"ศ.เฮาเซน" โนเบลแพทย์ปีล่าสุด เผยผู้ชายก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสมะเร็งปากมดลูก เพราะช่วยป้องกันหูดที่อวัยวะเพศ และมะเร็งทวารหนักได้ แต่ไม่แนะให้ประชาชนฉีดแบบปูพรม เพราะราคายังสูงอยู่มาก พร้อมชักนำนักวิจัย เร่งพัฒนาวัคซีนสูตรใหม่ เพื่อให้ราคาถูกลง ประชาชนจะได้เข้าถึงมากขึ้น เผยจีน อินเดีย เริ่มแล้ว แนะนักวิจัยรุ่นใหม่ ตั้งใจ อดทน พยายาม โอกาสสำเร็จรออยู่ข้างหน้า
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.51 ที่ผ่านมา ศ.ดร.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซน นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้ค้นพบว่าไวรัสที่ทำให้เกิดหูดในคน เป็นไวรัสสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก และพัฒนาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกสำเร็จ จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ประจำปีนี้ ได้มาบรรยายพิเศษในงานไบโอเอเชีย 2008 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สัมภาษณ์อย่างใกล้ชิด โดยมี ศ.ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ประธานกรรมการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของไทย (ทีเซลส์) ร่วมให้ข้อมูล
ศ.เฮาเซน เริ่มสนใจและสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของไวรัส กับการเกิดมะเร็งบางชนิดมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน เมื่อศึกษาวิจัยเพิ่มมากขึ้นจนพบเบาะแสบางอย่างว่าชุมชนไหนที่เป็นมะเร็งปากมดลูก จะปรากฏภูมิคุ้มกันบางอย่าง กระทั่งพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าไวรัสแพ็บพิลโลม่า หรือเอชพีวี (human papillomavirus: HPV) ที่ทำให้เกิดหูดในคน เป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก เพราะเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุศาสตร์ในเซลล์จนทำให้พัฒนาไปเป็นมะเร็ง โดยพบว่าเป็นเชื้อเอพีวี 16 และเอชพีวี 18 และพบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อดังกล่าวสูงในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก และย้ำชัดอีกครั้งเมื่อพบชิ้นส่วนของไวรัสทั้งสองในเซลล์มะเร็งด้วย
การค้นพบดังกล่าวทำให้ ศ.เฮาเซน เกิดแนวคิดว่าน่าจะสร้างวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสทั้งสองได้เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้ออื่นๆ และในที่สุดเขาก็สามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวีสำเร็จ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง ซึ่งน่าจะช่วยลดอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกได้
ทว่า ธรรมชาติของการเกิดมะเร็งอาจจะต้องใช้เวลานานนับ 20-30 ปี ทำให้ยังไม่รู้ว่าวัคซีนนี้จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก่อนที่จะมีการพัฒนาไปเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยจะมีแผลสดที่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีบริเวณปากมดลูกหรืออวัยวะเพศชาย และสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ทางเพศสัมพันธ์
จากการศึกษาติดตามผลในผู้ที่ได้รับวัคซีนกว่า 10,000 คน ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะเกิดแผลสดในบริเวณดังกล่าวน้อยกว่า แสดงว่าวัคซีนนี้สามารถต้านการติดเชื้อได้ดี จึงน่าจะลดโอกาสการเกิดมะเร็งได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องติดตามผลกันต่อไปอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ราคาที่ค่อนข้างแพงของวัคซีนเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ลดโอกาสการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนส่วนใหญ่ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกทั้งสิ้น 3 เข็ม ในสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายราว 360 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 12,000 บาท) ขณะที่ในยุโรปประมาณกว่า 400 ยูโร (ราว 18,000 บาท) ทั้งที่มีอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกเกิดกับประชาชนในประเทศเขตร้อนมากกว่ารวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกกว่า 80% อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
ศ.เฮาเซนเผยความรู้สึกด้วยว่าเขารู้สึกแย่ยาหรือวัคซีนมีราคาแพงเพราะการกำหนดราคาของบริษัทผู้ผลิต เพราะความจริงแล้วประชาชนทุกคนควรมีสิทธิ์เข้าถึงยาอย่างเท่าเทียมกันทุกคน ซึ่งสิ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้ก็คือการสร้างแรงกดดันเพื่อให้บริษัทยาลดราคายาและวัคซีนให้ถูกลงจนทุกคนเข้าถึงได้
อีกวิธีหนึ่งคือการคิดค้นและพัฒนาสูตรหรือวิธีการผลิตวัคซีนแบบใหม่ที่ไม่ละเมิดสิทธิบัตรเดิม ซึ่งเป็นความท้าทายอีกบทหนึ่งของนักวิจัย และขณะนี้ประเทศจีนและอินเดียก็กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเพื่อผลิตใช้เองแล้ว โดยที่อินเดียพร้อมแล้วสำหรับการผลิตเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในคนจำนวนมาก ส่วนประเทศไทยก็น่าจะทำได้เช่นกัน
ศ.เฮาเซน อธิบายว่า การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ควรฉีดให้กับประชาชนในวัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมด้วย เช่น ในเยอรมนีเริ่มฉีดให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนในสหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่ 9 ปี
อย่างไรก็ตาม ศ.เฮาเซน แนะนำด้วยว่าผู้ชายก็น่าจะฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยเหมือนกัน ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ วัคซีนนี้สามารถช่วยป้องกันการเกิดหูดที่อวัยวะเพศชายได้, สามารถช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งทวารหนักได้ ซึ่งพบมากในเพศชาย และเกิดจากการลุกลามของหูดข้างต้น และสุดท้ายวัคซีนจะช่วยลดการติดเชื้อเอชพีวีและช่วยลดแผลสดที่อวัยวะเพศชายได้ จึงลดโอกาสในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นเช่นกัน และช่วยตัดวงจรการเกิดมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิงและมะเร็งทวารหนักในเพศชายได้
ทว่าในเวลานี้ ศ.เฮาเซน ก็ยังไม่แนะนำการฉีดวัคซีนแบบปูพรม เนื่องจากขณะนี้วัคซีนยังมีราคาสูงมาก ฉะนั้นการกำหนดว่าจะให้ประชาชนต้องฉีดวัคซีนนี้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและความจำเป็นของแต่ละประเทศ และหากรัฐเป็นผู้จัดหา ก็น่าจะช่วยให้ประชาชนได้รับวัคซีนราคาถูกลงได้บ้าง
ในตอนท้าย ศ.เฮาเซน เผยถึงการได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในปีนี้ว่ารู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเขาเชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะการพิสูจน์สาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ได้ จนกระทั่งสร้างวัคซีนที่ช่วยหยุดยั้งไวรัสต้นตอของโรคได้ พร้อมทั้งแนะแนวทางให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังให้มีความตั้งใจและเพียรพยายามอย่างสูงกับงานวิจัยที่ทำ เลือกทำงานวิจัยที่เหมาะสมและน่าสนใจ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
ที่สำคัญต้องฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ ซึ่งในตอนแรกเริ่ม ศ.เฮาเซน ก็ถูกคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเขาไม่น่าจะมีทางทำงานวิจัยจนสำเร็จ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เขาก้าวข้ามปัญหาทุกอย่างมาได้
ก่อนหน้านี้ ศ.เฮาเซน เคยได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจากผลงานเรื่องเดียวกันมาแล้วเมื่อปี 2548 นอกจากนี้เขายังสนใจศึกษาเกี่ยวกับพันธุกรรมของมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งผิวหนัง และลูคิเมีย ปัจจุบัน ศ.เฮาเซน ยังเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ให้กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) อีกด้วย