ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. - "วิสุทธิ์ ใบไม้" ระบุมีคนอย่าง "ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ" อีก 10 คน การอนุรักษ์ธรรมชาติในไทยจะดีขึ้น ระบุเสียดายและเห็นใจคนทำงานธรรมชาติวิทยา ที่ทำงานหนัก แต่ได้รับดูแลน้อย โอกาสเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นก็น้อย
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ส่งข่าวถึงผู้จัดการวิทยาศาสตร์ เผยความรู้สึกของคนในแวดวงธรรมชาติวิทยาไทย ถึงการจากไปของ ศ.ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งเสียชีวิต เมื่อวันที่ 12 ก.ย.51 ที่ผ่านมา
ศ.ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้
ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย( BRT)
อาจารย์จารุจินต์เป็นผู้ที่ทำงานด้วยจิตวิญญาณ ทุ่มเท รู้ลึก รู้กว้าง เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากกับการสูญเสียบุคลากรที่สำคัญเช่นนี้ เพราะหมายถึงคนทำงานด้านธรรมชาติมีแต่จะร่อยหรอไปทุกที ประเทศไทยสร้างคนทางด้านนี้น้อยหรือแทบจะไม่มีเลย คนที่ทำงานทางด้านธรรมชาติวิทยานี้น่าเห็นใจมาก เพราะทำงานหนักแต่ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร คนทำงานทางด้านนี้โอกาสน้อยที่จะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีเด่น แต่ผลงานที่สร้างไว้มีความสำคัญต่อประเทศชาติมาก ความทุ่มเทที่ผ่านมาควรได้รับการเชิดชู สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือ เมื่อมีคนที่สนใจด้านนี้แล้ว เราจะสร้างคนกลุ่มนี้ให้ทำงานด้วยจิตวิญญาณเช่นเดียวกับอาจารย์จารุจินต์ได้อย่างไร เพราะหากประเทศไทยมีคนอย่างอาจารย์จารุจินต์สัก 10 คน คงจะช่วยให้การอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทยดียิ่งขึ้น
นายธัญญา จั่นอาจ
ผู้อำนวยการกองพิพิธภัณฑ์อ้างอิง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
การสูญเสีย ดร.จารุจินต์ ในครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าต่อวงการวิทยาศาสตร์ยิ่งนัก เพราะอาจารย์เป็นผู้ที่มีความสนใจในเรื่องธรรมชาติวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยมาก มีความตั้งใจที่แน่วแน่ทั้งในส่วนของตนเอง และพร้อมสนับสนุนผู้ที่สนใจ ให้ร่วมกันค้นหาองค์ความรู้ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด การดำเนินงานที่ผ่านมาอาจารย์ได้พยายามเข้าไปในพื้นที่ เข้าป่า เพื่อให้ได้เห็น ได้จับ ได้สัมผัส บันทึกภาพ และบันทึกเสียง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งรายละเอียดของสิ่งต่างๆเหล่านี้ รวมทั้งยังให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาชาวบ้าน บันทึกความรู้และมุมมองของชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับพืชหรือสัตว์แต่ละชนิด อาทิ ชื่อ ความหมาย และการใช้ประโยชน์
