะ ผมไม่รู้หรอกว่าใครเป็นขบวนการ แต่ชาวบ้านเขาก็ไม่ต้องการแยกไปอยู่กับใครหรอก อยู่กับเรานี่แหละ เพียงแต่ปล่อยให้เขาเป็นตัวเขาเองได้มั้ย ลูกเขาไม่ต้องไปเข้าโรงเรียนธรรมดาได้มั้ย เพราะเขาเชื่อว่าสายทางโลกทำให้เด็กเขาแย่ เขาต้องการให้ลูกเขาเข้าปอเนาะ

“เออนะ มนุษย์แม่งไร้สาระฉิบหาย (หัวเราะ) แล้วมาบอกว่าสัตว์โง่ อย่างที่ผมบอกว่าสัตว์มันมีเหตุผลในการทำร้ายกัน มันแย่งอาณาเขต มันไม่เคารพอาวุโส แต่คนเราสามารถทำร้ายกันแค่มองตากัน ไม่ชอบหน้ากันก็ชกกันได้ ยิงกันได้ แค่ขับรถไม่ยอมกันก็ยิงกันได้ ซึ่งมันไร้สาระมากๆ"

ความกล้า

“ผมถึงบอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือเวลาที่เราต้องมีปัญหากับคนบนถนน ผมคิดว่าชีวิตเรามีค่ามากกว่านั้น มันง่ายมากที่จะลงไปเปิดประตูแล้วต่อยกัน ยิงกัน แต่จะทำยังไงที่จะรู้สึกว่ากูไม่ยุ่งกับมึงหรอก ไร้สาระมาก มึงแค่ไส้เดือน กิ้งกือ แล้วก็หยุดยุติตรงนั้น ส่วนมันจะมองว่าเราเป็นไอ้แหยหรืออะไรก็ช่างหัวมัน แล้วผมคิดว่ามันต้องใช้ความกล้ามากกว่ากับการที่จะยอมให้คนว่าเราแหย มันง่ายจะตายที่จะเปิดประตูรถไปต่อยกันบนถนน แต่สิ่งที่ยากคือทำยังไงที่จะไม่สนใจมัน

“ผมเคยเจอ บีบแตรใส่ผม ครั้งแรกเลย ตอนหนุ่มๆ แถวราชดำเนิน ผมก็ลงไปกระชากประตูมัน กูผิดมั้ยเนี่ย กูผิดหรือเปล่า มึงบีบแตรไล่กูทำไมวะ เขาก็เฉยๆ โชคดีที่เขาไม่ได้ยิง (หัวเราะ) แล้วหลายปีผ่านมาก็เจอเหตุการณ์แบบนี้อีก แต่ผมช่างแม่ง ไม่สนใจแล้ว

“แต่ผมไม่เคยเป็นฝ่ายที่ถูกเดินเข้ามาหา เพราะว่าบนถนนผมจะเป็นคนที่เคารพกฎจราจรมากๆ เพราะผมถือว่าแค่กฎจราจรมันเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดแล้ว ถ้ามึงยังทำไม่ได้ อย่าไปทำอะไรเลยชีวิตนี้ แล้วมันเป็นเรื่องที่เราต้องเคารพผู้อื่น ไม่ใช่แค่เคารพกฎจราจร ต้องเคารพเพื่อนผู้ใช้ถนนด้วยกัน ผมจะถือมากๆ เรื่องนี้ ถ้าผมไปนั่งรถคนที่เขาไม่เคารพกฎ ผมจะโคตรอึดอัดเลย เร็วเกินไป ขับไม่มีน้ำใจ ถ้ารู้ไอ้นี่ขับรถแบบนี้ ทีหลังผมไม่ไปด้วยแล้ว”

เรื่องนี้เราเห็นด้วยเต็มประตู

ความเข้าใจ-การแข่งขัน

ถามถึงช่างภาพสัตว์ป่ารุ่นใหม่ๆ

“มีคนใหม่ๆ ครับ แต่เวทีที่มันจะแสดงออกมีไม่มาก หนังสือเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ นอกจากสารคดีแล้วก็แทบไม่เอาเลย”

ทำไมไม่จัดประกวดเพื่อสร้างเวทีให้แก่คนที่สนใจ ม.ล.ปริญญากร มีคำตอบชวนคิดว่า

“ถ้าถ่ายรูปเพื่อไปประกวด เขาไม่ใช่คนที่สนใจเรื่องธรรมชาติ เขาอาจจะไปหักกิ่งไม้ที่มันบัง ไม่สนใจเลยว่าถ้าถ่ายเสร็จแล้วนกจะตายหรือเปล่า ซึ่งมันเคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นจริง เพื่ออะไร ก็เพื่อนำภาพมาประกวด กรรมการก็ โอ้โห! ภาพนี้โคตรสวยเลย แสงได้หมด ไม่มีอะไรบัง ก็ให้ชนะไป ปรากฏว่านกตัวนั้นตายไปหรือเปล่า คือกรรมการเขาคงไม่ได้ไปดูหรอกว่ามันได้รูปนี้มาได้ยังไง ผมไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดีนะ แต่ถ้าเราเริ่มต้นด้วยความรู้สึกแบบนี้ ผมว่ามันไม่ได้ช่วย

