xs
xsm
sm
md
lg

หมากกับมะเร็งปาก (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

 ผลหมาก และลูกหมาก
เมื่อ 15 ปีก่อน แพทย์ได้พบหลักฐานว่า การบริโภคหมากมากจะทำให้คนกินเป็นมะเร็งปาก แม้ปัจจุบันคนนิยมกินหมากจะตกต่ำในไทย และกัมพูชา แต่ในอีกหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน และอินเดีย ความนิยมได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในบรรดาวัยรุ่น ความนิยมได้เพิ่มสูงมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จนรัฐบาลไต้หวันคาดว่า 10% ของประชากรไต้หวันเคี้ยวหมาก จากการที่เห็นโฆษณากินหมากตามถนนหนทาง และมีดาราที่แต่งตัวล่อแหลมมาโฆษณาช่วยให้คนนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์หมาก เช่น บุหรี่ เครื่องเทศและยาอมที่มีหมากปน เพื่อทำให้รสดีและทำให้คนกินติด

เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2547 ที่ประชุมของ American Association for Cancer Research ที่ Seattle นายแพทย์ Chiun Hsu แห่ง National Taiwan University Hospital ใน Taipei ได้รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2524 - 2543 ผู้ชายไต้หวันเป็นมะเร็งปากมากขึ้น และได้ตั้งข้อสังเกตว่าในขณะเดียวกัน การผลิตหมากก็ได้เพิ่มถึง 7 เท่าด้วย ตัวเลขนี้ทำให้ไต้หวันได้ตำแหน่งประเทศที่ผลิตหมากมากเป็นอันดับสองของโลก

สำหรับในอินเดีย องค์การอนามัยโลกก็ได้รายงานว่า มีการบริโภคและปริมาณการซื้อขายหมากก็เพิ่มเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับ 60 ปีก่อน โดยเด็กวัยรุ่น 1 ใน 3 เคี้ยวหมากเป็นประจำ ในปากีสถานโดยเฉพาะที่ Karachi ซึ่งมีคนกินหมากมาก และเป็นที่ที่มีคนเป็นมะเร็งปากมากประมาณครึ่งหนึ่งของคนที่เป็นมะเร็งปากทั่วประเทศ ทั้ง ๆ ที่จำนวนประชากรใน Karachi คิดเป็น 10% ของทั้งประเทศเท่านั้นเอง

ในความเป็นจริงแพทย์ได้เคยคิดว่า หมากมีส่วนในการทำให้คนเป็นมะเร็งปากมานานแล้ว เพราะหมากและบุหรี่มีสารก่อมะเร็งที่เหมือนกันหลายตัว นอกจากนี้คนกินหมากก็มักเป็นคนที่สูบบุหรี่จัดด้วย ในปี 2546 นักวิจัยแห่ง International Agency for Research on Cancer ได้รายงานการระบาดของมะเร็งในคนที่กินหมากว่าเป็นไปในทำนองเดียวกับคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ การสำรวจยังระบุอีกว่า การกินหมากจะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน และหืดด้วย โดยเฉพาะ 90% ของคนกินหมากมักเป็นมะเร็งปาก เพราะพิษหมากทำให้เยื่อเมือกในเซลล์ปากเปลี่ยนแปลง จนในที่สุดแก้มจะแข็งเหมือนหิน ทำให้คนป่วยอ้าปากไม่ได้

ในวารสาร Journal of the Canadian Dental Association ประจำเดือนเมษายน 2547 Sylvie Louise Avon แห่ง Laval University ได้รายงานการพบคนปากีสถานโดยเฉพาะผู้หญิงที่อาศัยอยู่ที่เมือง Toronto ป่วยเป็นมะเร็งปากมาก

ถึงกระนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่า องค์ประกอบใดในหมากที่ทำให้ร่างกายเป็นมะเร็งเพียงใด การวิจัยเมื่อ 10 ปีก่อนนี้ เคยพบว่า หมากมีทองแดงที่ความเข้มข้นสูง จึงได้สันนิษฐานว่า ทองแดงทำให้หมากเป็นอาหารพิษ

มาบัดนี้ Shu - Chun Lin แห่ง National Yang - Ming University ที่ Taipei ใน Taiwan กำลังศึกษา gene ของคนที่เคี้ยวหมากว่า มีส่วนช่วยให้คนเป็นมะเร็งปากได้หรือไม่ และได้รายงานการพบ gene ชื่อ heme oxygenase -1 (HO-1) ในคนที่เป็นมะเร็งปากว่ามีมากกว่าในคนที่ไม่เป็น และ Lin ได้ให้เหตุผลว่า HO-1 ตามปกติจะปกป้องเซลล์จากรังสีอัตราไวโอเลต และ gene นี้เวลากลายพันธุ์จะเพิ่มโอกาสให้คนเป็นโรคหัวใจ

เมื่อเหตุและผลกำลังชี้ชัด รัฐบาลในหลายประเทศจึงเริ่มรณรงค์ให้คนลดการกินหมาก การดำเนินการเช่นนี้มีผลทำให้สถิติการเป็นมะเร็งปากในอินเดียกำลังลดลง หลังจากที่ประชาชนเข้าใจว่าไม่ควรกินหมาก และเคี้ยวบุหรี่มาก จากนั้นรัฐหลายรัฐในอินเดียได้ออกกฎหมายห้ามผลิตสินค้าที่มีหมากเจือปน ไต้หวันเองก็มีการต่อต้านการกินหมากโดยการออกกฎหมายจำกัดการผลิตหมาก แต่การบริโภคส่วนบุคคลก็ยังเป็นเรื่องที่ห้ามยาก อีกทั้งมีต่างชาติหลายประเทศที่ส่งหมากเข้ามาขายอย่างไม่แพงด้วย การลดภัยอันตรายจากหมากจึงต้องใช้เวลา

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
สาวขายหมากข้างถนนในไต้หวัน
การตรวจปากของคนที่เคี้ยวหมากจนติด
กำลังโหลดความคิดเห็น