แม้ด้วยอายุและสภาพของร่างกายของอาจารย์ที่ไม่พร้อมจะเข้าสำรวจพื้นที่ในบางครั้ง แต่อาจารย์ก็พร้อมเป็นกองหนุน ถ้าทีมงานขึ้นไปที่ยอดเขา อาจารย์ก็พร้อมที่จะอยู่ที่ตีนเขาเพื่อเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำทุกเรื่องที่ทีมภาคสนามต้องการ เพราะอาจารย์อ่านหนังสือทุกเล่ม อ่านหนังสือมาก มีหนังสือมาก อาจารย์เป็นคนที่มีความจำแม่น เพราะฉะนั้นทุกเรื่องที่เคยผ่านตามาอาจารย์จะจำได้และอธิบายได้ เรียกได้ว่าเป็นสารานุกรมทางธรรมชาติเคลื่อนที่ เพราะอาจารย์เป็นที่พึ่งของทุกคน ทุกสำนักพิมพ์ได้เสมอ ใครก็ตามที่มีปัญหาทางธรรมชาติทั้งพืชหรือสัตว์ในประเทศไทยอาจารย์ยินดีช่วยเหลือและให้คำแนะนำเป็นอย่างดีเสมอมา
การสูญเสียอาจารย์จารุจินต์ นับเป็นการสูญเสียนักธรรมชาติวิทยาที่ยิ่งใหญ่ ที่ผ่านมาคนในวงการธรรมชาติวิทยาทำงานเพียงลำพังมาโดยตลอด จึงหวังว่าหากภาครัฐและผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพพร้อมให้การสนับสนุนมากขึ้น อาจารย์คงดีใจมากและจากไปอย่างสงบ สำหรับในส่วนของงานที่อาจารย์ได้ทำค้างไว้ ทีมงานจะประสานงานกับครอบครัวเพื่อนำงานมาดำเนินการสานต่อให้สำเร็จลุล่วง อันจะเป็นองค์ความรู้ทางด้านธรรมชาติวิทยาให้แก่คนรุ่นหลังสืบต่อไป
รศ.ดร. สมโภชน์ ศรีโกสามาตร
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.
ดร.จารุจินต์ เป็นนักธรรมชาติวิทยาซึ่งปัจจุบันหาได้ยาก เพราะว่าอาจารย์รู้ในหลายเรื่อง คือไม่ใช่คนที่รู้ลึกเพียงเรื่องเดียวแต่รู้กว้างไปหมด อาจารย์เป็นรอยต่อของนักธรรมชาติวิทยาสมัยเก่าและนักธรรมชาติวิทยาสมัยใหม่ ท่านสามารถถ่ายทอดจากยุคคุณหมอบุญส่ง (นพ.บุญส่ง เลขะกุล) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบหนึ่งมาสู่ยุคสมัยใหม่ได้ดี อีกทั้งช่วงหลังนี้วิทยาศาสตร์ทางธรรมชาติวิทยาจะแบ่งออกเป็นสาขาย่อยๆ มาก มีผู้เชี่ยวชาญเยอะไปหมด
ดังนั้นการที่จะประสานความรู้หลายๆ เรื่องไว้ในตัวคนคนหนึ่งเพื่อถ่ายทอดให้กับสาธารณชนจะหาได้ยากมาก แต่อาจารย์เป็นผู้ที่สามารถดึงความรู้สมัยใหม่ออกสู่สาธารณะได้อย่างดี ดังจะเห็นได้จากผลงานที่ผ่านมา ที่สำคัญอาจารย์ยังเป็นนักธรรมชาติวิทยาที่มีบุคลิกในการสอนที่พิเศษ คือ พูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องสนุกได้ และในเรื่องสนุกก็แฝงไปด้วยองค์ความรู้มากมาย ซึ่งเป็นจุดที่ดึงดูดให้คนมาสนใจนักธรรมชาติวิทยามากขึ้น และเป็นการต้นแบบในการถ่ายทอดบุคลิกของนักธรรมชาติวิทยาที่สามารถคุยอะไรได้หลายอย่างแต่ก็มีความรู้ในแต่ละเรื่องที่ลึกซึ้งมาก
นางรังสิมา ตัณฑเลขา
ผู้จัดการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย( BRT)