“มันควรต้องเริ่มต้นด้วยความต้องการเข้าใจธรรมชาติ มากกว่าเริ่มต้นด้วยความต้องการแข่งขัน เพราะว่าเวลาแข่ง เราจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่างเพื่อให้ชนะ คนที่ตั้งใจทำดี แต่ว่าถ้าแข่ง 10 คนแล้วบังเอิญมีคนหนึ่งที่กะเอาชนะโดยไม่คำนึงถึงอะไรเลย มันก็แย่แล้ว จะประกวดก็ได้ แต่ไม่ต้องไปหวังชนะมันมากนะ ถ่ายตามความเป็นจริง แพ้ก็ช่างหัวมัน”

ป่า-นกยูง-พระเจ้า

คุยเรื่องการเมืองมั้ย?

“การเมือง ผมรู้สึกว่า...บอกไม่ถูก คือผมรู้สึกว่าสัตว์แต่ละตัวมันมีหน้าที่ต่างกัน ผมไม่ถนัดเรื่องแบบนี้นะ ผมก็ทำเรื่องที่ผมถนัดดีกว่า ถ้าพูดก็อาจจะพูดไปในมุมที่รู้อย่างผิวเผิน จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ คือผมมีหน้าที่ทำอย่างที่ผมทำ บอกว่าสัตว์ป่าเป็นยังไง ทุกคนก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป

“แต่ไม่ได้เบื่อเรื่องในเมืองครับ เพราะผลมันเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าคนขนาดท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่ามีแต่นกยูงโง่ๆ ผมจะไม่โกรธได้ยังไง ก็กูอยู่ของกูดีๆ อุตส่าห์ไม่ไปยุ่งด้วยแล้ว ยังมายุ่งกับกูอีก ที่โกรธนี่คือในความหมายแบบผิวเผิน แต่ความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้นก็คือว่า เฮ้ย! ช่างไม่รู้อะไรเลยเหรอวะ นั่นคือประเด็น แก่งเสือเต้นผมก็เคยไป แต่ไม่เคยถ่าย อย่างที่ผมบอกว่านกยูงเป็นสัตว์ที่ถ่ายยากที่สุด เพราะมันฉลาดมาก มันไม่โง่ (หัวเราะ)”

ในเรื่องทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ม.ล.ปริญญากร บอกว่าบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องเถียงกันให้เสียเวลาอีก เพราะมันควรต้องทำมานานแล้ว

“เรื่องป่าชุมชน มันเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่จำเป็นต้องมานั่งเถียงกัน เหมือนกับมันเป็นเรื่องที่ต้องทำ คุณต้องเข้าใจปัญหาจริงๆ ว่าคนที่อยู่กับป่า เขาจำเป็นต้องอยู่กับป่าจริงๆ ป่ามันเป็นสวนหลังบ้าน ถ้าคุณขยายรั้วออกมาแล้วบอกว่าให้คนเข้าไปไม่ได้ พอเข้าไปก็ผิด แต่คุณถอยรั้วออกไปหน่อยได้มั้ย ให้เขาได้เข้าไปเก็บเห็ด เก็บของป่า ก่อนที่จะถึงรั้วจริงๆ ปัญหาการกระทบกระทั่งกันก็ไม่เกิด คุณจะปล่อยให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าขี่มอเตอร์ไซค์เข้าหมู่บ้านแล้วถูกตีกะบาลเหรอ กลายเป็นการปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ โดยที่นโยบายหลักบอกว่าเข้ามาไม่ได้ แล้วฤดูเห็ด คุณจะปล่อยให้เห็ดโคนมันเน่าตายอยู่ในป่าเหรอ คุณต้องปล่อยให้เขาเข้ามาเก็บสิ เรื่องแบบนี้ไม่เห็นจำเป็นต้องมานั่งเถียงกันเลย มันน่าจะรู้ว่าต้องทำแบบนี้อยู่แล้ว

