xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นทำต้นไม้จีเอ็มโอช่วยดูดซับก๊าซพิษในบ้าน แก้โรคมลภาวะในอาคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้นอะราบิดอพซิส (ภาพจาก en.wikipedia.org)
นักวิทย์แดนปลาดิบ หวังใช้จีเอ็มโอขจัดโรคปวดหัว ที่เกิดจากมลพิษในอาคารบ้านเรือน นำยีนแบคทีเรียมาตัดต่อใส่ในพืช ผลทดสอบพบพืชพันธุ์ใหม่สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะที่อากาศเป็นพิษด้วยฟอร์มาลดีไฮด์ และยังทำให้ก๊าซพิษลดลงได้ถึง 1 ใน 10

นักวิจัยมหาวิทยาลัยคินกิ (Kinki University) และมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ประเทศญี่ปุ่น ทดลองตัดต่อยีนจากแบคทีเรียใส่ในต้นไม้ ให้สามารถดูดซับก๊าซพิษในอาคารบ้านเรือนได้ โดยอนาคตหวังนำไปใช้กับไม้ประดับในอาคาร บ้านเรือน หรือภายในห้องนอน เพื่อลดปัญหาผู้อยู่อาศัยป่วยเป็นโรคมลภาวะในบ้าน

โรคมลภาวะในอาคารบ้านเรือน (sick-house syndrome) เกิดจากฝุ่นละออง ควันบุหรี่ สารเคมี และก๊าซหรือสารระเหยต่างๆ ที่มีอยู่ภายในบ้านหรือในอาคารทั่วไป โดยเฉพาะฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) สารเคมีกลิ่นฉุนรุนแรงที่ใช้กันทั่วไปในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ในอาคาร เครื่องเรือน และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคที่พบมากที่สุด เมื่อสูดดมเข้าไปจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน หรือรู้สึกอ่อนเพลีย

"เราหวังว่าจะให้ต้นไม้เหล่านี้ดูดซับสารพิษในอาคารบ้านเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับที่ต้นไม้ดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เข้าไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง" คาสึระ อิซุย (Katsura Izui) ศาสตราจารย์ด้านอณูชีววิทยาทางสรีรวิทยาของพืช มหาวิทยาลัยคินกิกล่าว

เอเอฟพีรายงานว่า นักวิจัยทดลองดัดแปลงพันธุกรรมต้นยาสูบ และอะราบิดอพซิส (Arabidopsis) โดยใส่ยีน 2 ยีน จากแบคทีเรียในกลุ่มเมทิโลทรอฟ (methylotrophs) เพิ่มเข้าไปในต้นไม้ทั้ง 2 ชนิด ซึ่งแบคทีเรียดังกล่าวเป็นชนิดที่ต้องใช้ฟอร์มาลดีไฮด์เพื่อช่วยในการเจริญเติบโต และโดยปรกติแล้วต้นไม้จะดูดซับฟอร์มาลดีไฮด์ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณคาร์บอนได้ออกไซด์ที่ต้นไม้ดูดซับเข้าไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง

"แต่จากการวิจัยเราพบว่า ต้นอะราบิดอพซิสดัดแปลงพันธุกรรมอายุ 4 สัปดาห์ ที่เจริญรอดอยู่ในภาชนะเพาะเลี้ยงที่หนาแน่นไปด้วยก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ในระดับที่เป็นพิษ สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ลงได้ถึง 1 ใน 10 ส่วน แต่หากเป็นอะราบิดอพซิสสายพันธุ์ปรกติจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมแบบนี้อย่างแน่นอน ซึ่งในการทดลองกับต้นยาสูบดัดแปลงพันธุกรรมก็ให้ผลเช่นเดียวกัน" อิซุย เผยผลการวิจัย

อย่างไรก็ดี อิซุยยังตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่าการที่ปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ในบรรยากาศภายในภาชนะเพาะเลี้ยงพืชดังกล่าวลดลงไปมาก อาจถูกดูดซับไว้ในวุ้นที่ใช้เป็นวัสดุแทนดินในการเพาะเลี้ยงต้นไม้ด้วยก็เป็นได้ เนื่องจากฟอร์มาลดีไฮด์เป็นสารที่ละลายน้ำได้ดี

ทั้งนี้ ทีมวิจัยจะศึกษาต่อไปเพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และอาจเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะมีการนำวิธีการนี้ไปใช้ในพืชขนาดเล็กเพื่อดูดซับก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์หรือก๊าซพิษอื่นๆ ภายในอาคารบ้านเรือน ซึ่งจะช่วยบำบัดโรคมลภาวะในบ้านได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น