ดร.จารุจินต์ เป็นผู้ที่มีบทบาทยิ่งในการเปลี่ยนมุมมองของคนต่อสัตว์เลื้อยคลานเปลี่ยนไป เพราะสิ่งมีชีวิตในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานมักถูกมองว่าน่ารังเกียจเสมอ แต่อาจารย์คือคนที่เข้ามาศึกษาอย่างจริงจังและมองว่าสัตว์กลุ่มนี้มีชีวิตจิตใจ ทุกครั้งที่เชิญอาจารย์มาเป็นวิทยากรบรรยาย อาจารย์จะนำเสนอมุมมองต่อสัตว์กลุ่มนี้ได้อย่างน่าสนใจ สนุก แต่ได้ความรู้มาก อาจารย์ได้ทิ้งคำพูดติดตลกสุดท้ายไว้ในงานแถลงข่าว "การค้นพบกิ้งกือสีชมพูครั้งแรกของโลก" ว่า "ในวงการกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานนี้ผมเป็นชายใหญ่ ส่วนอาจารย์ กำธร ธีรคุปต์ เป็นชายกลางและอาจารย์สมศักดิ์ ปัญหา เป็นชายเล็ก" เป็นคำกล่าวที่ต้องยอมรับอย่างปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีนักวิชาการคนใดที่มีรอบรู้เรื่องสัตว์เลื้อยคลานเทียบเท่าดร.จารุจินต์เลย
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การจากไปของ ดร.จารุจินต์ เป็นเรื่องเศร้า ซึ่งคนต่างชาติในเวลานี้ เช่น ในประเทศ อเมริกา ญี่ปุ่น ก็เสียใจมากเช่นกัน ดร.จารุจินต์ เป็นต้นแบบของนักธรรมชาติวิทยาที่ดีมาก เพราะงานธรรมชาติต้องเน้นทำงานที่อยู่กลางสาม เรียนรู้มาก อ่านหนังสือมาก รู้รอบด้าน อีกทั้งเป็นคนเอาจริงเอาจังในการทำงาน มองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ที่สำคัญอาจารย์สอนเสมอว่านักธรรมชาติวิทยาต้องเป็นนักสื่อสารที่ดีด้วย ต้องสื่อสารให้คนอื่นเห็นว่าธรรมชาติเป็นอย่างไร ต้องทำให้คนเข้าใจ สัมผัสได้ เข้าถึง ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้ฝากผลงานไว้มาก เพราะหวังว่าจะถ่ายทอดเรื่องราวในธรรมชาติให้กับคนปัจจุบันและคนรุ่นหลัง ซึ่งขณะนี้มีหนังสืออีกหลายเล่มที่อาจารย์ยังทำไม่เสร็จ ทั้งนี้แม้นักธรรมชาติวิทยาในเมืองไทยจะมีอยู่น้อยนิด แต่ก็ต้องช่วยกันทำให้สำเร็จ เพื่อจะเป็นสื่อกลางในการสานต่อปณิธานของอาจารย์ที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ
ในส่วนของประวัติ ดร.จารุจินต์นั้น เขาเป็นผู้ที่ชอบสัตว์มากมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะแมลง และมักนำกิ้งกือ จิ้งหรีด ใส่กระเป๋าเข้าบ้านเป็นประจำ เมื่อเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ได้เลือกเรียนกีฏวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ทางด้านแมลง ที่เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเรียนต่อปริญญาโททางด้านอนุกรมวิธาน ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ช่วงที่เรียนปริญญาโทได้ช่วยงาน นพ.บุญส่ง เลขะกุล นักบุกเบิกงานอนุรักษ์สัตว์ป่าของไทย และได้ร่วมเขียนหนังสือคู่มือผีเสื้อประเทศไทย และหนังสือเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จากนั้นได้ทำงานที่ศูนย์รวบรวมวัสดุอุเทศก์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มีหน้าที่ในการสำรวจและศึกษาวิจัยสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ในประเทศไทยและจัดทำอนุกรมวิธาน โดยมีความตั้งใจที่จะนำตัวอย่างสัตว์เหล่านั้นไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ตามประสงค์ของหมอบุญส่ง
///////////////////////////////////////////////
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 ,1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : thaismc@nstda.or.th