“เหมือนเรื่องสร้างเขื่อน อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำไมต้องบอกว่าต้องสร้าง ในเมื่อมันสร้างไม่ได้ ผมถึงบอกว่าไอ้ที่โง่น่ะไม่ใช่นกยูง (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องที่ควรเลิกพูดได้แล้ว ไม่ควรมีอีกแล้ว ถ้าเรายังสร้างเขื่อนอีกร้อยเขื่อน แต่เราไม่ได้รู้สึกว่าแค่ห้างบนถนนสุขุมวิทแม่งยังมีห้างที่ใช้ไฟมากกว่าลาวทั้งประเทศ สร้างเท่าไหร่ ยังไงก็ไม่มีทางพอ

“ถ้าพูดให้เห็นชัด เหมือนพระเจ้าสร้างโลกนี้ขึ้นมา แล้วแบ่งเป็นส่วนๆ ให้อยู่ร่วมกัน ทั้งคน สัตว์ พืช แต่บังเอิญคนคิดว่าแม่งจะเป็นเจ้าของทั้งหมด จะเอาซะทั้งหมดเลย”

เสียงของเก้ง

ทำงานมา 2 ทศวรรษ เนื้องานที่ออกมาในรูปภาพถ่ายและตัวหนังสือ เราเชื่อว่าอย่างน้อยย่อมต้องสร้างแรงกระเพื่อมอยู่บ้าง ขณะที่บางคนก็ยึดตัวเขาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน

“ถ้าในแง่ของคนที่มา แค่สักสองคนแล้วเขาเข้าใจสิ่งที่เราเขียน ดูรูปของเรา มันก็คุ้มแล้วล่ะ ซึ่งสำหรับคนที่อ่าน ที่ดูรูปของเรา เขาคงคิดแบบนี้อยู่แล้ว เขาไม่เคยคิดจะไปยิงเก้งเพื่อมากินอยู่แล้ว ผมก็คิดว่าผมไม่ได้เปลี่ยนใคร เพียงแต่ผมเพิ่มความมั่นใจให้เขามากขึ้นในการที่เขาเลือกที่จะเชื่อแบบนี้มากกว่า เพราะเขาต้องคิด ต้องรู้สึกแบบนี้อยู่แล้ว ส่วนคนที่มีทัศนะอีกแบบหนึ่ง เขาก็ไม่ได้สนใจที่จะเปลี่ยนอะไรหรอก เรื่องแบบนี้เกี่ยวอะไรกับกูล่ะ กลับบ้านก็ยังเปิดไฟปุ๊บ เปิดน้ำง่ายๆ แต่ถ้าวันหนึ่งกลับไปเปิดสวิตช์แล้วมันไม่มีไฟ น้ำก็ไม่มี เราจะรู้สึกแล้วว่ามันเดือดร้อน

“แต่การสื่อสารในระดับที่ควรจะเป็นนโยบายของประเทศ ตรงนี้ไม่ใช่มีผมคนเดียวนะ มีคนจำนวนมากที่ทำ ที่พยายามบอก แต่มันไม่ไปถึงไหน

ขณะที่เรานั่งคุยกันอยู่ มีครอบครัวหนึ่งเดินเข้ามาชมรูปของเขา ลูกชายตัวน้อยที่เดินเคียงข้างคุณพ่อมีชื่อว่า ‘เชน’ เป็นชื่อเล่นเดียวกันกับเขา

“มีครอบครัวหนึ่งที่ตั้งชื่อลูกเหมือนผม และพยายามปลูกฝังลูกเรื่องนี้ มันเป็นสิ่งที่เงินก็ซื้อไม่ได้นะ

ถ่ายรูปมานาน คิดว่าคุณเหมือนสัตว์ตัวไหน?

“คงเป็นเก้งมั้ง เพราะมันเป็นสัตว์ที่เตือนภัยสัตว์อื่นๆ ถ้าปลอดภัย เก้งถึงจะลงมาในโป่ง ฝรั่งเขาเรียกเก้งว่า Barking Deer เวลามันร้องจะเหมือนหมาเห่ามาก ผมเลยคิดว่าผมอาจทำหน้าที่เหมือนเก้งที่ออกมาบอก มีภาพ มีเรื่องมาบอกคน แต่บางคนฟังแทนที่จะฟังเป็นเสียงเก้ง แต่ดันฟังเป็นเสียงหมา (หัวเราะ)”

.............

วันนี้เขากำลังกลับเข้าป่าห้วยขาแข้งอีกครั้ง ถามว่าเมื่อไหร่จะกลับออกจากป่าอีก เขาตอบว่า

“กรกฎาคมปีหน้าเจอกัน อาจจะมีภาพหรือหนังสือที่เกี่ยวกับนกเงือกคอแดง”

บางคนบอกว่าเขาเหมือน ‘เสือ’ แต่ท่วงทำนองชีวิตเหมือนมี ‘ปีกอิสระ’

‘เสือมีปีก’ ...เราแอบอิจฉาอยู่ลึกๆ ในใจ

***************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ-ตะวัน พงษ์แพทย์









กำลังโหลดความคิดเห็น